“ปอดยักษ์สีเขียว
บนเส้นทางสายธรรม
นำสู่สิ่งแวดล้อมยั่งยืน”
ด้วยความตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม ชุมชนและวัดปานุราชจึงร่วมกันจัดทำโครงการ “ปอดยักษ์สีเขียว บนเส้นทางสายธรรม นำสู่สิ่งแวดล้อมยั่งยืน (Green Giant Lung)” นี้ขึ้น โดยมีวิธีการดำเนินงานที่โดดเด่นภายใต้แนวคิด “พลังบวร ประสานการขับเคลื่อนไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน”เกิดชุมชนต้นแบบด้านสิ่งแวดล้อมหรือชุมชนคาร์บอนต่ำ ด้วยวิธีการดำเนินการดังนี้
๑)จัดกิจกรรมสร้างองค์ความรู้ฝึกอบรมแกนนำชุมชน ในเรื่องพันธุ์ไม้ การจัดการต้นไม้ การคำนวณค่าการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) จัดเวทีเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในหัวข้อ วัดปานุราชประชาสรรค์ : สิ่งแวดล้อมยั่งยืน
๒)จัดตั้งกลุ่ม “รักษ์ปานุราช” เป็นจิตอาสาชุมชน จำนวน ๓๔ คน ทำกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อม กระบวนการลดปริมาณขยะพลาสติก และศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย อำเภอเมืองกระบี่ เข้ามามีส่วนร่วมเป็นเครือข่าย นำนักศึกษาเข้าศึกษาดูงานและผลิตสื่อ “รักษ์ปานุราช” ประชาสัมพันธ์เผยแพร่ในช่อง youtube
๓)ยกระดับการเป็น “ศูนย์การเรียนรู้ป่าวัดปานุราช” โดยจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ เพจเฟสบุ๊ก “รักป่าปานุราช - วัดปานุราช - Krabi” จัดทำ QR Code พันธุ์ไม้ ๕๔ ชนิด เพื่อรองรับการประเมินตามโครงการเมืองต้นแบบสิ่งแวดล้อมยั่งยืนอาเซียน
ความสำเร็จจากโครงการ ได้ส่งผลให้ชุมชนกลายเป็นศูนย์การเรียนรู้ที่สำคัญของเทศบาลเมืองกระบี่ เป็นศูนย์กลางรวบรวมข้อมูลข่าวสารความรู้ด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งนำไปสู่การสร้างจิตสำนึกการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและการปฏิบัติธรรมสำหรับเด็ก เยาวชน ประชาชน สถานศึกษา หน่วยงานของรัฐ นักท่องเที่ยว ชุมชน และเป็นแหล่งเสริมสร้างโอกาสทางการเรียนรู้ การถ่ายทอดแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมเมืองกระบี่ในอนาคตอย่างยั่งยืน
ความสำเร็จสู่พฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลง
พฤติกรรมคนในชุมชนคือความสำเร็จของโครงการสะท้อนคุณธรรมต่าง ๆ อย่างเด่นชัด
๑. ความพอเพียงด้วยมีวัดปานุราช และท่านเจ้าอาวาส เป็นศูนย์รวมจิตใจและเป็นแบบอย่างแห่งความสมถะพอเพียง การเพิ่มพื้นที่สีเขียวอย่างยั่งยืน โดยความร่วมมือร่วมใจของชาวบ้านในชุมชนปานุราชทำให้ช่วยลดค่าใช้จ่ายจากงบประมาณจากหน่วยงานเทศบาลเมืองกระบี่ เช่น การดูแลรักษาต้นไม้ ชุมชนได้ช่วยกันนำใบไม้จากสวนป่ามาผลิตเป็นปุ๋ยหมักชีวภาพ เพื่อใช้ในการบำรุงรักษาต้นไม้ อันเป็นการดำรงชีพตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงอย่างแท้จริง
๒.จิตอาสาด้วยการนำมิติทางด้านศาสนา ความศรัทธา มาเป็นพลังในการขับเคลื่อน ทำให้ประชาชนในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ จนสามารถสร้างทัศนคติให้ชุมชนมีจิตอาสา มีความรัก ความสามัคคี ร่วมจิตร่วมใจขับเคลื่อนการเพิ่มพื้นที่สีเขียวเป็นผลสำเร็จ อีกทั้งยังเกิดความรู้สึกหวงแหนทรัพยากรธรรมชาติร่วมทั้งศาสนสถานของชุมชนให้คงอยู่คู่ชุมชนสืบไป
๓.กตัญญูรู้คุณการดำเนินโครงการ โดยการส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ เพื่อสร้างจิตสำนึกอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ทำให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นประชาชนในชุมชน เด็ก เยาวชนหรือผู้ใหญ่ สถานศึกษา นักท่องเที่ยว หน่วยงานของรัฐเกิดความรู้สึกรักและหวงแหนทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ บนพื้นฐานของการตระหนักรู้และสำนึกในคุณูปการที่ทรัพยากรเหล่านี้มีต่อชุมชน อันนำมาซึ่งประโยชน์ แก่ประชาชนและแผ่นดินโดยแท้จริง เป็นการแสดงความกตัญญูต่อผืนแผ่นดิน และสิ่งแวดล้อม
ก้าวต่ออย่างมีคุณธรรม
เทศบาลเมืองกระบี่มุ่งมั่นพยายามขยายผลภูมิปัญญา องค์ความรู้ของตนเองและพัฒนาคนรุ่นใหม่เพื่อที่จะสามารถถ่ายทอดเรื่องราวความสำเร็จไปยังองค์กรภายนอกโดย
๑.จัดหางบประมาณในการสนับสนุนพื้นที่สีเขียว และการอบรมเผยแพร่ให้ความรู้ สร้างจิตสำนึกแก่ประชาชน
๒.ทำข้อตกลงกับมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ของภาคใต้ ให้เข้ามามีส่วนร่วม มีบทบาทในการวิเคราะห์ วิจัย ให้ความรู้ การดำเนินการอนุรักษ์และพัฒนาสิ่งแวดล้อม
๓.สร้างบุคลากรแกนนำในด้านการพัฒนาสิ่งแวดล้อม ชุมชน โดยการพัฒนาองค์ความรู้ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านภาษา และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ด้วยการอบรมให้ความรู้อย่างต่อเนื่อง
ผู้ประสานงานติดต่อในพื้นที่ :
นางนฤมล โกมลวิวัฒน์
ผู้อำนวยการกองวิชาการและแผนงาน
เทศบาลเมืองกระบี่ จังหวัดกระบี่
โทรศัพท์ ๐๘๑ ๙๗๘ ๗๗๗๖
แสดงความคิดเห็น