“เป็นเมืองท่องเที่ยวเชิงสุขภาพชั้นนำ
และเมืองน่าอยู่ที่ประชาชนมีคุณภาพชีวิต”
จังหวัดระนองมีชายแดนทางทะเลติดต่อกับประเทศเมียนมาร์ตอนใต้ เป็นที่ตั้งของท่าเรือระนอง ร่วมทั้งเป็นเมืองท่องเที่ยวเชิงสุขภาพจึงส่งผลให้มีนักท่องเที่ยว และประชากรแฝงชาวเมียนมาร์ รวมทั้งประชากรในจังหวัดเองมีจำนวนที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้มีปริมาณขยะที่เพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย จนกลายเป็นปัญหาสำคัญที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน นายกเทศมนตรีเมืองระนองจึงได้มอบหมายให้กองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อมเทศบาลเมืองระนอง ทำการศึกษาและหาแนวทางในการแก้ไข ผ่าน โครงการเมืองน่าอยู่ บ้านน่ามอง ภายใต้ความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่เห็นความสำคัญของการจัดการขยะอย่างถูกวิธี ซึ่งได้ดำเนินโครงการอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ เดือนตุลาคม ๒๕๖๑ - กันยายน ๒๕๖๒
เส้นทางสู่ความสำเร็จของการมาเป็นพื้นที่ต้นแบบ
การบริหารจัดการโครงการมีจุดเด่นอยู่ที่การนำหลักธรรมาภิบาล และหลักคิด เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา ผ่านกลยุทธ์ ๔ ส แบบบูรณาการ ได้แก่ ๑)สร้างการรับรู้ ๒) สร้างข้อตกลงร่วมกัน ๓)สร้างโครงการและกิจกรรม ๔)เสริมแรงแข่งขัน ให้ประชาชนเกิดภูมิคุ้มกันทางความคิด ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และยังได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ดังนี้
๑.เทศบาลเมืองระนองทำประชาคมร่วมกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อรับฟังปัญหาและความต้องการของชุมชน โดยใช้หลักคิด ปัญหาที่อยากแก้ความดีที่อยากทำ
๒.ร่วมวิเคราะห์ ค้นหาสาเหตุของปัญหา เพื่อให้เทศบาลเมืองระนอง เป็นเมืองน่าอยู่ บ้านน่ามอง ซึ่งพบว่าสาเหตุปัญหาขยะเป็นปัญหาที่ควรแก้ไขอย่างเร่งด่วน
๓.นายกเทศมนตรีเมืองระนอง นำปัญหาและความต้องการของประชาชนที่ได้จากการทำประชาคม เรื่อง การจัดการขยะเข้าสู่ที่ประชุมของเทศบาลเมืองระนองเพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหาแบบยั่งยืน
๔.ทุกภาคส่วนร่วมกันหาวิธีการแก้ไขปัญหาขยะร่วมกัน เกิดแนวคิดเป็นวิธีการขับเคลื่อนการจัดการขยะแบบการทำศึกสงครามรอบด้านในครั้งเดียวพร้อมกัน โดยมีเป้าหมายเดียวกัน คือ เป็นเมืองท่องเที่ยวเชิงสุขภาพชั้นนำและเมืองน่าอยู่ ที่ประชาชนมีคุณภาพชีวิต
ผลลัพธ์แห่งความสำเร็จ
เมื่อขยะลดลงก็สามารถพัฒนาด้านอื่นๆได้มากขึ้น ปริมาณขยะในเขตเทศบาลเมืองระนองลดลงถึง ๒๓-๒๗ ตันต่อวัน ทำให้งบประมาณในการจัดการขยะภาพรวมทั้งหมดลดลงตามลำดับเหลือเพียง ๘-๑๐ ล้านบาทต่อปีเท่านั้น ซึ่งทำให้งบประมาณเหลือจ่ายดังกล่าว สามารถนำไปพัฒนาด้านอื่นที่จำเป็นได้ เช่น การศึกษา สุขภาพ และสิ่งแวดล้อม ได้อีกด้วย ส่งผลให้ประชาชนในเขตเทศบาลเมืองระนองมีสุขภาพที่ดี มีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยการดำเนินโครงการสื่อให้เห็นคุณธรรมของผู้คนในทุกๆ ภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
๑.พอเพียง การคัดแยกขยะรีไซเคิล นอกจากเป็นการลดปริมาณขยะในชุมชนและสร้างรายได้แล้ว ยังเป็นการลดค่าใช้จ่ายจากการนำขยะอินทรีย์ ไปทำเป็นปุ๋ยในการเกษตรทดแทนปุ๋ยเคมี หรือเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับขยะโดยการนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ เช่น มีการนำยางรถยนต์เก่ามาใช้ในการจัดทำเก้าอี้ และตกแต่งในโรงเรียน
๒.วินัย เป็นการสร้างจิตสำนึกที่ดีให้กับประชาชน เด็กและเยาวชน ในการจัดการขยะและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ให้เข้าใจผลกระทบที่เกิดจากการใช้ทรัพยากรร่วมกัน มีการตื่นตัวในเรื่องการรณรงค์รักษาความสะอาดในชุมชน และการคัดแยกขยะก่อนทิ้ง
๓. จิตอาสา ประชาชนในชุมชน รวมทั้งประชากรแฝงชาวเมียนมาร์ ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ เช่น มูลนิธิศุภนิมิต ช่วยกันเก็บขยะและรักษาความสะอาด ปรับปรุงสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัยทำให้ลดปัญหาโรคติดต่อ ทำให้เกิดความสามัคคีและความเข้มแข็งในชุมชน รวมถึงสถานศึกษาในสังกัดเทศบาลเมืองระนองก็ได้ส่งเสริมให้นักเรียนได้เรียนรู้การจัดการขยะที่ถูกวิธีผ่านกิจกรรมที่หลากหลาย
เป้าหมายต่อไป ของเทศบาลเมืองระนองคือการมุ่งเพิ่มความร่วมมือกับประชากรแฝงชาวเมียนมาร์ ซึ่งถือเป็นความท้าทายของเทศบาลเมืองระนอง เพราะมีจำนวนมากกว่าประชาชนในเขตพื้นที่บริการถึง ๔-๕ เท่าตัว
นอกจากนี้ยังจะเพิ่มการสื่อสารผ่านการบริหารจัดการจากต้นทาง เพื่อรณรงค์การคัดแยกขยะ การจัดเก็บที่ถูกวิธีสำหรับนักท่องเที่ยว ซึ่งทำด้านการท่องเที่ยวดีขึ้น
ผู้ประสานงานติดต่อพื้นที่ :
นางสาวปนัดดา กิตติวรารัตน์
หัวหน้าฝ่ายอำนวยการ เทศบาลเมืองระนอง
หมายเลขโทรศัพท์ ๐๗๗ ๘๑๑๔๒๒ ต่อ ๑๐๒
แสดงความคิดเห็น