ชุมชนคุณธรรมวัดสุทธานิวาส เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ไทญ้อมีลักษณะความสัมพันธ์เชิงเครือญาติสูง ยึดมั่นในขนบธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรมอย่างเหนียวแน่น โดยยึดหลักฮีตสิบสองคองสิบสี่ มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เช่น ประเพณีการลงแขกทำนา ประชากรส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกรรม มีการถ่ายทอดภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม เช่น การทอผ้าคราม การทอเสื่อกก งานใบตอง ฯลฯ แต่จากการพัฒนาตามกระแสโลกาภิวัตน์ ทำให้คนในชุมชนมีวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม การพึ่งตนเองในระยะยาวลดน้อยลง ส่งผลทำให้ผู้นำชุมชน ผู้นำทางศาสนาและหน่วยงาน ในพื้นที่ได้มีการทบทวน เพื่อให้คนในชุมชนยึดมั่นในวิถีวัฒนธรรมที่ดีงาม และสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน โดยนำพลังบวรและหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาขับเคลื่อนการดำเนินงานชุมชนคุณธรรม โดยคนในชุมชนได้ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมรับผลประโยชน์และพึ่งพาตนเอง
เส้นทางสู่ความสำเร็จของการมาเป็นชุมชนต้นแบบ
๑.การจัดทำแผนชุมชน มีขั้นตอน ดังนี้
๑.๑ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้และความเข้าใจให้กับคนในชุมชน รับฟังปัญหาและการแสดงความคิดเห็น จากกระบวนการมีส่วนร่วม ในการค้นหาสาเหตุของปัญหา และกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรม
๑.๒การกำหนดกิจกรรม แบ่งเป็น ๒ ส่วน คือ ๑)กิจกรรมระยะสั้น เช่น การฝึกอบรมอาชีพ การจัดกิจกรรมและต่อยอดมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม การจัดทำเส้นทางการท่องเที่ยวชุมชนโดยการบูรณาการแหล่งมรดกภูมิปัญญา ๒)กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเน้นการพึ่งพาตนเอง เช่น จัดตั้งศูนย์เรียนรู้เกษตรทฤษฎีใหม่ เศรษฐกิจพอเพียงแหล่งเรียนรู้ทางศิลปวัฒนธรรม ชุมชนคุณธรรมท่าวัดเหนือ
๑.๓กำหนดเป้าหมายการพัฒนา และการจัดหาแหล่งทรัพยากรสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง
๑.๔จัดทำแผนชุมชน โดยการบูรณาการการนำมิติทางวัฒนธรรมมาเข้าด้วย ทำให้เกิดแผนพัฒนาชุมชนทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมวัฒนธรรม สาธารณสุข ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
๒.การนำแผนไปสู่การปฏิบัติ
๒.๑การพัฒนาโครงการ/กิจกรรม จะเน้นการมีส่วนร่วม โดยอาศัยการจัดทำเวทีประชาคมระดมความคิดเห็น เพื่อหาข้อสรุปและลงมติ
๒.๒การมีส่วนร่วมในการดำเนินงาน จะเน้นกระบวนการ ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมรับผลประโยชน์และร่วมประเมินผลตามโครงการ/กิจกรรมที่จัดขึ้น
๒.๓ การขับเคลื่อนงาน กลุ่มกิจกรรมต่างๆ โดยการตั้งกฏิกา การฝึกอบรมเรื่องใหม่ๆ การนัดประชุมประจำเดือน การนำผลิตภัณฑ์ของชุมชนไปจำหน่ายและการฝึกอบรมการเป็นเจ้าบ้านที่ดี
๓.การสนับสนุนเชื่อมโยงจากภายนอก
ชุมชนได้รับการสนับสนุนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานในพื้นที่ หน่วยงานเอกชน สำนักงานพัฒนาชุมชน สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสกลนคร มหาวิทยาลัยราชภัฎสกลนคร ฯลฯ
สถาบันครอบครัว สถาบันการศึกษาและสถาบันศาสนายังสนับสนุนการอนุรักษ์วิถีวัฒนธรรมอันดีงามของชุมชน และร่วมปลูกฝังค่านิยมที่ดีงามและถ่ายทอดภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม เพื่อพัฒนาและยกระดับเยาวชนให้มีคุณภาพและเป็นคนดีของสังคมต่อไป
และผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาชุมชนอย่างมาก ได้แก่ กลุ่มผู้นำทางความคิด เจ้าอาวาสวัดสุทธานิวาส ผู้ใหญ่บ้าน คณะกรรมการหมู่บ้าน ปราชญ์ชาวบ้าน หัวหน้าคุ้มบ้าน กลุ่มต่างๆในชุมชน และกลุ่มเยาวชนเข้าร่วมพัฒนาด้วย
ผลลัพธ์แห่งความสำเร็จ
ชุมชนคุณธรรมวัดสุทธานิวาส เป็นหมู่บ้านที่มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ชุมชนอยู่ร่วมกันด้วยความสามัคคี ให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เคารพผู้อาวุโส มีการสร้างเครือข่ายกลุ่มอาชีพ เช่น กลุ่มทอผ้า กองทุนหมู่บ้าน กลุ่มธนาคารขยะและกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ร่วมรักษาขนบธรรมเนียมประเพณี ความเชื่อ อีกทั้งยังมีการฟื้นฟูประเพณีรวมถึงภูมิปัญญาท้องถิ่นต่างๆ ควบคู่กับการปรับใช้ให้เหมาะกับวิถีชีวิตรูปแบบใหม่
ก้าวต่ออย่างมีคุณธรรม
ยึดหลักการการมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนด้วยพลัง “บวร” ตลอดจนหน่วยงานราชการท้องที่ ท้องถิ่นและทุกๆภาคีเครือข่ายต่างๆที่คอยแนะนำสนับสนุน เน้นความเข้าใจ ความรัก ความสามัคคี ความเอื้ออารีของคนในชุมชนให้มีส่วนร่วมอย่างสม่ำเสมอ
ผู้ประสานงานติดต่อพื้นที่ : นายนิมิต ภักดีสวัสดิ์ มือถือ๐๘๖-๔๘๘๐๖๘๗ ชุมชนคุณธรรมวัดสุทธานิวาส ตำบลบ้านแป้นจังหวัดสกลนคร
แสดงความคิดเห็น