“หมากเบ็ง บายศรี
ดอกไม้สด งามจรดพวงมาลัย
หลวงพ่อใหญ่ นามไกลพระธาตุคู่
สืบสานวัฒนธรรมประเพณี”
หมากเบ็ง บายศรี ดอกไม้สด งามจรดพวงมาลัย: สิ่งเหล่านี้ชาวชุมชนทำเพื่อสักการะบูชาในวันพระทั้งที่บ้านและที่วัด เป็นสิ่งที่ใช้บูชาในพิธีกรรมและบูชาพระรัตนตรัยในวันอุโบสถหรือวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ถือเป็นเครื่องบูชาสร้างความศรัทธาในการสร้างความดี มีคุณธรรม โดยเฉพาะสองฝากฝั่งแม่น้ำโขง รวมทั้งการนำไปบูชาวิญญาณบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว
หลวงพ่อใหญ่ นามไกลพระธาตุคู่ เป็นพระประธานองค์ใหญ่ที่ประดิษฐานอยู่ในศาลาวิหารไม้ เป็นวิหารที่รวมสถาปัตยกรรม สามแผ่นดิน สองฝั่งโขง ที่สร้างขึ้นจากแรงศรัทธาของคนในชุมชนที่ช่วยกันสร้าง ทำให้เกิดความรัก ความสามัคคี ทำให้เกิดการมารวมกันฝึกปฏิบัติธรรม หรือเป็นแหล่งเรียนรู้ของนักเรียน นักศึกษา และผู้สนใจตลอดมา
สืบสานวัฒนธรรมประเพณี : โดยวัดเป็นศูนย์กลาง ชุมชนมีประเพณีวัฒนธรรมที่เป็นอัตลักษณ์ของตนเอง ทั้งวัฒนธรรมทางศาสนาและประเพณีตามหลักฮีต ๑๒ มีบุญอยู่ บุญประทายข้าว บุญข้าวจี่ บุญมาฆบูชา บุญผะเหวด (มหาชาต) บุญสงกรานต์ บุญห่มผ้าพระธาตุ บุญวิสาขบูชา บุญอัฐมีบูชา บุญบั้งไฟ บุญออกพรรษา ซึ่งในการดำเนินงานบุญต่าง ๆ เหล่านี้มีความพร้อมและสำเร็จได้ทุกครั้ง ทั้งในด้านกำลังคน กำลังทรัพย์(งบประมาณ) ล้วนมาจากจิตศรัทธาของชาวชุมชนที่มีต่อหลวงพ่อใหญ่ และพระภิกษุสงฆ์ในวัดทั้งสิ้น ก่อให้เกิดความพอเพียง มีวินัย สุจริต และจิตอาสา
จากจุดเด่นของชุมชนที่มีโบราณสถาน โบราณวัตถุ ที่เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ และมีประเพณีวัฒนธรรม ที่เชื่อมโยงให้เกิดเป็นชุมชนวิถีเด็กวัด แต่ก็ยังมีการแบ่งกลุ่มแบ่งพวก นินทาว่าร้ายกันก่อให้เกิดปัญหาในการประสานงานหรือทำงานร่วมกัน เจ้าอาวาสวัดและพระภิกษุสงฆ์ จึงร่วมกันคิดวิธีที่จะฟื้นฟูชุมชนให้กลับมามีความรักใคร่ กลมเกลียว มีน้ำจิตใจ เอื้ออาทร เหมือนดั่งเดิม
เส้นทางสู่ความสำเร็จของการมาเป็นชุมชนต้นแบบ
๑.เจ้าอาวาสและพระภิกษุสงฆ์วัดเทพพลประดิษฐาราม เป็นแกนนำในการพัฒนาคนและชุมชน โดยการจัดโครงการต่างๆ เพื่อคอยบ่มเพาะความดี ความมีสติ ความมีปัญญา การใช้ชีวิตอย่างไม่ประมาท เช่น โครงการปฏิบัติธรรมเจริญจิตภาวนา โครงการลานบุญลานธรรม โครงการหมู่บ้านศีล ๕ โครงการนอนวัดปฏิบัติธรรมในช่วงเข้าพรรษา โครงการให้ทุนการศึกษานักเรียน โครงการสนับสนุนอุปกรณ์การแพทย์และช่วยเหลือผู้ป่วยติดเตียง โครงการส่งเสริมความพอเพียง สร้างความอยู่ดีกินดีของชุมชน เป็นต้น
๒.การเป็นต้นแบบ แบบอย่างในการเป็นผู้ให้อย่างมีความสุข จากเจ้าอาวาสวัดและพระภิกษุสงฆ์
๓.การดำเนินการต่างๆ เป็นระบบ และมอบหมายงานตามความเหมาะสมและความสามารถของแต่ละคน ทำให้คนในชุมชนทำงานร่วมกันได้อย่างมีความสุข และประสบผลสำเร็จได้เป็นอย่างดี ก่อให้เกิดวัฒนธรรมแห่งการเรียนรู้ ทำให้ปัญหาความไม่ลงรอยกันของคนในชุมชนลดลง
ผลลัพธ์แห่งความสำเร็จ
คนในชุมชนวัดเทพพลประดิษฐาราม สามารถดำเนินชีวิตบนความถูกต้องดีงาม เกิดความอยู่ดีมีสุขโดยนำหลัก ๓ มิติ มาใช้ใน การดำรงชีวิต คือ
๑.นำหลักธรรมทางพุทธศาสนามาเป็นแนวทางในการประพฤติตน
๒.สามารถพัฒนาตนเองได้โดยใช้หลัก ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
๓.สามารถดำเนินตามวิถีวัฒนธรรม ประเพณีที่งดงามของชุมชน ในเรื่องความสามัคคีและความร่วมมือกันของคนในชุมชน เราจะเห็นได้ชัดเวลาที่มี กิจกรรมต่าง ๆ อย่างกิจกรรมประเพณีบุญบั้งไฟ รวมถึงกลุ่มเยาวชน ก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ซึ่งในหลายๆเรื่องชุมชนคุณธรรมวัดเทพพลประดิษฐารามถือได้ว่าเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับชุมชนอื่น ๆ
ก้าวต่ออย่างมีคุณธรรม
๑.มุ่งการพัฒนาคุณธรรมด้านความพอเพียง มีวินัย สุจริต และจิตอาสา เพื่อให้ก่อเกิดความสามัคคีร่วมแรงร่วมใจของคนในชุมชนเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งเน้นให้ผู้นำเป็นผู้มีความเสียสละ และเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมเป็นสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแบบอย่างการประพฤติที่เป็นตัวอย่างที่ดี
๒.การเป็นแบบอย่าง การปฏิบัติตนของเจ้าอาวาสและพระภิกษุสงฆ์ในวัด ทำให้ชาวบ้านเกิดความเลื่อมใสศรัทธา และยินดีเต็มใจที่จะเข้ามาช่วยเหลือกิจกรรมต่างๆ
๓.จัดเป็นแหล่งเรียนรู้ ถ่ายทอดวิถีการดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และศาสตร์พระราชา
๔. เป็นต้นแบบในการขยายผลสู่ชุมชนอื่นๆ ในพื้นที่
๕.จัดเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมและเชิงธรรมชาติ ที่เป็นรูปธรรมชัดเจนขึ้น
ผู้ประสานงานพื้นที่ : นายแก้วบุญโขง โคติเวทย์ มือถือ ๐๘๔-๓๙๓๑๒๓๒ ชุมชนคุณธรรมวัดเทพพลประดิษฐาราม
ตำบลเวียงคุก จังหวัดหนองคาย
แสดงความคิดเห็น