community image

ชุมชนคุณธรรมวัดสง่างาม

อ.เมืองปราจีนบุรี ต.บางบริบูรณ์ จ.ปราจีนบุรี
วันที่สร้างโพสต์ : 20 กันยายน 2567
วันที่อัปเดต : 11 มีนาคม 2568
จำนวนผู้เข้าชม: 2 คน
cover

“ไหว้พระศักดิ์สิทธิ์ประจำวัด เดินตลาดนัด

ริมหาด ชมธรรมชาติแม่น้ำปราจีนบุรี วัดนิเวศวิถี สมุนไพรดีรักษาโรค ชิมข้าวโพดสวีทไวท์”


กว่าจะมาเป็นวันนี้

         ด้วยสภาพทางภูมิศาสตร์แต่เดิมของพื้นที่ชุมชนคุณธรรมวัดสง่างาม ตั้งอยู่บริเวณฝั่งขวาของแม่น้ำบางปะกง ซึ่งเป็นพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำ จึงมีสภาพเหมาะสมต่อการเพาะปลูก ประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม แต่เนื่องด้วยพื้นที่ดังกล่าว เป็นบริเวณที่ราบลุ่มน้ำท่วมถึง เมื่อถึงฤดูน้ำหลาก พื้นที่เกษตรกรรมจึงถูกน้ำท่วมขัง การเพาะปลูกจึงไม่ได้ผลดีเท่าที่ควรซึ่งส่งผลกระทบต่อสภาพการเงินของคนในชุมชน ก่อให้ปัญหาด้านเศรษฐกิจทำให้คนในชุมชนต้องกู้ทรัพย์สินเพื่อมาใช้จ่ายในช่วงที่ไม่สามารถทำเกษตรกรรมได้


เส้นทางสู่ความสำเร็จของการมาเป็นชุมชนคุณธรรมต้นแบบ

         ชุมชนคุณธรรมวัดสง่างามได้นำกระบวนการพัฒนา ๓ มิติ ๙ ขั้นตอน มาใช้เป็นหลักในการขับเคลื่อนชุมชนให้มีความเข้มแข็ง โดยการรวมกลุ่มประชุม วางแผนการทำงาน กำหนดปัญหาที่อยากแก้ ความดีที่อยากทำ ภายใต้การนำของผู้นำชุมชนที่มีความเข้มแข็ง และเป็นศูนย์รวมกำลังใจของคนในชุมชน เริ่มตั้งแต่ประชุมเพื่อประกาศเจตนารมณ์หรือข้อตกลงที่จะขับเคลื่อนให้เป็นชุมชนคุณธรรมร่วมกัน กำหนดเป้าหมายและจัดทำแผนส่งเสริมคุณธรรมเกี่ยวกับปัญหาที่อยากแก้ ความดีที่อยากทำ มีการติดตามประเมินผล เพื่อทบทวน ปรับปรุง แผนส่งเสริมคุณธรรมของชุมชนให้มีคุณภาพ ส่งผลให้เกิดความสำเร็จโดยชุมชนมีการจัดกิจกรรมทำให้ปัญหาของชุมชนได้รับการแก้ไข มีการส่งเสริมการทำความดี และปฏิบัติตามคุณธรรม พอเพียง วินัย สุจริต จิตอาสา ผลจากการดำเนินงานทำให้ชุมชนมีองค์ความรู้จากการเป็นชุมชนคุณธรรมต้นแบบ สามารถเป็นแหล่งแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ถ่ายทอดให้กับชุมชนอื่นๆ เข้ามาศึกษาดูงานได้ โดย “พลังบวร” ของชุมชนคุณธรรมวัดสง่างาม ประกอบไปด้วย

- ผู้แทน บ หรือ บ้าน ได้แก่ผู้ใหญ่บ้านและกำนันตำบลบางบริบูรณ์ ใช้หลักการ “ระเบิดจากข้างใน” ให้ประชาชนในชุมชนเกิดความเข้าใจ ตระหนักถึงคุณค่าของการมีคุณธรรม ด้วยคำที่ว่า “อะไรคือปัญหาที่อยากแก้ ความดีที่อยากทำ”    - ผู้แทน ว หรือ วัด มีพระครูสิริพัฒนโสภณ (เสริม ฐิตธมฺโม) เจ้าอาวาสวัดสง่างาม เป็นผู้พัฒนา และสร้างสิ่งต่างๆ ในชุมชน ส่งผลให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็ง อยู่ดีมีสุข รวมกลุ่มกันทำกิจกรรมต่างๆ ช่วยเหลือกันและกัน ทั้งยังเป็นแรงสำคัญในการเทศนาธรรม เพื่ออบรมสอนสั่งให้ประชาชนมีหลักธรรมในการดำเนินชีวิต มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข

         - ผู้แทน ร หรือ โรงเรียนและราชการ มีหน่วยงานราชการ สนับสนุนความพร้อม ด้านงบประมาณ อุปกรณ์ สถานที่ในการดำเนินงานของชุมชน

ความท้าทาย

         ๑.ปัญหาด้านเศรษฐกิจ: คนในชุมชนมีวิถีชีวิตที่สัมพันธ์กับแม่น้ำปราจีนบุรี การประกอบอาชีพต่างๆ จึงขี้นอยู่กับสายน้ำเป็นหลัก ก่อให้เกิดปัญหาด้านรายจ่าย จึงมีการส่งเสริมการท่องเที่ยวด้านวัฒนธรรมให้เพิ่มมากขึ้น มีการรวมกลุ่มพัฒนาชุมชน จัดตั้งเป็นวิสาหกิจ

๒.ปัญหาด้านการมีส่วนร่วม: การรวมกลุ่มของคนในพื้นที่ยังไม่มีการดำเนินการที่เป็นรูปธรรม พระครูสิริพัฒนโสภณซึ่งเป็นผู้นำทางด้านจิตวิญญาณ จึงนำประชาชนร่วมมือกันพัฒนา เป็นเสมือนผู้เชื่อมประสานความสัมพันธ์ในชุมชน และสนับสนุนเพื่อให้การดำเนินงานสำเร็จลุล่วง  


ผลลัพธ์และผลกระทบที่เกิดขึ้น

         ๑.ความพอเพียง: มีการนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน ยึดหลักการ “พึ่งตนเอง” ประหยัดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน ด้วยการนำทรัพยากรที่มีในท้องถิ่นมาใช้สอยภายในครัวเรือน เมื่อมีเหลือจึงจำหน่ายสร้างรายได้เสริม ทั้งส่งเสริมการจัดทำบัญชีรายรับรายจ่ายภายในครัวเรือน เกิดการวางแผนการใช้จ่าย และไม่สร้างหนี้สิน

๒.วินัย: เนื่องด้วยชุมชนตั้งอยู่ในพื้นที่ใกล้ตัวเมืองปราจีนบุรี ก่อให้เกิดปัญหาด้านการจราจร และปัญหามลพิษ จึงมีการประชุมกำหนดแนวทางในการแก้ปัญหา และจัดทำแผนการพัฒนา มีการรณรงค์การขับขี่ปลอดภัย ดำเนินการแก้ไขจุดเสี่ยงตามซอยด้วยการติดตั้งสัญญาณเตือน เครื่องหมายจราจร กระจกโค้ง

นอกจากนี้ยังมีเรื่องปัญหาการทิ้งขยะจึงมีการให้ความรู้การจัดการปัญหาขยะด้วยการคัดแยกขยะก่อนทิ้ง ทำให้ชุมชนเกิดความสะอาดและเสริมสร้างจิตสำนึกในการรักษาสิ่งแวดล้อม

๓.จิตอาสา: ประชาชนในชุมชนเกิดความรัก ความสามัคคี มุ่งมั่นที่จะพัฒนาชุมชนของตน และหาทางในการสร้างอาชีพและรายได้ให้คนในชุมชน เมื่อคนในชุมชนมีรายได้ พึ่งตนเองได้ ปัญหาอาชญากรรมในพื้นที่จึงได้ลดลง    

๔.กตัญญูรู้คุณ: เป็นชุมชนที่รักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ยึดมั่นในหลักสอนทางพระพุทธศาสนา เสริมสร้างจิตใจคนในชุมชนให้เลื่อมใสในศาสนามากยิ่งขึ้น


เป้าหมายที่จะเดินต่อ     

         การร่วมมือกันของคนในชุมชนโดยการนำของผู้นำชุมชน ศาสนสถาน ในการยกระดับชุมชนให้เป็นชุมชนท่องเที่ยวพลังบวร หรือ บวร On Tour เกิดการอนุรักษ์และสืบสานมรดกทางภูมิปัญญาในท้องถิ่น กระตุ้นให้คนในพื้นที่เกิดจิตสำนึกในการอนุรักษ์ หวงแหนทรัพยากรทางธรรมชาติและทรัพยากรทางวัฒนธรรมที่มีอยู่ในชุมชน ผลักดันให้เกิดผลเป็นรูปธรรม เป็นกิจกรรมที่สร้างรายได้ให้ชุมชน ก่อให้เกิดการพัฒนาสู่ชุมชนอย่างยั่งยืน พึ่งตนเองได้    

                  

ข้อมูลการติดต่อ

พระครูนิเทศก์ธรรมานุกูล เจ้าคณะตำบลเนินหอม

๐๘๔-๘๕๓-๘๕๐๙

ช่องทางติดต่อ
ติดต่อได้โดยตรง
พระครูนิเทศก์ธรรมานุกูล เจ้าคณะตำบลเนินหอม ๐๘๔-๘๕๓-๘๕๐๙

แสดงความคิดเห็น

profile