“ชุมชนต้นแบบสร้างจากจิตอาสา
ขับเคลื่อนด้วยพลังบวร”
บ้านหนองเต็ง มีการสร้างจิตสำนึกและการปลูกฝังการมีจิตสาธารณะให้กับชาวบ้านในชุมชน ทั้งยังจัดกิจกรรมต่างๆ พัฒนาให้ชุมชนมีความน่าอยู่ โดยมีการปลูกฝังให้เด็กๆ มีจิตสาธารณะ ปฏิบัติงานร่วมกันในโครงการธนาคารขยะ อีกทั้งมีการจัดตั้งห้องสมุดชุมชนให้เด็กๆและชาวบ้านที่สนใจหาความรู้เพิ่มเติมได้อ่านและศึกษา
นด้านสุขภาพ มีการส่งเสริมในเรื่องความสะอาดชุมชน ดูแลผู้สูงอายุให้ได้มีกิจกรรมร่วมกัน และมีกลุ่มอาสาสมัคร (อสม.) ที่เข้มแข็งออกเยี่ยมดูแลผู้ป่วยและผู้สูงอายุให้มีกำลังใจที่ดีขึ้น และในด้านเศรษฐกิจก็มีการจัดตั้งตลาดชุมชน ทำให้ชาวบ้านมีรายได้เสริมจากการปลูกผัก งานฝีมือจากภูมิปัญญาชาวบ้าน ซึ่งได้วางจำหน่ายและแลกเปลี่ยนกันในชุมชน เป็นการลดค่าใช้จ่ายได้เป็นอย่างดี มีการจัดตั้งคณะกรรมการดูแลป่าไม้ชุมชน พร้อมกับมีชุดคุ้มครองหมู่บ้าน (ชคบ.)ดูแลความปลอดภัยในชุมชนโดยการขับเคลื่อนด้วยพลัง “บวร” จึงเกิดโครงการที่โดดเด่น คือ “ชุมชนต้นแบบสร้างจากจิตอาสาขับเคลื่อนด้วยพลังบวร”
ในอดีตนั้น บ้านหนองเต็ง ได้ประสบปัญหาในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็น ด้านสิ่งแวดล้อม บ้านเรือนไม่สะอาด มีการบุกรุก และไม่อนุรักษ์ป่าชุมชนและแหล่งน้ำ ด้านสุขภาพ พบผู้ป่วยโรคเบาหวาน และความดันโลหิตสูงเพิ่มขึ้น บริโภคอาหารไม่ถูกต้อง มีการใช้สารเคมี ยากำจัดศัตรูพืชในการเกษตร ด้านเศรษฐกิจ ผลผลิตด้านการเกษตรไม่ได้ราคา ค่าใช้จ่ายสูง เนื่องจากการใช้ปุ๋ยเคมี ยาปราบศัตรูพืช มีหนี้สิน ด้านสังคม พบปัญหายาเสพติด การทะเลาะวิวาท ดื่มสุรา ปัญหาลักขโมย ผู้นำชุมชนจึงหาวิธีการแก้ปัญหาโดยขอร่วมมือจากหลายหน่วยงาน เช่น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหัวถนน สถานีตำรวจภูธรนางรอง เป็นต้น
เส้นทางสู่ความสำเร็จของการมาเป็นชุมชนต้นแบบ
๑.อาศัยการขับเคลื่อนและความร่วมมือจากพลังบวร โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล สถานีตำรวจภูธรนางรอง และคนในชุมชน จนเกิดการรวมตัวในรูปแบบการประชาคม ใช้การระดมความคิดเห็นในการแก้ปัญหาร่วมกัน การมีส่วนร่วม
๒.มีการบูรณาการร่วมกับการใช้เครื่องมือสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศในการติดต่อสื่อสาร
๓.ยึดถือและปฏิบัติตามหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา การรักษาศีล ๕
๔.สร้างกระบวนการทางชุมชน ผ่านเครื่องมือในการพัฒนา ไม่ว่าจะเป็นการจัดเวทีประชาคม การถอดบทเรียน การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผ่านศูนย์เรียนรู้ การศึกษาดูงาน ทั้งนี้สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ การปฏิบัติจริง เป็นรูปธรรมชัดเจน ทำให้ดูเป็นตัวอย่าง และต้องดำเนินแบบค่อยเป็นค่อยไป
๕.น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นหลักในการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้สามารถดำเนินชีวิตอย่างมั่นคงบนพื้นฐานของการพึ่งพาตนเอง พอมีพอกิน รู้จักพอประมาณ และคำนึงถึงความมีเหตุผล
๖.ดำรงชีวิตตามวิถีวัฒนธรรมประเพณีที่ดีงาม เปิดพื้นที่ศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ให้เป็นพื้นที่สร้างสรรค์เป็นแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์และเป็นที่จัดกิจกรรมทางศาสนา ศิลปวัฒนธรรมของชุมชน
ผลลัพธ์แห่งความสำเร็จ
๑.สมาชิกในชุมชน มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ชาวบ้านและเด็กมีจิตอาสา รู้คุณค่าในตัวเอง
๒.ครอบครัว มีภูมิคุ้มกันภายในครอบครัวที่ดีขึ้น ลดปัญหาการหย่าร้าง การทะเลาะวิวาท สมาชิกในครอบครัวมีความเข้าใจและแบ่งปัน เสียสละ เด็กๆ ในชุมชนมีจิตใจที่ดี เพราะได้รับความอบอุ่นจากครอบครัว
๓.ชุมชนสังคม อยู่ได้ด้วยความพอเพียงและยั่งยืน มีความเข้มแข็ง สิ่งแวดล้อมในชุมชนน่าอยู่ ชาวบ้านมีความเป็นอยู่ที่สงบสุข มีน้ำใจแบ่งปันซึ่งกันและกัน มีรายได้เพิ่มมากขึ้น ลดปัญหาการเป็นหนี้ รวมถึงปัญหาต่างๆ ที่เคยเกิดขึ้นก็เปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดียิ่งขึ้น มีความรักและสามัคคีกัน มีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมและพัฒนาหมู่บ้านร่วมกัน ช่วยกันรักษาประเพณีอันดีงามในชุมชนโดยมีวัดเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ
ก้าวต่ออย่างมีคุณธรรม
๑.ส่งเสริมการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง โดยเน้นการจัดการสุขภาพของคนในชุมชนเพื่อเป็นแหล่งแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านเศรษฐกิจ นำไปสู่การพัฒนาต่อยอด
๒.ส่งเสริมในการจัดทำบัญชีครัวเรือน เพื่อทราบรายรับ รายจ่าย
๓.ก่อตั้งตลาดชุมชนเพื่อส่งเสริมการบริโภคอาหารปลอดภัย
๔.ส่งเสริมการก่อตั้งกลุ่มจิตอาสาเพื่อพัฒนากิจกรรมต่างๆ ทุกด้านของหมู่บ้าน
๕.ส่งเสริมระบบ อสม. เยี่ยมบ้านแบบบูรณาการทุกกลุ่มวัย และทุกงาน โดยส่งงานทุกอาทิตย์ ในไลน์จิตอาสาและมีการปรึกษาผ่านไลน์กับทางโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล
๕.เพิ่มวิธีการขยายผลไปสู่ชุมชนข้างเคียงและขยายผลเข้าสู่พื้นที่ในระดับที่สูงต่อไป โดยการพัฒนาที่ต่อเนื่องและมีคุณภาพ จากการมีส่วนร่วมในการพัฒนาร่วมกัน
แสดงความคิดเห็น