community image

กองทุนพัฒนาระบบสวัสดิการชุมชนตำบลห้วยตามอญ

อ.ภูสิงห์ ต.ห้วยตามอญ จ.ศรีสะเกษ
วันที่สร้างโพสต์ : 20 กันยายน 2567
จำนวนผู้เข้าชม: 28 คน
cover

กองทุนพัฒนาระบบสวัสดิการชุมชนตำบลห้วยตามอญ ได้จัดตั้งขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนให้เกิดการฟื้นฟูระบบสวัสดิการชุมชนที่เหมาะสม และสอดคล้องกับวิถีชีวิตและบริบทของชุมชนท้องถิ่น และกลุ่มกองทุนฯ สามารถพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน และเพื่อสนับสนุนให้เกิดการบูรณาการฟื้นฟูระบบสวัสดิการชุมชนระหว่างภาคีหน่วยงานกับขบวนกรองค์กรชุมชนที่มีองค์กรชุมชนเป็นแกนหลัก และหน่วยงานท้องถิ่นเป็นผู้หนุนเสริม และเพื่อให้คนในชุมชนได้ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ภายใต้แนวคิดการให้อย่างมีคุณค่า การรับอย่างมีศักดิ์ศรี


ระยะแรกของการเริ่มต้นกองทุนพัฒนาระบบสวัสดิการชุมชนตำบลห้วยตามอญ พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่รู้จักคำว่าสวัสดิการชุมชนว่าคืออะไร และบางคนไม่มั่นใจในตัวของคณะกรรมการ คณะทำงาน ว่าจะนำพากองทุนฯ นี้ไปได้ตลอดรอดฝั่งหรือไม่ กว่าจะเริ่มจัดตั้งกองทุนฯได้จึงใช้เวลานาน แต่ในขณะนั้น คณะกรรมการเห็นว่าการจัดสวัสดิการสามารถทำได้เป็นรูปธรรม มีความมั่นคง สามารถช่วยเหลือสมาชิกและประชาชนในชุมชนได้จริง คณะกรรมการจึงทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่มีการทำงานอย่างต่อเนื่อง มีจิตอาสา เสียสละ มีวินัย โดยหวังว่ากองทุนฯนี้ จะสามารถช่วยเหลือสมาชิกและประชาชนในชุมชนได้ อย่างน้อยก็ช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสในชุมชน คนยากจน คนพิการ ให้ได้ โดยการให้ความรู้ ประชาสัมพันธ์ให้คนในชุมชนได้รับทราบข้อดีและข้อเสียว่าเป็นอย่างไรบ้าง ประกอบกับได้รับการช่วยเหลือจากหน่วยงานเครือข่ายต่างๆ จำนวนมาก จึงก่อเกิดเป็นกองทุนฯขึ้นมาได้ดังเช่นปัจจุบัน


ปัญหาที่อยากแก้ ความดีที่อยากทำ  

เนื่องจากขณะนั้นคนในชุมชน หรือสมาชิกของกองทุนฯ มักมองว่ากองทุนฯ เป็นแหล่งที่จะเอื้อประโยชน์สำหรับตนเอง ทุกคนมีความคาดหวังว่าจะได้อะไรจากกองทุนบ้าง โดยไม่ได้มองว่าในอนาคต กองทุนฯ จะอยู่อย่างไร ขาดการมองประโยชน์ของส่วนรวม ลืมตระหนักว่า “จะทำอย่างไรกับกองทุนฯ เพื่อนำไปสู่เป้าหมายสูงสุด” เพราะว่ากองทุนต้องเป็นกองทุนสวัสดิการชุมชนที่สามารถพึ่งพาตนเองได้ โดยคนในชุมชนทุกคนมีส่วนร่วม ทั้งในด้านการจัดสวัสดิการ การบริหารกองทุนที่มีความสมดุล อย่างมีคุณธรรม


เส้นทางสู่ความสำเร็จของการมาเป็นชุมชนต้นแบบ

๑.เริ่มต้นด้วยการประชุมปรึกษาหารือกันของกลุ่มผู้นำในชุมชน และเครือข่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ในการจัดตั้งกองทุนฯ มีการหารือเกี่ยวกับสวัสดิการชุมชน

๒.มีการประชาสัมพันธ์อย่างสม่ำเสมอ โดยให้ความรู้เกี่ยวกับสวัสดิการชุมชน มีข้อดีข้อเสียอย่างไร ควรจะจัดตั้งขึ้นหรือไม่ และก็เริ่มระดมทุน รวมทั้งการรับสมัครสมาชิกกองทุน

๓.มีการบอกต่อกันไป ในการดำเนินงานของกองทุนฯ โดยสมาชิกกองทุนฯ กลุ่มผู้นำและทุกคนให้การช่วยเหลืออย่างเข้มแข็ง


ผลลัพธ์แห่งความสำเร็จ

๑.ระดับสมาชิกกองทุนฯ : ได้รับสวัสดิการหลายด้าน ตั้งแต่เกิดจนตาย มีความอุ่นใจ ไม่เดียวดาย มีความมั่นใจในการดำเนินชีวิต

๒.ระดับครอบครัว : มีความภาคภูมิใจ กองทุนฯ สามารถให้การช่วยเหลือได้ โดยเฉพาะยามเจ็บไข้ได้ป่วย แม้จะเป็นสวัสดิการเพียงน้อยนิดแต่ก็ดีกว่าไม่มีอะไรเลย

๓.ระดับชุมชน : คนในชุมชนมีความสุข จากการได้รับสวัสดิการจากกองทุนฯ สมาชิกกองทุนฯ เริ่มมีวินัยมากขึ้น การบริหารงานของกองทุนฯ เริ่มดีขึ้น โดยการมีส่วนร่วมจากหลายภาคส่วนในชุมชน


ก้าวต่ออย่างมีคุณธรรม

๑.การวางแผนการจ่ายสวัสดิการกองทุนฯควรจำกัดอายุของผู้ที่จะสมัครเข้ามาเป็นสมาชิก โดยจำกัดให้มีอายุที่น้อยลง เช่น อายุไม่เกิน ๖๕ ปี

๒.การหารายได้เข้ากองทุนเพื่อให้กองทุนยั่งยืนต่อไป เช่น การทำบุญผ้าป่าเพื่อสมทบเงินเข้ากองทุน เป็นต้น

๓.ทำให้ทุกภาคส่วนเห็นความสำคัญของการมีกองทุนฯ ที่มีการจัดสวัสดิการให้กับชุมชนและทุกภาคส่วนต้องทำหน้าที่ของตนเองให้ดีที่สุด คือ

๓.๑สมาชิกมีใจหนึ่งเดียวกัน คือ มีการช่วยเหลือแบ่งปันกัน ตระหนักถึงการช่วยเหลือสังคม พึ่งพาตนเอง มีความพอเพียง มีวินัย

๓.๒คณะทำงาน ยึดหลัก อสอส. คือ มีจิตอาสา เสียสละ อดทน และมีความสุจริต

๓.๓ผู้สนับสนุน เครือข่าย แบ่งเบาความเดือดร้อนให้ประชาชน การดำเนินงานของกองทุนฯ เป็นในรูปแบบของคณะกรรมการโดยเป็นคนในชุมชนเอง และมีการบูรณาการกับเครือข่ายภาครัฐ ภาคเอกชน ที่อยู่ใกล้ชิด โดยคณะกรรมการ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีความสำคัญอย่างมากซึ่งเป็นสิ่งยืนยันว่ากองทุนฯ นี้จะไม่ล้มเหลวเหมือนเช่นกองทุนฯอื่นๆ ที่เคยทำมาในชุมชน 

ช่องทางติดต่อ

แสดงความคิดเห็น

profile