community image

ชุมชนคุณธรรมบ้านใหม่ไทยพัฒนา

อ.วัฒนานคร ต.หนองตะเคียนบอน จ.สระแก้ว
วันที่สร้างโพสต์ : 20 กันยายน 2567
วันที่อัปเดต : 1 ตุลาคม 2567
จำนวนผู้เข้าชม: 4 คน
cover

“อีสานพลัดถิ่น มีกินวิถีพอเพียง

แหล่งเลี้ยงกระบือไทย งามวิไลผ้าทอมือ”


กว่าจะมาเป็นวันนี้

         เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๐ ชาวบ้านใหม่ไทยพัฒนา ได้ขายควายไถนาทิ้งกันหมดและหันมาใช้รถอีโก่ง แต่กลับส่งผลเสียกับสภาพแวดล้อมของชุมชน คือ ทำให้ดินเสื่อมโทรม ปลูกข้าวหรือพืชผลไม่งามเหมือนเดิม ผลผลิตลดลง คนได้รับสารพิษมากขึ้น ความอุดมสมบูรณ์หมดไป ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น คนในชุมชนจึงได้ปรึกษาหารือกัน มีการระดมความคิดร่วมกันว่าจะทำอย่างไรจึงสามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้ กลุ่มปราชญ์ชาวบ้านจึงเสนอให้กลับมาเลี้ยงควาย และนำควายกลับมาไถนาเหมือนแต่ก่อน นอกจากนี้มูลควายยังสามารถทำเป็นปุ๋ยบำรุงพืชผลได้เป็นอย่างดี ไม่ก่อมลพิษต่อสภาพแวดล้อม     


เส้นทางสู่ความสำเร็จของการมาเป็นชุมชนคุณธรรมต้นแบบ

         เริ่มต้นจากสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสระแก้ว ได้ลงมาประสานชุมชนให้เข้าร่วมเป็นชุมชนคุณธรรม โดยใช้เกณฑ์การประเมิน ๙ ขั้นตอน ให้ชุมชนประเมินตนเอง ซึ่งในการประเมินครั้งแรกชุมชนยังไม่สามารถดำเนินงานตามหลักเกณฑ์ทั้ง ๙ ขั้นตอนได้ เพราะในช่วงแรกของการดำเนินงานในชุมชน การร่วมบูรณาการระหว่างบ้าน วัด โรงเรียน/ราชการ ยังไม่ได้เกิดขึ้นมากนัก ทำให้ชุมชนเริ่มปรับรูปแบบการดำเนินงาน โดยให้การดำเนินงานภายในชุมชนทุกกิจกรรม มีส่วนร่วมจากพลังบวร และเริ่มดำเนินงานให้ครบถ้วนใน ๓ ด้าน คือ ด้านหลักธรรมทางศาสนามา ด้านเศรษฐกิจพอเพียง และด้านวิถีวัฒนธรรม โดยการดำเนินงานในชุมชน มีรูปแบบการดำเนินงาน ดังนี้

๑.ประชุมกลุ่มสมาชิกอย่างน้อย ๒ เดือนครั้ง หรือตามความสำคัญเร่งด่วน

๒.จัดตั้งคณะกรรมการแบ่งตามกลุ่มความรับผิดชอบตามหน้าที่ของแต่ละฝ่าย

๓.กำหนดกฎระเบียบของกลุ่มตามข้อตกลงของสมาชิก ที่กำหนดขึ้นมาเป็นกติกา

๔.พัฒนากลุ่มต่างๆ ให้มีศักยภาพมากขึ้น

๕.แบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบกันภายในกลุ่ม โดยดูจากความถนัด

๖.พัฒนาและนำผลิตภัณฑ์มาสร้างมูลค่าเพิ่ม และจำหน่ายให้แก่นักท่องเที่ยวหรือผู้มาศึกษาดูงานในชุมชน ทำให้ชุมชนเกิดรายได้ และมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี ทำให้ชุมชนประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน

๗.รวบรวมภูมิปัญญาของชาวนาที่มีอยู่ออกมาใช้และสร้างงานการขายทำให้มีรายได้

๘.นำกระบือที่เป็นอัตลักษณ์ของชุมชนมาสร้างคุณค่าให้มากขึ้น โดยนำควายมาฝึกให้เป็นควายแสนรู้

๙.นำมูลกระบือมาทำปุ๋ยอินทรีย์ใช้ในหมู่บ้าน และขายให้ชุมชนใกล้เคียง

๑๐.นำภูมิปัญญาการทอผ้าไหมที่มีอยู่เดิม นำมาปรับปรุงและพัฒนาลายผ้า

๑๑. ส่งเสริมสนับสนุนให้คนในชุมชนทำเกษตรอินทรีย์

๑๒.วัฒนธรรมประเพณีพื้นบ้านนำออกมาใช้หมอลำหมอแคนการแสดงต่างๆของชุมชน

ความท้าทาย

         ความท้าทาย คือ การแสวงหาแหล่งอบรมและแหล่งศึกษาดูงาน ที่เป็นชุมชนต้นแบบที่ประสบความสำเร็จมาพัฒนาหมู่บ้านของตนเอง พยายามถ่ายทอดภูมิปัญญาของชุมชนที่มีอยู่ให้เด็กและเยาวชนรุ่นหลัง รวมถึงปรับปรุงพัฒนาชุมชนบ้านใหม่ไทยพัฒนาให้มีความสอดคล้องกับความต้องการของนักท่องเที่ยว ประชาสัมพันธ์ชุมชนให้เป็นที่รู้จัก ออกแบบการแสดงของชุมชน ปรับรูปแบบโปรแกรมการท่องเที่ยวให้เป็นที่ถูกอกถูกใจนักท่องเที่ยว

ส่วนอุปสรรคนั้นคือการที่คนในชุมชนไม่รู้ว่าสิ่งที่มีอยู่หรือทุนที่มีอยู่ในชุมชน สามารถนำมาใช้ต่อยอดให้เกิดประโยชน์อย่างไร บางครั้งจึงทำให้เกิดการละเลย การดูแลรักษาทุนเหล่านั้น และไม่มีผู้สืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นจากผู้เฒ่าผู้แก่ ทำให้ภูมิปัญญาใกล้สูญหาย


ผลลัพธ์และผลกระทบที่เกิดขึ้น

๑) คนในชุมชนดำเนินการกิจภายในชุมชนภายใต้กรอบ ๓ ด้าน คือ

- ด้านการนำหลักธรรมทางศาสนามาปฏิบัติ เช่น การรักษาศีล ๕

- ด้านการนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ในการดำเนินชีวิต เช่น การปลูกผักสวนครัวรั้วกินได้

- ด้านวิถีวัฒนธรรม เช่น การจัดกรรมกรรมประเพณีตามฮีต ๑๒ คลอง ๑๔ โดยการร่วมกันจัดกิจกรรมอย่างพร้อมเพียง

๒) เกิดความร่วมมือระหว่าง บ้าน วัด โรงเรียน/ราชการ ทุกภาคส่วนมีส่วนช่วยคิด ช่วยทำ และช่วยพัฒนาให้ชุมชนดีขึ้น

๓) ประชาชนอยู่ดีกินดี จากการนำทุนของชุมชนมาสร้างรายได้

๔) การเปลี่ยนแปลงของชุมชนในทางที่ดีขึ้น ทำให้คนในชุมชนหันมาสนใจ และเข้าร่วมดำเนินการกับชุมชนเพิ่มมากขึ้น

เป้าหมายที่จะเดินต่อ

         ๑) พัฒนาปรับปรุงภูมิทัศน์ให้สวยงาม ร่มรื่น และมีอัตลักษณ์ของความเป็นวิถีชาวนา

         ๒) พัฒนาผลิตภัณฑ์และสินค้าของชุมชนให้ดียิ่งขึ้น มีมาตรฐาน และมีบรรจุภัณฑ์ที่สวยงาม

         ๓) จัดหาวิทยากรอบรมมัคคุเทศก์ท้องถิ่นในชุมชน เพื่อให้การต้อนรับนักท่องเที่ยวมีความเป็นมืออาชีพมากยิ่งขึ้น

         ๔) ส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินกิจกรรมของชุมชนให้มากที่สุด


ข้อมูลการติดต่อ

นายอนุชา ทุมสุข ผู้ใหญ่บ้านหมู่ ๖

๐๘๙-๒๕๓- ๑๓๕๙     


ช่องทางติดต่อ
ติดต่อได้โดยตรง
นายอนุชา ทุมสุข ๐๘๙-๒๕๓- ๑๓๕๙

แสดงความคิดเห็น

profile