community image

ชุมชนคุณธรรมวัดเชียงเพ็ง

อ.ป่าติ้ว ต.เชียงเพ็ง จ.ยโสธร
วันที่สร้างโพสต์ : 20 กันยายน 2567
วันที่อัปเดต : 27 กันยายน 2567
จำนวนผู้เข้าชม: 1 คน
cover

“เชียงเพ็งดาษดื่นพืชผัก รักษ์สามัคคี

มีวัฒนธรรม งามล้ำชุมชน น่ายลเรือใหญ่โบราณ”


กว่าจะมาเป็นวันนี้

ชุมชนคุณธรรมวัดเชียงเพ็ง มีวัฒนธรรมและประเพณีอันดีงามจากบรรพบุรุษสืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบัน ทั้งความเชื่อทางพระพุทธศาสนา และวัฒนธรรมที่ปรากฏทางด้านจิตใจยังเป็นไปตามประเพณีดั้งเดิมที่ชาวบ้านเรียก “ฮีตสิบสอง คองสิบสี่” ซึ่งชาวบ้านยังให้ความเคารพ เชื่อถือ ศรัทธา ผู้นำชุมชน พระสงฆ์ ครู อาจารย์ และคนเฒ่าคนแก่ในการจัดพิธีกรรมต่างๆ การจัดงานประเพณี “ฮีตสิบสอง ครองสิบสี่” มีวัดเป็นศูนย์รวมจิตใจ ภายในวัดมีหลวงพ่อชัยอินทร์ประสิทธิ์ พระประธานปูนปั้นในอุโบสถ สร้างเมื่อพ.ศ. ๒๔๕๑ และมีพระพุทธรูปปูนปั้น พระพุทธเศวตสุวรรณ (หลวงพ่อขาว) ประดิษฐานใต้ต้นโพธิ์ มีเรือโบราณจัดอยู่ในประเภทเรือกระแซง คล้ายกับเรือเอี้ยมจุ๊นในภาคกลาง แต่มีขนาดยาวกว่าเรือเอี้ยมจุ๊นสามเท่า ความสมบูรณ์ของเรือที่พบประมาณ ๘๐ % และยังมีสภาพแข็งแรง เป็นแหล่งท่องเที่ยวและแหล่งเรียนรู้ของชุมชน

    

เส้นทางสู่ความสำเร็จของการมาเป็นชุมชนต้นแบบ

๑.ดำเนินงานด้วยการขับเคลื่อนด้วยผู้นำพลังบวร โดยมีข้อปฏิบัติหลัก ๓ ประการคือ ปฏิบัติตามหลักศาสนา น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และดำรงชีวิตตามวิถีวัฒนธรรม เป็นหลักในการดำเนินชีวิต นำไปสู่ความมั่นคง ๓ สถานบันหลักคือ ชาติ ศาสนาและพระมหากษัตริย์

อีกทั้งยังมีการส่งเสริมด้านคุณธรรมให้คนในชุมชนมีส่วนร่วมเกิดความคิดที่จะร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมรับผลประโยชน์จากการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ที่ได้จัดขึ้น

๒.ส่งเสริมกิจกรรมด้านคุณธรรมและจริยธรรมให้แก่เด็กและเยาวชน โดยผู้อำนวยการโรงเรียนชุมชนบ้านเชียงเพ็ง คณะครูและนักเรียน จัดกิจกรรมส่งเสริมพระพุทธศาสนาในวันสำคัญต่างๆ และจัดกิจกรรมเทิดทูนสถาบัน กิจกรรมจิตอาสาในพื้นที่วัด และชุมชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อบ่มเพาะปลูกฝังให้เด็กได้ยึดมั่นในหลักธรรมทางศาสนา และส่งเสริมให้เยาวชนเป็นคนดี

๓.มีการสืบทอดรักษาประเพณีวัฒนธรรม อันดีงามจากรุ่นสู่รุ่น เกิดชื่อเสียงภาพลักษณ์ที่ดีและหน่วยงานภายนอกให้การยอมรับ โดยอาศัยทุนทางประเพณีวัฒนธรรมที่มีอยู่เดิมของชุมชนเข้ามาเป็นส่วนช่วยในการดำเนินงานให้ประสบผลสำเร็จเป็นที่ประจักษ์


ความท้าทาย

รักษาทรัพยากรน้ำ ชุมชนบ้านเชียงเพ็ง ตั้งอยู่ติดลำน้ำลำเซบาย ชาวบ้านใช้น้ำในภาคเกษตรกรรม ปศุสัตว์ ประมง การประปาตลอดทั้งปี หรืออาชีพอื่นๆ ของคนในชุมชน จากการจัดตั้งโครงการอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ในพื้นที่ใกล้เคียง ทำให้เกิดกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย เพื่อรักษาทรัพยากรน้ำของชุมชน และคุณภาพชีวิตของชาวบ้านไว้ เพราะลำเซบายเปรียบเสมือนสายเลือดที่หล่อเลี้ยงทุกคนในชุมชนตลอดสายน้ำ ตลอดจนระบบนิเวศทางสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นอู่ข้าวอู่น้ำและการดำรงชีพทำมาหากินของชุมชนอย่างยั่งยืน


ผลลัพธ์และผลกระทบที่เกิดขึ้น

ชุมชนสืบทอดวัฒนธรรมและประเพณีอันจากบรรพบุรุษ ทั้งความเชื่อทางพระพุทธศาสนา และวัฒนธรรมที่ดีงามยังเป็นไปตามประเพณีดั้งเดิมที่ชาวบ้านเรียก “ฮีตสิบสอง คองสิบสี่” ยึดมั่นในหลักธรรมทางศาสนา เกิดความสงบสุขในชุมชน ชาวบ้านมีการร่วมมือร่วมใจในศรัทธาต่อพระพุทธศาสนา ร่วมกิจกรรมวันสำคัญทางศาสนาเพิ่มมากขึ้น ปัญหาในชุมชนลดลง คนในชุมชนมีความรักความสามัคคี จากการนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ ทำให้ชุมชนอยู่ดีมีสุข

๒.จัดตั้งกลุ่มสัมมาชีพ ได้แก่ กลุ่มจักสาน กลุ่มทอเสื่อกก กลุ่มถ่านไม้ไผ่ และมีศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง(เกษตรอินทรีย์)

๓.ดำเนินชีวิตตามวิถีวัฒนธรรม เทิดทูนในสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ สืบทอดศิลปวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่น มีจิตอาสา จิตสาธารณะ พัฒนาชุมชน เพื่อประโยชน์ส่วนรวม

    ๔.ขยายเครือข่ายปลูกข้าวเกษตรอินทรีย์ปลอดสารเคมี เพื่อให้ชาวนาลดรายจ่ายในการทำนา เพื่อให้ชาวบ้านได้กินข้าวที่มีคุณภาพปลอดสารเคมี

๕.จัดตั้งวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวเชิงเกษตร การรวมกลุ่มจัดตั้งตลาดประชารัฐร่วมใจพัฒนาชุมชน กลุ่มศิลปินพื้นบ้านถ่ายทอดภูมิปัญญา ได้แก่ คณะหมอลำเชียงเพ็งน้องใหม่บันเทิงศิลป์ คณะกลองยาวคณะขวัญใจลาดจำปาข้าว ชุมชนคนลำเซ ขวัญใจรุ่งลำเซ

    ๖.นำเอาต้นทุนทางวัฒนธรรมไปต่อยอดสร้างรายได้ให้กับชุมชน ยกระดับชุมชนโดยส่งเสริมการท่องเที่ยงทางวัฒนธรรม ส่งเสริมให้คนในชุมชนมีรายได้จากทุนทางวัฒนธรรมที่มีอยู่


เป้าหมายที่จะเดินต่อ

๑.มุ่งพัฒนาคุณธรรมด้านความพอเพียง มีวินัย สุจริต จิตอาสา เพื่อก่อให้เกิดความสามัคคีของคนในชุมชนเพิ่มมากขึ้น เน้นให้ผู้นำมีความเสียสละ เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมเป็นสำคัญ และประพฤติตนเป็นแบบอย่างที่ดี

         ๒.เจ้าอาวาสและพระภิกษุสงฆ์ปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดี เพื่อให้คนในชุมชนเกิดความเลื่อมใสศรัทธา รู้สึกยินดี และเต็มใจที่จะเข้ามาช่วยเหลือกิจกรรมต่างๆ

         ๓.จัดเป็นแกล่งเรียนรู้ ถ่ายทอดวิถีการดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

         ๔.มุ่งหวังที่จะเป็นชุมชนต้นแบบเพื่อขยายผลการดำเนินงานคุณธรรมของทางชุมชนไปสู่ชุมชนอื่นๆ ภายในพื้นที่

         ๕.มีความตั้งใจที่จะร่วมกันพัฒนาให้ชุมชนคุณธรรมวัดเชียงเพ็งเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมอย่างยั่งยืน


ข้อมูลติดต่อ

พระครูสุกิจธรรมากร เจ้าอาวาสวัดเชียงเพ็ง 

ช่องทางติดต่อ
ติดต่อได้โดยตรง
พระครูสุกิจธรรมากร เจ้าอาวาสวัดเชียงเพ็ง

แสดงความคิดเห็น

profile