“ผู้นำศีลธรรรม ค้ำจุลศาสนา รักษาวัฒนธรรม
พัฒนาการศึกษา น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงด้วยพลังบวร”
กว่าจะมาเป็นวันนี้
ชุมชนบ้านอุดมสุขเป็นชุมชนเล็กๆ คนในชุมชนประกอบอาชีพเกษตรกร และรับจ้างทั่วไป รายได้ส่วนใหญ่ต้องอาศัยสภาพอากาศเป็นหลัก กอปรกับผู้นำชุมชนและเจ้าอาวาส ต้องการที่จะช่วยประชาชนเพิ่มรายได้ลดรายจ่าย พยายามสรรหาอาชีพเสริมต่างๆ เข้ามาให้คนในชุมชนได้รวมทำกันทำเพื่อเป็นรายได้เสริมเมื่อว่างจากการทำเกษตรเพื่อใช้จุนเจือครอบครัว
เส้นทางสู่ความสำเร็จของการมาเป็นชุมชนต้นแบบ
วัดอุดมสุข เกิดจากสำนักสงฆ์เล็กๆ ที่ได้ปล่อยทิ้งร้างไว้ระยะหนึ่ง จนพระสมุห์อำนวย จิตฺตทนฺโต และพระสมุห์ตนุภัทร จินฺตามมโย ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของพุทธศาสนาให้เป็นสถานที่รวมจิตใจของคนในชุมชน ให้ความรู้แก่เด็ก เยาวชน พระเป็นผู้อบรมสั่งสอนคุณธรรมจริยธรรม เป็นผู้นำในการทำกิจกรรมทางพระพุทธศาสนา เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของคนในชุมชน และชุมชนใกล้เคียง ทั้งนี้พระทั้งสองรูปนั้นได้มีการพัฒนาตนเองโดยการศึกษาในระดับปริญญาโท จากมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และนำความรู้จากการศึกษามาพัฒนาคนในชุมชนให้มีความรู้ สามารถนำความรู้ไปดำเนินชีวิตอย่างมีคุณธรรมจริยธรรม นำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาพัฒนาชุมชน โดยวัดจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงด้วยพลังบวร เพื่อให้คนในชุมชนที่สนใจเกี่ยวกับการปลูกผักปลอดสารพิษ การปลูกพืชสมุนไพร การทำน้ำหมักจุลินทรีย์ การทำดินดีเดินตามรอยพ่อ และนำไปใช้ในครัวเรือน การปลูกจิตสำนึกให้เด็ก เยาวชน สืบสานประเพณีวัฒนธรรมไทย โดยให้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรม และเข้าร่วมกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง อาทิ การก่อพระเจดีย์ทราย การสรงน้ำพระ การรดน้ำดำหัวผู้สูงอายุในวันสงกรานต์ การทำขนมไทยในเทศกาลต่างๆ
ทางชุมชนนั้นมีรูปแบบการดำเนินงานโดยใช้ “โมเดลพลังบวร” ซึ่งเป็นนวัตกรรมภายใต้แผนแม่บทส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติฉบับที่ ๑ (พ.ศ.๒๕๕๙-๒๕๖๔) ซึ่งถือเป็นกลไกที่ทำงานภายใต้ระบบความคิดที่อาศัยผู้นำทางความคิดหลักของชุมชน ๓ ส่วนที่ร่วมมือกัน เรียกว่า “สามประสานแกนนำ” อันเป็นตัวแทนของทรัพยากรอำนาจ (Power Resource) ของชุมชน มีบทบาทในการชักจูงหรือโน้มน้าวใจให้คนในชุมชนที่เป็นเป้าหมายในการรณรงค์เรื่องต่างๆ เกิดความรู้ ความเข้าใจ ความเชื่อ ทัศนคติ จนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมไปในทางที่ดีขึ้น เพื่อให้ความพัฒนา และความเข้มแข็งเกิดขึ้นในชุมชน
ความท้าทาย
คนในชุมชนไม่ได้ความร่วมมือในการเข้าร่วมกิจกรรมทางพระพุทธศาสนา ชาวบ้านไม่มีความสามัคคี ไม่มีคุณธรรมจริยธรรม ไม่มีความคิดที่จะช่วยเหลือเกื้อกูลกัน เด็ก เยาวชนไม่เข้าวัดทำบุญ อีกทั้งไม่มีหน่วยงานภายนอกเข้ามาให้การสนับสนุน กอปรกับมีปัญหาสุรา เล่นการพนัน การเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับอบายมุข คนในชุมชนมีรายได้น้อย ไม่สนใจเรื่องความพอประมาณ ไม่รู้จักพึ่งพาตนเอง ไม่รักษาสุขภาพ และยังคงใช้สารเคมีในการทำการเกษตร
ผลลัพธ์และผลกระทบที่เกิดขึ้น
จากการดำเนินงานขับเคลื่อนชุมชนคุณธรรมด้วยพลังบวร ชุมชนวัดอุดมสุขนั้นประสบความสำเร็จจากความร่วมมือกันของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยอาศัย บ้าน วัด โรงเรียน เป็นแกนนำหลัก เพื่อขับเคลื่อน ช่วยเหลือเกื้อกูล และให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนา สะท้อนให้เห็นผ่านเรื่องต่างๆ อาทิ
๑.มีการนำอัตลักษณ์วัฒนธรรมของชุมชนมาพัฒนาต่อยอดด้านคุณภาพชีวิต
๒.คนในชุมชนดำรงชีวิตอย่างมั่นคงบนพื้นฐานของการพึ่งพาตนเอง รู้จักความพอประมาณ เดินทางสายกลาง ด้วยการนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้
๓.เกิดการอนุรักษ์ สืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปวัฒนธรรม โดยสามารถถ่ายทอด เป็นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ภูมิปัญญาของชุมชน มีปราชญ์ชาวบ้านให้ความรู้กับคนในชุมชน ให้เกิดความเข้มแข็ง และพัฒนาอย่างยั่งยืน
๔.ปัญหาต่างๆ ที่เคยเกิดขึ้นในชุมชนนั้นลดลง และสิ่งที่ชุมชนได้ดำเนินงานขับเคลื่อนนั้นประสบผลสำเร็จเป็นที่ประจักษ์ ตามเป้าหมายปัญหาที่อยากแก้ ความดีที่อยากทำ
๕.เกิดชุมชนคุณธรรม ลานธรรม ลานวิถีไทย
๖.คนในชุมชนมีจิตอาสา ร่วมกิจกรรมโดยเห็นประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตน ไม่หวังสิ่งตอบแทน
เป้าหมายที่จะเดินต่อ
๑.การจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงด้วยพลังบวรวัดอุดมสุข มีการขยายเครือข่ายให้ครบทั้งตำบลบ้านใหม่คลองเคียน
๒.คนในชุมชนตระหนักถึงการเก็บออม เพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย และนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ในการดำเนินชีวิต
๓.คนในชุมชนสืบสานวัฒนธรรมของท้องถิ่น ยึดมั่นในหลักธรรมทางพุทธศาสนา เป็นแบบอย่างที่ดีของสังคม
ข้อมูลการติดต่อ
พระสมุห์อำนวย จิตฺตทนฺโต ๐๘๒-๒๙๗-๔๒๙๓
แสดงความคิดเห็น