“วัฒนธรรมล้ำค่า สวยโสภาสาวภูไท”
กว่าจะมาเป็นวันนี้
ชาวบ้านหนองผือส่วนมากนับถือศาสนาพุทธ ยึดมั่นในฮีต ๑๒ คอง ๑๔ อย่างเคร่งครัด ได้ตั้งวัดเป็นสำนักสงฆ์เพื่อสะดวกในการปฏิบัติศาสนกิจและศูนย์รวมศรัทธา โดยการนำของพระอาจารย์อิน สิริธมฺโม และนายจารย์นนท์ พฤกษจันทร์ ได้จัดแจงพาลูกหลานหาไม้ในป่าธรรมชาติมาทำกุฎีสงฆ์ ศาลา เวจจกุฎี (ส้วมพระ) และได้ตั้งชื่อวัดว่า “วัดโพธิสมพร” ต่อมาทางราชการโดยกรรมการศาสนาได้ตั้งชื่อใหม่ให้สอดคล้องกับผู้มาตั้งครั้งแรกว่า“วัดอินทรังสฤษฏิ์” จนถึงปัจจุบัน
เส้นทางสู่ความสำเร็จของการมาเป็นชุมชนต้นแบบ
ความสำเร็จด้านวัฒนธรรมประเพณีนั้นสืบเนื่องมาจากในอดีตเจ้าอาวาสรุ่นก่อนได้นำพาญาติโยมในชุมชนระพฤติปฏิบัติตนอยู่ศีลธรรม อนุรักษ์สิ่งที่เป็นอัตลักษณ์ของชุมชนชาวภูไทในอดีต เช่น การแต่งกายด้วยชุดภูไทเมื่อไปร่วมงานบุญหรืองานพิเศษอื่นๆ วัฒนรรมประเพณีเลี้ยงปู่ตาเมื่อถึงคราเดือนหกจะทำกสิกรรมไถหว่านก็ไปนำข้าวปลาอาหารไปบูชาปู่ตาเพื่อให้ได้ผลผลิตและช่วยปกปักษ์คุ้มครองรักษาชุมชน วัฒนธรรมด้านภาษาใช้ภาษาภูไทพูดคุยกันในชุมชนและสอนให้กับผู้คนจากชุมชนอื่นๆ วัฒนธรรมการฟ้อนรำภูไทผู้คนในชุมชนมีการฝึกซ้อมรำเพื่อจะใช้รำในงานประเพณี “บุญมหาชาติ” และใช้ฟ้อนรำต้อนรับอาคันตุกะที่มาเยี่ยมเยียน พร้อมกันนี้ยังได้ไปร่วมในงานนอกชุมชนตามที่ได้ขอความอนุเคราะห์มา
ศูนย์อนุรักษ์ควายไทยเป็นศูนย์กลางของชุมชนในการร่วมกันทำกิจกรรมที่สำคัญก็คือ “การเลี้ยงควายพระราชทาน” ซึ่งเป็นโครงการพระราชดำริในหลวงราชการที่ ๙ เพื่ออนุรักษ์ควายไทยให้อยู่คู่สังคมไทย รวมทั้งเป็นสถานที่ให้คนในชุมชนได้มาปลูกผักเกษตรอินทรีย์หลังเก็บเกี่ยวข้าวในนาเพื่อเป็นการสร้างรายได้เสริมในครัวเรือน และเป็นสถานที่ฝึกอบรม ดูงาน ให้ความรู้แก่เกษตรกรในชุมชนและผู้ที่มาดูงาน ให้ได้องค์ความรู้ในเรื่องการกสิกรรม ไร่นาสวนผสมหรือในเรื่องหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
กลุ่มทอผ้าครามมุก ผ้าครามและศูนย์หัตกรรมในชุมชนบ้านหนองผือ เป็นแหล่งผลิตสิ้นค้าที่สำคัญในชุมชนประกอบด้วย ผ้าครามมุก ผ้าคราม ผ้าขาวม้า ผ้าสะไบ เสื่อผือ การเลี้ยงสัตว์ไว้บริโภคและจำหน่ายในครัวเรือน อีกทั้งกลุ่มทอผ้าครามได้แปรรูปเป็นสินค้าโอทอป พวงกุญแจนกฮูก กระเป๋าใบเล็ก ใบใหญ่ ทำส่งขายทั้งภายในชุมชน และในระดับประเทศ
เส้นทางสู่ความสำเร็จของชุมชนคุณธรรมวัดอินทรังสฤษฏิ์ เกิดจากการที่คนในชุมชนมีศักยภาพในตนเอง และมีวิถีชีวิตของชาวภูไทที่มีศิลปะ วัฒนธรรม การงานอาชีพ ที่ยังคงอนุรักษ์สิ่งที่เป็นของเก่าแก่แต่โบราณสืบสานให้คงอยู่ และพัฒนาปรับปรุงวิถีชีวิตของตนไปพร้อมๆ กับการเปลี่ยนแปลงของโลก เมื่อรวมวิถีวัฒนธรรมชาวภูไทที่ดีงามมากล่าวรวมกันไว้ จึงทำให้เกิดสิ่งดีงามในชุมชนวัดอินทรังสฤษฏิ์
ความท้าทาย
การเปลี่ยนผ่านระหว่างช่วงวัยของคนในชุมชน ผู้สูงวัยยังมีความยึดมั่นในความคิดและวิถีชีวิตแบบเดิมในอดีตไม่อยากเปลี่ยนแปลงสิ่งใดอยากให้คงไว้ รวมทั้งการไม่เข้าใจในแนวนโยบายวิธีปฏิบัติของหน่วยงานราชการที่เข้ามาปฏิบัติกิจกรรมในชุมชน เข้ามาปฏิบัติหรือดำเนินกิจกรรมเสร็จแล้วไม่ได้สืบสานต่อทำให้ขาดความต่อเนื่อง ความท้ายทายอีกประการคือการขาดการรวมกลุ่มในการทำงานอย่างมั่นคง ผู้คนในชุมชนแห่งนี้เมื่อรวมกลุ่มทำกิจกรรมใดแล้วมักจะไม่ค่อยมีความมั่นคง การดำเนินการไปสักเวลาหนึ่งการรวมกลุ่มก็จะจางคลายหายไป สิ่งเหล่านี้เป็นความท้าทายในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ให้ประสบผลสำเร็จได้อย่างยั่งยืน
ผลลัพธ์และผลกระทบที่เกิดขึ้น
พอเพียง คนในชุมชนได้นำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ในชีวิตประจำ มีความพอประมาณไม่ฟุ้งเฟ้อ มีเหตุผลในการทำกิจกรรมต่างๆ โดยไม่ใช้อารมณ์เป็นที่ตั้ง และมีภูมิคุ้มกันที่ดี พร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลงของโลกและความเสี่ยงที่เกิดขึ้น
วินัย มีกฎระเบียบ ข้อตกลง ธรรมนูญของหมู่บ้านซึ่งได้ร่วมกันกำหนดขึ้นมาเพื่อให้ทุกคนได้ปฏิบัติตาม รวมไปถึงการเคารพกฎหมายบ้านเมืองไม่พึงทำสิ่งที่ผิดและคิดทำในสิ่งที่ชอบ
สุจริต เกิดความซื่อตรง สุจริต ยึดมั่นในการรักษาความจริง ความถูกต้อง ความเป็นธรรม ไม่เลือกการปฏิบัติต่อบุคคลใด หรือสถานการณ์ใด ร่วมกันรณรงค์ให้มีการต่อต้านการทุจริตทุกชนิด
จิตอาสา โดยธรรมชาติคุณลักษณะชนเผ่าภูไทมักจะเป็นคนที่มีจิตใจเอาใจใส่เอื้อเฟื้อ แก่บุคคลและสังคมสาธารณะด้วยการอาสาลงมือทำอย่างใดอย่างหนึ่งที่ตนเองไม่ได้มีหน้าที่ หรือมีสินจ้างรางวัลแต่ทำด้วยความมีน้ำจิตน้ำใจ
เป้าหมายที่จะเดินต่อ
คณะกรรมการพร้อมภาคีเครือข่ายร่วมกันกำหนดเป็นวิสัยทัศน์ไว้ว่า“ชุมชนพัฒนา มวลประชามีสุข”โดยกำหนดกลยุทธ์ในการพัฒนา คือ
๑.บูรณาการการทำงานร่วมกันของคนทุกกลุ่ม ทุกองค์กรในชุมชน
๒.อนุรักษ์ประเพณีอันดีงามถ่ายทอดให้เยาวชนคนรุ่นหลังได้สืบสานต่อ
๓.มุ่งมั่นสร้างสรรค์กิจกรรมกลุ่มจิตอาสาให้คงอยู่อย่างมั่นคงคู่ชุมชนต่อไป
๔.ผลักดันให้มีกิจกรรมที่สร้างสรรค์งานกีฬาเพื่อลูกหลานเยาวชนคนรุ่นใหม่ใจอาสา
๕.สร้างไมตรีทุกภาคส่วน คือ “บวร” ให้มีการประสานสร้างการพัฒนาชุมชนคุณธรรมต่อไป
๖.ร่วมจิตร่วมใจปลอดภัยจากโรคโควิด ๑๙ รณรงค์ให้ความร่วมมือป้องกันโรคระบาด
ข้อมูลติดต่อ
พระมหารถศรี ติกฺขปญฺโญ ๐๘๕-๕๒๔-๙๕๕๖
แสดงความคิดเห็น