“คนวัดขวางเป็นคนดี
มีสิ่งแวดล้อมดี มีรายได้ดี
มีสุขภาพดี และสังคมดี”
ชุมชนคุณธรรมวัดพร้าว เป็นชุมชนที่มีความเข้มแข็ง สามัคคี จิตอาสา พัฒนาอย่างต่อเนื่อง และปลอดภัยพร้อมสำหรับผู้มาท่องเที่ยวเยี่ยมเยือน ความสำเร็จของชุมชน อาทิเช่น กิจกรรมปฏิบัติธรรมประจำเดือน (ทุกวันที่ ๑๗ ของเดือน) การรวมกลุ่มสัจจะออมทรัพย์ การเข้าวัดวันอาทิตย์ การปลูกผักสวนครัวรั้วกินได้ และร่วมสืบสานศิลปะพื้นบ้าน โดยชมรมผู้สูงอายุวัดขวาง นำดนตรีพื้นบ้านถ่ายทอดและแสดงดนตรี ได้แก่ ลิเก ฉ่อย อังกะลุง ลำตัด ที่โรงเรียนวัดพร้าว โรงเรียนวัดขวางวิทยาลัยผู้สูงอายุ แสดงดนตรีใช้ดนตรีบำบัดผู้ป่วยที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลวัดขวางและร่วมสืบสานศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น เนื่องในวันสงกรานต์และวันลอยกระทง วัดพร้าวมีความโดดเด่นในมิติศาสนา นำหลักธรรมมาปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม ให้เด็ก เยาวชน ประชาชนให้ปฏิบัติตนเป็นคนดี นำหลักธรรมไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันและดำรงตนได้เป็นปกติ
กว่าจะมาเป็นวันนี้ เดิมชุมชนคุณธรรมวัดพร้าวมีปัญหาในชุมชนหลักๆ ๔ ประเด็น คือ
๑. ปัญหาเด็กและเยาวชน เนื่องจากเด็กติดเกม ติดโทรศัพท์มือถือ มีการแก้ปัญหาโดยใช้วัดเป็นศูนย์กลาง และเป็นที่รวมของกลุ่มเด็กและเยาวชน ซึ่งสามารถทำกิจกรรมในวัดได้ เช่น การจัดตั้งชมรมทูบีนัมเบอร์วัน การเป็นจิตอาสาออกเยี่ยมผู้สูงอายุ การทำกิจกรรมเพื่อหารายได้ให้กับชุมชน เช่น กิจกรรมสอยดาวการกุศล เพื่อนำเงินไปซื้อวัสดุอุปกรณ์ให้ผู้สูงอายุ เช่น กางเกงผ้าอ้อมผู้ใหญ่ และวัสดุอุปกรณ์อื่นๆ ที่ใช้ในในการดูลรักษาผู้สูงอายุขั้นพื้นฐาน
๒. ปัญหาหนี้สิน คนในชุมชนอพยพไปทำงานในต่างแดนเพื่อหารายได้มาจุนเจือครอบครัว ส่วนคนที่ไม่ได้อพยพโยกย้ายมีอาชีพทำนา ผู้นำชุมชนจึงมีโครงการทำนาแปลงใหญ่ เป็นการรวมกลุ่มเป็นศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีและการเกษตร ทำให้เป็นเครือข่ายที่มีอำนาจต่อรองในการซื้อปุ๋ย มีการแชร์ปุ๋ย แชร์พันธุ์ข้าวและขายผลิตภัณฑ์ แปรรูปข้าวไรซ์เบอรี่ ปัจจุบันสามารถจดทะเบียนเป็นรัฐวิสาหกิจชุมชน
๓. ปัญหาเรื่องผู้สูงอายุ มีผู้ป่วยติดเตียงและผู้สูงอายุคิดเป็น ๑๙ % ของชุมชน ทางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในเขตตำบลวัดพร้าวได้จัดงบประมาณสนับสนุนดูแลผู้สูงอายุระยะยาว โดยการจัดฝึกอบรมนักบริบารให้แก่คนในชุมชน ในกรณีที่ผู้สูงอายุต้องการผู้ช่วยเหลือ อีกทั้ง มีกิจกรรมพาพระเยี่ยมโยม นำโดยพระครูวิศษฎ์ ปริยัติคุณ เจ้าอาวาสวัดพร้าว ซึ่งมีมาแล้ว ๑๐ ปี
๔. ปัญหาเรื่องขยะ เกิดจากการแยกขยะไม่ถูกต้อง ชุมชนจึงมีข้อตกลงว่าไม่ให้มีถังขยะหน้าบ้าน การบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมจึงเป็นหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนตำบลวัดขวาง ได้มีการอบรมสร้างความรู้ ความเข้าใจการบริหารจัดการขยะอย่างเป็นระบบ นำขยะมาใช้ซ้ำ จัดทำธนาคารขยะ
เส้นทางสู่ความสำเร็จของการมาเป็นชุมชนต้นแบบ
นำโดยพระครูวิศิษฎ์ ปริยัติคุณ เจ้าอาวาสวัดพร้าว เจ้าคณะตำบลวัดขวางเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณของ “บวร” เป็นผู้บริหารที่มีวิสัยทัศน์และเป็นนักพัฒนา เป็นศูนย์รวมศรัทธาสร้างชุมชนให้เข้มแข็ง ทำให้ชุมชนเกิดการทำงานอย่างมีส่วนร่วม สามัคคี จิตอาสา ร่วมกันคิด ร่วมกันทำและพัฒนาชุมชนอย่างต่อเนื่อง เกิดการระเบิดจากข้างใน ขับเคลื่อนการทำงานด้วยพลัง “บวร” บ้าน วัด โรงเรียน ส่วนราชการ ไปพร้อมกันทั้งตำบล โดยมีเวที “ปรับทุกข์ สร้างสุข เพื่อชาวตำบลวัดขวาง” ทุกวันที่ ๑๐ ของเดือน เพื่อร่วมกันคิด วางแผน ดำเนินงาน แก้ไขปัญหา และติดตามผลร่วมกัน มีความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายในชุมชน รวมทั้งภาคประชารัฐในพื้นที่
ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น
คนในชุมชนประพฤติปฏิบัติตนโดยมีหลักปฏิบัติ ๓ มิติ
๑. ชุมชนมีความยึดมั่นและปฏิบัติตามหลักธรรมศาสนา ปฏิบัติธรรมประจำเดือน (ทุกวันที่ ๑๗ ของเดือน) ทำบุญ ตักบาตร ฟังธรรมะทุกวันพระและทุกวันอาทิตย์
๒. ด้านเศรษฐกิจพอเพียง การปลูกผัก และเก็บเกี่ยวผักปลอดผลผลิตต่างๆโดยปลอดสารพิษ
๓. ด้านวัฒนธรรม ประเพณี เช่น สงกรานต์สงน้ำพระ การทำบุญแจงในวันที่ ๑๔ เมษายน ถึงญาติผู้ล่วงลับ ประเพณีลอยกระทง จิตอาสาจัดกระทง จิตอาสามอบสิ่งของทำสอยดาว หารายได้บำรุงพระพุทธศาสนา
ชุมชนนำโดยผู้นำชุมชน ได้ร่วมกับประชาชนจัดกิจกรรมจิตอาสาต่างๆ เช่น จิตอาสาพัฒนาวัด พัฒนาชุมชน สาธารณประโยชน์ วันสำคัญทางศาสนา นอกจากนี้มีเวทีร่วมรับฟังปัญหาจากประชาชนและหาแนวทางแก้ไขร่วมกัน โดยมีการขับเคลื่อนบวรทั้งตำบลวัดขวาง ในการประชุมเวที ปรับทุกข์ สร้างทุกข์ ทุกวันที่ ๑๐ ของเดือน
เป้าหมายที่จะดำเนินต่อ
ชุมชนคุณธรรมวัดพร้าวมุ่งหวังให้ทุกคน ทุกครอบครัว ทุกชุมชน ทุกองค์กร มีการส่งเสริมคุณธรรมนำการพัฒนาให้คนในชุมชนปฏิบัติตามหลักธรรมทางศาสนา ดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และวิถีวัฒนธรรมที่ดีงาม โดยใช้มิติทางวัฒนธรรมในการสร้างความเข้าใจโดยใช้กลไกประชารัฐ ให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในชุมชน ทำให้คนในชุมชนมีความรักความสามัคคี มีกลุ่มอาชีพจากทุนทางวัฒนธรรม ตลอดถึงได้ร่วมกันอนุรักษ์สืบสานประเพณีวิถีชีวิตที่เป็นอัตลักษณ์ท้องถิ่นดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้าสู่ชุมชน สร้างรายได้ด้วยทุนและทรัพยากรทางวัฒนธรรม สินค้าและบริการทางวัฒนธรรม แก้ไขปัญหาพื้นฐานของชุมชน ด้วยกระบวนการมีส่วนร่วม “การระเบิดจากข้างใน”
ผู้ติดต่อในพื้นที่
นางบุญธรรม จ้อยสุดใจ มือถือ ๐๖๒-๑๔๖๑๖๑๔ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ ชุมชนคุณธรรมวัดพร้าว ตำบลวัดขวาง จังหวัดพิจิตร
แสดงความคิดเห็น