“ชุมชนวัดอรัญญานี มีคุณธรรม
นำพาสามัคคี วิถีชีวิตพอเพียง”
กว่าจะมาเป็นวันนี้
วัดได้ปลูกฝังให้คนในชุมชน มีความรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ โดยทางวัดจะจัดกิจกรรมวันสำคัญ นอกจากนี้ก็จะอบรมสั่งสอนคนในชุมชนให้มีคุณธรรม เพราะคุณธรรมจะเกิดขึ้นไม่ได้ง่ายๆ จะต้องอาศัยเวลา และอาศัยหลายฝ่ายช่วยกัน ทั้งทางวัด ทางบ้านคือครอบครัว และทางโรงเรียนหรือทางราชการช่วยกันฝึกอบรมบ่มนิสัย คุณธรรมนั้นจึงจะซึมซับอยู่ในตัวคน ทำให้คนในชุมชนมีคุณธรรม เมื่อคนมีคุณธรรมแล้วความสามัคคีย่อมเป็นผลตามมา
เส้นทางสู่ความสำเร็จของการมาเป็นชุมชนต้นแบบ
วัดอรัญญานี มีพระครูบวรธรรมรักขิตเป็นเจ้าอาวาส เป็นพระภิกษุที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ญาติโยมจึงศรัทธาเลื่อมใส ท่านได้อบรมพระภิกษุสงฆ์ สามเณรในวัดให้ประพฤติประพฤติชอบตามหลักพระธรรมวินัยของพระ ทำให้คนในชุมชนหันมาเข้าวัด ปฏิบัติธรรม ประพฤติตนเป็นคนดี มีศีลธรรม และคนในชุมชนจะให้ความร่วมมือในการจัดกิจกรรมต่างๆของวัด ตลอดทั้งของโรงเรียนหรือหน่วยงานราชการเป็นอย่างดี นั่นหมายถึงคนในชุมชนมีคุณธรรม มีความสามัคคีกัน และได้พร้อมใจกันนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ มาเป็นหลักในการดำรงชีวิต
และทางชุมชนได้ใช้วัดเป็นตัวช่วยสำคัญในการดำเนินการขับเคลื่อน ประกอบด้วย
๑.สร้างความศรัทธา ศรัทธาคือความเชื่อ เชื่อว่าการเข้าวัดปฏิบัติธรรม ปฏิบัติตามศีล ๕ ข้อ และประพฤติตนเป็นคนดีจะทำให้ตนเองมีความสุขและสังคมก็จะอยู่อย่างสงบสุข ผู้ที่เป็นแรงบันดาลใจให้ตนในชุมชนเข้าวัดปฏิบัติธรรมนั้นก็คือหลวงตาเลิศ
๒.เมื่อคนในชุมชนมีความศรัทธา ก็จะนำมาซึ่งความสามัคคี ความสามัคคีจะก่อให้เกิดพลังอันยิ่งใหญ่นำสู่การปฏิบัติงานต่าง ๆ ประสบผลสำเร็จ
๓.เมื่อมีพลังอันยิ่งใหญ่ก็ต้องมีผู้นำหรือผู้ใหญ่บ้านที่มีคุณธรรมที่จะนำพาชาวบ้านพัฒนาชุมชนของตนเองให้เจริญกว้าหน้า
๔.คนในชุมชนยังได้น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวในการดำเนินชีวิตเช่นคนในชุมชนส่วนมากจะประกอบอาชีพทำนา เมื่อเก็บเกี่ยวข้าวแล้ว ทางวัดก็จะจัดกิจกรรมบุญข้าว โฮมลานที่วัดอรัญญานี ในวันขึ้นปีใหม่ คนในชุมชนก็จะร่วมกันนำข้าวเปลือกมารวมกันทุกบ้าน พระคุณเจ้าในวัดก็จะเทศนา เรื่อง การน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นหลักในการดำเนินชีวิต ส่วนข้าวเปลือกที่ชาวบ้านนำมาถวายทางวัดก็จะเก็บไว้ใช้เมื่อทางวัดมีการจัดงานต่าง ๆ หรือมีผู้ขอรับบริจาคมาทางวัดก็จะจัดให้เช่นกัน เป็นหลักการพัฒนาจิตใจ คนในชุมชนให้เป็นคนรู้จักทาน รู้จักเสียสละ
ความท้าทาย
เกิดขึ้นทุกครั้งที่จะมีการจัดกิจกรรม แต่เมื่อผู้นำชี้แจงเหตุผลแล้วทุกคนในชุมชนเข้าใจ ยอมรับ และปฏิบัติตาม ทำให้ลดความขัดแย้งของคนในชุมชน เช่น การมาก่อสร้างศูนย์พักคอยที่ ศาลา ๑๒ เดือน วัดอรัญญานี คนและในชุมชนเกิดความไม่พอใจ ว่าจะนำเชื้อโรค โควิด -๑๙ เข้ามา พระครูบวรธรรมรักขิดก็ได้ชี้แจงให้กับญาติโยมที่มาวัดฟัง ตลอดทั้งพูดให้พระภิกษุสงฆ์ สามเณรที่มาคารวะท่านในวันเข้าพรรษาได้ฟัง ทำให้เกิดความเข้าใจ แล้วก็ช่วยกันสร้างศูนย์พักคอยที่ศาลา ๑๒ เดือนจนสำเร็จ
ผลลัพธ์และผลกระทบที่เกิดขึ้น
ภายหลังจากการดำเนินงานนั้นทำให้ชุมชนเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น แม้ว่าจะมีความขัดแย้งอยู่บ้าง แต่ก็สามารถแก้ไขได้ด้วยชุมชนเอง
ผลลัพธ์ - คนในชุมชนมีคุณธรรมด้านความสามัคคี มีจิตอาสา มีความรับผิดชอบ มีความซื่อสัตย์สุจริต มีความเสียสละ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ จนทำให้ชุมชนแห่งนี้มีความเข้มแข็ง สามารถทำกิจกรรมต่างๆ สำเร็จ สามารถรวมกลุ่มกัน ทำให้ชุมชนมีรายได้ โดยการจัดเป็นกลุ่มต่าง ๆ เป็นกลุ่มจำหน่ายสินค้าในชุมชน หรือที่เรียกว่ากลุ่ม OTOP จัดได้ ๑๐ กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มเครื่องหนัง กลุ่มสบู่บัวแดง กลุ่มชาบัวแดง กลุ่มทอเสื่อ กลุ่มทอผ้าขาวม้า กลุ่มจักสาน กลุ่มขนมทองม้วน กลุ่มปลาร้าไข่ กลุ่มนวดแผนไทย กลุ่มฟ้อนรำ
ผลกระทบ - คนในชุมชนบางคนไม่พอใจเมื่อจะทำกิจกรรมต่างๆ ในชุมชน โดยเฉพาะการประกาศขอรับบริจาค จากคนในชุมชน ผู้นำชุมชนก็จะนำเข้าประชุมปรึกษาหารือกัน หาทางออกโดยการประชุมชี้แจงให้เข้าใจกัน เช่น ถ้าท่านใดบริจาคเป็นทรัพย์ไม่ได้ เวลาพัฒนาหมู่บ้านหรือพัฒนาวัด หรือทำกิจกรรมใด ๆ ที่ออกแรงก็ขอให้ช่วยเหลือกัน ช่วยสังคม ทำให้ลดความขัดแย้งของคนในชุมชนลง จึงทำให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง และเมื่อคนในชุมชนทำความดี ผู้นำชุมชนก็จะประกาศชื่อออกตามหอกระจายข่าวหมู่บ้าน
เป้าหมายที่จะเดินต่อ
ชุมชน วัด และส่วนราชการ มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน นั่นคือเมื่อคนในชุมชนไม่เข้าใจในเรื่องอะไรก็ตาม ผู้นำชุมชนต้องประชุมชี้แจงให้เกิดความเข้าใจจึงจะทำให้ชุมชนมีความสามัคคี และอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข หรือคนในชุมชนช่วยกันชี้แจงอธิบายถึงปัญหาที่เป็นอยู่ให้คนในชุมชนที่ไม่เข้าใจให้เกิดความเข้าใจ เป็นการช่วยเหลือชุมชนได้เช่นเดียวกัน ความเข้าใจกันของคนในชุมชนเท่านั้นที่จะพัฒนาชุมชนได้อย่างยั่งยืน
ข้อมูลติดต่อ
พระครูสังฆรักษ์จีรัฐติกุล โอภาโส รองเจ้าอาวาสวัด ๐๙๔-๖๕๙- ๕๙๕๕
แสดงความคิดเห็น