community image

ชุมชนคุณธรรมวัดหนองวัลย์เปรียง

อ.สองพี่น้อง ต.ทุ่งคอก จ.สุพรรณบุรี
วันที่สร้างโพสต์ : 20 กันยายน 2567
วันที่อัปเดต : 1 ตุลาคม 2567
จำนวนผู้เข้าชม: 4 คน
cover

“ยิ่งให้ยิ่งได้ คำว่าให้ไม่สิ้นสุด”

 

กว่าจะมาเป็นวันนี้   

ชุมชนวัดหนองวัลย์เปรียง เดิมขาดการมีส่วนร่วมของวัด ประชาชน หน่วยงานและภาคส่วนต่างๆ โดยวัดจะเป็นผู้บริหารจัดการเอง จึงทำให้ไม่ค่อยมีประชาชนเข้าวัด เกิดช่องว่างระหว่างวัดกับชุมชนในเรื่องของความร่วมมือ ความสามัคคี ความเสียสละ การแบ่งปัน การมีน้ำใจ การช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เป็นการดำรงชีวิตแบบต่างคนต่างอยู่ มุ่งเน้นเฉพาะในเรื่องผลประโยชน์ของตนเอง ไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมมากนัก


เส้นทางสู่ความสำเร็จของการมาเป็นชุมชนต้นแบบ

ความสำเร็จของการเป็นชุมชนต้นแบบคุณธรรมของชุมชนวัดหนองวัลย์เปรียงนั้น เกิดจากผู้นำชุมชนโดยพระครูใบฎีกาสุรพล มหาปญฺโญ เจ้าอาวาสวัดที่มองเห็นถึงบทบาทของวัดในการให้ความช่วยเหลือ สังเคราะห์ชุมชนได้ โดยนำสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เป็นแกนหลักสำคัญในการพัฒนาชุมชน และทุกภาคส่วนบูรณาการทำงานแบบองค์รวม “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” ร่วมกับพลัง “บวร” อันเป็นแกนนำในการขับเคลื่อนดำเนินงาน โครงการ กิจกรรมต่างๆ มีวัดเป็นศูนย์รวมใจของชาวชุมชนด้วยหลักความเมตตา ด้วยการให้ อีกทั้งภาคประชารัฐในพื้นที่ และทุกคนในชุมชนมีส่วนร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมรับประโยชน์ โดยระเบิดจากข้างใน ตามความต้องการของชุมชน

         นอกจากนี้ยังมีภาคเอกชน (โรงงาน) เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนการพัฒนา โดยนำหลักธรรมคำสอนทางพระพุทธศาสนา หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และวิถี  วัฒนธรรมมาปรับประยุกต์ใช้ให้สอดคล้องกับพื้นที่ เกิดเป็นชุมชนแห่งการให้ การช่วยเหลือ การดูแลซึ่งกันและกันในทุกช่วงวัย ไม่มีการทอดทิ้ง เด็ก เยาวชน ผู้พิการ และผู้สูงอายุ ไว้ข้างหลัง

         โดยการดำเนินงานของชุมชนนั้นมีหลากหลายประการ อาทิ

งานศพ งานบวช โดยเริ่มจากการมีโอกาสไปงานต่างๆ และพบเห็นความเดือดร้อนในเรื่องค่าใช้จ่าย เกิดความสงสาร จึงรับมาเป็นภาระของวัด ทั้ง โลง ดอกไม้ เครื่องเสียง พิธีกร พระพร้อม สถานที่พร้อม สัปเหร่อ สวดฟรี น้ำหรือข้าวต้มที่ญาติโยมในพื้นที่ร่วมกันแบ่งเบาภาระจัดการให้

โรงทานเสบียงบุญ (เป็นประจำทุกวัน) ให้ผู้ที่ได้รับความเดือดร้อน ผู้มีรายได้น้อย อาทิ คนงานตามโรงงาน ชาวสวนชาวไร่ เด็กนักเรียน แรงงานชาวเมียนมาร์ และการมอบถุงยังชีพ ให้ผู้ป่วยติดเตียง ผู้สูงอายุ

ทุนการศึกษา ให้นักเรียน เรียนดี ประพฤติดี ยากจน ทั้งในและนอกพื้นที่ จำนวน ๕ โรงเรียน

การสร้างบ้านให้ผู้ยากไร้ งานปรับปรุงบ้านพักครู

งานอุปสมบทหมู่

ธนาคารขยะ

การปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรมให้คนในชุมชน อาทิ การจัดค่ายคุณธรรม สำหรับเยาวชน การส่งเสริมคุณธรรมในโรงงาน โดยให้คนงานมาถือศีลปฏิบัติธรรม เข้าวัด ทำบุญเป็นประจำทุกเดือน เป็นต้น


ความท้าทาย

         การปรับเปลี่ยนความคิดของประชาชนในพื้นที่ โดยการให้การช่วยเหลือผู้ที่ได้รับความเดือดร้อน มีคำพูดของเจ้าอาวาสที่ยืนยันว่า ไม่ท้อ ทั้งยังบอกด้วยว่า “อาตมาคิดว่า ยังมีสิ่งดีๆ ที่ควรทำอีกเยอะ ทุกวันนี้ยังเสียดายว่า เวลามันสั้น อยากมีเวลาเยอะๆ อยากมีหลายๆ มือ อยากทำสิ่งดีๆ ให้สังคม” โดยเริ่มลงมือทำให้ประชาชนเห็น โดยเป็นผู้ให้ก่อน เมื่อผู้นำชุมชนเป็นผู้ให้ และมีผู้เห็นก็ช่วยกันประชาสัมพันธ์บอกต่อถึงกิจกรรมที่ดีต่างๆ ของวัด ประชาชนเกิดความศรัทธาให้การสนับสนุน เกิดความสามัคคี ร่วมแรงร่วมใจ              ทั้งเรื่องของกำลังทรัพย์ กำลังสิ่งของ และกำลังกายหลั่งไหลมาเข้ามาในชุมชนอย่างต่อเนื่อง


ผลลัพธ์และผลกระทบที่เกิดขึ้น

         ทุกภาคส่วนในพื้นที่ทั้งประชาชน ส่วนราชการ ภาคเอกชน สถานศึกษา และโรงงาน เข้ามาสนับสนุน มีส่วนร่วมบูรณาการการทำงานร่วมกับชุมชน เกิดชุมชนที่เข้มแข็ง ก่อเกิดการเสียสละการแบ่งปันให้แก่ผู้อื่น เกิดความรักความสามัคคี แม้ในยามที่ประสบกับปัญหา หรือสถานการณ์ต่างๆ ก็จะมีผู้ให้ความช่วยเหลือและสามารถผ่านพ้นไปได้ เกิดการปลูกฝังคุณธรรม

 

เป้าหมายที่จะเดินต่อ

         ผลจากการดำเนินงานจนสำเร็จเป็นที่ประจักษ์แก่คนทั้งในและนอกชุมชนนั้น เป็นผลให้ทางชุมชนคุณธรรมวัดหนองวัลย์เปรียงมีความคิดที่จะขยายผลต่อไปเพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยการการปลูกฝังความเมตตา โดยเริ่มจากการ “ให้” ในใจของคนในชุมชน เพื่อให้การช่วยเหลือ   ผู้ยากไร้ ชุมชน และสังคม ตามหลักที่ว่า “เป็นผู้ให้ ย่อมเป็นที่รัก” 


ข้อมูลการติดต่อ

พระครูใบฎีกาสุรพล มหาปญฺโญ เจ้าอาวาสวัดหนองวัลย์เปรียง ๐๘๙-๒๕๘- ๖๗๗๙

ช่องทางติดต่อ
ติดต่อได้โดยตรง
พระครูใบฎีกาสุรพล มหาปญฺโญ เจ้าอาวาสวัดหนองวัลย์เปรียง ๐๘๙-๒๕๘- ๖๗๗๙

แสดงความคิดเห็น

profile