community image

กองทุนสวัสดิการตำบลโคกเพชร

อ.ขุขันธ์ ต.โคกเพชร จ.ศรีสะเกษ
วันที่สร้างโพสต์ : 20 กันยายน 2567
จำนวนผู้เข้าชม: 4 คน
cover

“ธรรมะสร้างสุขเพื่อสังคมสวัสดิการ”

ก่อนที่จะมีการก่อตั้งกองทุน ประชาชนในตำบลส่วนใหญ่ มีปัญหาความยากจน กลุ่มผู้ด้อยโอกาสถูกทอดทิ้ง คนในชุมชนต่างคนต่างอยู่ มีความเหลื่อมล้ำระหว่างคนที่มีฐานะกับคนยากจน

โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลโคกเพชร ได้มองเห็นความทุกข์ยากของคนในชุมชนและพบว่า ผู้ด้อยโอกาสที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาดังกล่าวมากที่สุดคือ กลุ่มผู้ติดเชื้อ HIV ที่นอกจากจะมีฐานะยากจนแล้ว ยังไม่ได้รับความช่วยเหลือจากกลุ่มต่างๆ อย่างจริงจัง ขาดความรู้และการเข้าถึงการรักษาพยาบาล เป็นเรื่องที่จะต้องสร้างความเข้าใจ สำหรับผู้ป่วยเองและญาติพี่น้องให้เกิดการยอมรับและอยู่ร่วมกันให้ได้ จึงได้มีการจัดตั้งองค์กรสาธารณประโยชน์ เพื่อดูแลผู้ด้อยโอกาสในตำบลโคกเพชรภายใต้ชื่อ “องค์กรใจสู้รู้รักสุขภาพ”

การก่อตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลโคกเพชร เริ่มจากทีมตำบลโคกเพชร ประกอบด้วย คณะเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลโคกเพชร อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และบุคลากรขององค์การบริหารส่วนตำบลโคกเพชร ซึ่งในส่วนแรกของการดำเนินงาน ได้พบเจอปัญหาและอุปสรรคหลายด้าน แต่จากการไม่ย่อท้อต่อปัญหาและอุปสรรค ในปีพ.ศ. ๒๕๕๑ กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลโคกเพชร จึงมีสมาชิกทั้งสิ้นจำนวน ๕๕๐ คน ซึ่งเป็นการเริ่มต้นได้ครบ ๑๑ หมู่บ้าน คิดเป็น ๑๐๐% ของพื้นที่ในตำบลโคกเพชร และมีคนทุกกลุ่มวัยได้เข้าร่วมเป็นสมาชิก


เส้นทางสู่ความสำเร็จของการมาเป็นชุมชนต้นแบบ

การสนับสนุนให้เกิดองค์กรด้านสาธารณะประโยชน์กองทุน มีที่มาของเงินสำหรับจัดสวัสดิการ ๒ ส่วน ได้แก่

๑.การจัดกิจกรรมเพื่อระดมทุน ซึ่งเป็นกิจกรรมที่มีการดำเนินการเป็นประจำและต่อเนื่อง เพื่อก่อให้เกิดรายได้ของกองทุนเพิ่มมากขึ้น

๒.กิจกรรมที่ระดมทุนจากการมีส่วนร่วมของประชาชน ภายใต้ชื่อ “ธรรมะสร้างสุขเพื่อสังคมสวัสดิการ” ซึ่งเป็นรายได้อีกส่วนหนึ่งที่กองทุน ได้รับการบริจาคมาจากประชาชน และผู้มีจิตศรัทธา ที่อาศัยอยู่ในตำบลโคกเพชรและตำบลใกล้เคียง นอกจากนี้กองทุนยังเป็นกองทุนหลัก ในการสนับสนุนให้เกิดองค์กรสาธารณประโยชน์ หรือกลุ่มองค์กรต่างๆ ในตำบล ได้แก่ ชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้าน สภาองค์กรชุมชน ชมรมผู้สูงอายุ สหกรณ์ร้านค้าตำบล และกองทุนผ้าอ้อมสำหรับผู้ป่วยติดเตียง

๓.มีกลไกหรือทีมงานที่มีบทบาทสำคัญ 

๓.๑ ทีมผู้นำชุมชนและเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ใช้กระบวนการสร้างการมีส่วนร่วมในทุกกลุ่มเป้าหมายที่เป็นสมาชิกกองทุนฯ และมีการดำเนินการอย่างน้อยปีละ ๓-๔ ครั้ง เพื่อระดมสมองและหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาหรือพัฒนาเป็นระยะๆ

๓.๒ทีม อสม.และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข โดยกระบวนการติดตามเยี่ยมบ้านในชุมชน สำหรับกลุ่มผู้ด้อยโอกาสและผู้สูงอายุ คนพิการ ที่ไม่สามารถมาติดต่อที่กองทุนได้

๓.๓ ผู้ดูแลผู้สูงอายุ (Care Giver: CG) ในการติดตามผู้สูงอายุติดบ้าน ติดเตียงที่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้

๔.การสร้างทีมนำจิตอาสา ซึ่งต้องอาศัยทีมงานที่มีความเสียสละ เข้าใจปัญหา รับฟัง พร้อมนำมาวิเคราะห์ และตรวจสอบย้อนกลับ เพื่อสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงประเด็น โดยกลุ่มจิตอาสาเหล่านั้น ก็มีฐานะไม่แตกต่างจากผู้ด้อยโอกาสในชุมชนมากนัก โดยมีรากฐานมาจากกลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน

๕.การสร้างกองทุนบุญ โดยมีฐานคิดที่ว่า“ทำบุญวันละ ๑ บาท ได้ช่วยชีวิตพี่น้องในตำบลอีกหลายชีวิต” ซึ่งทุกคนจะได้รับการมองเห็นไม่มีใครถูกทอดทิ้ง


ผลลัพธ์แห่งความสำเร็จ

ประชาชนในตำบลโคกเพชร มีกองทุนที่สามารถเป็นแหล่งทุนในการพึ่งพา ที่แม้จะไม่ได้มีเงินมาก แต่สามารถช่วยเยียวยาได้ ไม่ว่าจะเป็นด้านการขอความช่วยเหลือ ค่าพาหนะไปรับยา ขอรับคำแนะนำ ขอรับคำปรึกษา ขอรับสวัสดิการเกิด เจ็บ ตาย และที่สำคัญเป็นกองทุนที่หนุนเสริมให้เกิดความสามัคคี และการพัฒนาตำบลโคกเพชรอย่างแท้จริง จะสังเกตได้จากการเกิดขององค์กรต่างๆ

ระดับบุคคล : สมาชิกของกองทุนสามารถกู้เงินส่งลูกเรียนจนจบระดับปริญญาตรีได้ จนมีอาชีพที่มั่นคง จำนวน ๔ ราย และกำลังศึกษาในระดับปริญญาตรี จำนวน ๖ ราย

ระดับครอบครัว : ครอบครัวที่มีความอบอุ่น มีความรักในครอบครัว มีการดูแลกัน มีการออมเงินเพื่อแม่ - พ่อ / ออมเงินเพื่อลูก 

ระดับของชุมชน : เป็นฐานที่หนุนเสริมให้ตำบลโคกเพชร ก้าวมาเป็นตำบลอันดับต้นๆ ของอำเภอขุขันธ์ และเป็นตัวอย่างของการดำเนินงาน เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนได้เป็นอย่างดี เข้าใจ เข้าถึง พึ่งได้ พัฒนาคน ชุมชนและสังคมได้เป็นอย่างดี


ก้าวต่ออย่างมีคุณธรรม

ยึดมั่นในการเป็นกองทุนสวัสดิการชุมชน ที่เกิดจากความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง ไม่นำเรื่องการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องหรือแบ่งฝักแบ่งฝ่ายของแกนนำใดๆ ในชุมชน และจะดำเนินการให้ความช่วยเหลือประชาชนให้ตรงกลุ่มเป้าหมาย และตรงประเด็นเหมือนเช่นที่ผ่านมา           


ช่องทางติดต่อ

แสดงความคิดเห็น

profile