“เหล่างิ้วสดใส ต้นไทรบึงงาม เรืองนามพระหยกขาวใหญ่
ผู้คนล้วนมีน้ำใจ เลื่อมใสในวัฒนธรรม ผู้นำเร่งพัฒนา ชาวประชาร่วมใจ”
กว่าจะมาเป็นวันนี้
ชุมชนคุณธรรมวัดบ้านเหล่างิ้ว เป็นชุมชนที่มีวิถีชีวิตแบบชาวชนบท ประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ด้วยพื้นที่มีแหล่งน้ำให้ใช้ได้ตลอดทั้งปี จึงสามารถทำนาได้ทั้งข้าวนาปี และข้าวนาปรัง นอกจากนี้ยังมีอาชีพเสริมอื่นๆ อาทิ ทอผ้า รับจ้างทั่วไป ชุมชนนิยมตั้งบ้านเรือนอยู่เป็นกลุ่มตามสายเครือญาติ เรียกกันว่าคุ้ม เป็นชุมชนที่มีความสัมพันธ์ทางเครือญาติที่แน่นแฟ้น คนในชุมชนนับถือศาสนาพุทธ มีการนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต ยึดถือปฏิบัติตามจารีตประเพณีฮีต ๑๒ คลอง ๑๔
เส้นทางสู่ความสำเร็จของการมาเป็นชุมชนต้นแบบ
วัดบ้านเหล่างิ้ว โดยการนำของเจ้าอาวาส พระครูปลัดหฤษฎ์ ญาณกาโร ซึ่งเป็นพระนักคิด นักพัฒนาที่มีความสามารถ ได้รวมกลุ่มผู้สูงอายุและผู้ที่สนใจมาคิดริเริ่มทำกิจกรรมต่างๆ เช่น โครงการเยี่ยมไข้ผู้ป่วยติดเตียง การส่งเสริมและเฝ้าระวังโรคเรื้อรังในชุมชน โครงการศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ เป็นต้น ล้วนแล้วแต่เกิดจากการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน อีกทั้งยังได้นำหลักการ “บวร” มาสร้างความเข้มแข็งของชุมชน โดยมีการบูรณาการกับทุกภาคส่วนในพื้นที่ วัดเป็นศูนย์กลางในการจัดกิจกรรม โดยในการจัดกิจกรรมมีการสร้างการรับรู้ ความเข้าใจ ร่วมกันกำหนดแนวทางของชุมชน กำหนดผู้รับผิดชอบ ส่งผลให้การดำเนินงาน ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่ชุมชนร่วมกันกำหนดไว้
นอกจากนี้ยังเป็นชุมชนที่มีความเข้มแข็งทางด้าน พอเพียง วินัย สุจริต จิตอาสา ซึ่งจิตอาสาของชุมชนคุณธรรมวัดบ้านเหล่างิ้ว เป็นอีกกำลังสำคัญที่มีส่วนในการขับเคลื่อนกิจกรรมทางด้านสังคมให้กับชุมชน อีกทั้งชาวบ้านส่วนใหญ่ได้นำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต โดยยึดหลักความพอเพียงรู้จักการใช้จ่ายไม่ฟุ่มเฟือย การปลูกผัก การแปรรูปวัตถุดิบที่มีในชุมชนจนทำให้เกิดรายได้ มีการจัดตั้งกลุ่มเพื่อแปรรูปอาหาร เช่น การทำแหนมเห็ด ผลิตภัณฑ์ชุมชน เช่น การทอเสื่อกก มาลัยกรผ้าขาวม้า มีการแบ่งพื้นที่ภายในวัดบางส่วนให้คนในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมกับวัด เช่น การปลูกพืชผักสวนครัว โดยไม่ใช้สารเคมีหรือยาฆ่าแมลงต่างๆ เกิดการร่วมกลุ่มเพื่อการฝึกอาชีพ เช่น การถ่ายทอดวิธีการทอเสื่อกกให้กับเยาวชน โดยได้ร่วมกับ ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย
ความท้าทาย
ข้อจำกัดของการขับเคลื่อนการพัฒนาชุมชนวัดบ้านเหล่างิ้วนั้น ส่วนหนึ่งก็มาจากเรื่องของงบประมาณยังไม่เพียงพอ ในการจัดกิจกรรม/โครงการแต่ละครั้งจำเป็นต้องมีงบประมาณมาสนับสนุนให้การดำเนินงานสำเร็จลุล่วง ส่วนความท้าทายอื่นเป็นในส่วนของประชาชนยังไม่มีความรู้ เข้าใจในการส่งเสริมพัฒนาชุมชนให้เกิดความยั่งยืน การเปลี่ยนผ่านระหว่างช่วงวัยของคนในชุมชน ผู้ใหญ่ที่เป็นผู้สูงวัยยังมีความยึดมั่นในความคิดและวิถีชีวิตแบบเดิมในอดีตไม่อยากเปลี่ยนแปลง รวมทั้งการไม่เข้าใจในแนวนโยบายวิธีปฏิบัติของหน่วยงานราชการที่เข้ามาบูรณาการจัดกิจกรรมร่วมกับชุมชน
ผลลัพธ์และผลกระทบที่เกิดขึ้น
จากการที่คนในชุมชนได้นำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มาใช้เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต ทำให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีกลุ่มอาชีพ กลุ่มจิตอาสาบำเพ็ญประโยชน์เพื่อส่วนรวม และกลุ่มออมทรัพย์ต่างๆ เกิดขึ้นในชุมชน ผลิตภัณฑ์ของชุมชนมีหลากหลาย คนในชุมชนมีอาชีพ มีรายได้ ประกอบกับการนำหลักคุณธรรม ๔ ประการ พอเพียง วินัย สุจริต จิตอาสา มาใช้ในการพัฒนาชุมชน ก่อให้เกิดความสามัคคีปรองดองกัน มีความเสียสละ รู้จักแบ่งปัน เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ โดยเฉพาะในการจัดกิจกรรมคนในชุมชนจะให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีมาก ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมสร้างประโยชน์ให้กับชุมชนของตนเอง แสดงออกถึงความมีจิตอาสา และอีกประการก็คือการน้อมนำหลักธรรมทางพระพุทธศาสนามาเป็นแนวทางประพฤติปฏิบัติในชีวิตประจำวัน ทำให้คนทุกช่วงวัยหันมาเข้าวัดทำบุญมากยิ่งขึ้น รวมทั้งเข้าร่วมกิจกรรมในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาเป็นประจำ นอกจากนี้การที่หน่วยงานภาคส่วนต่างๆ ในพื้นที่ได้เข้ามาดำเนินการจัดกิจกรรมร่วมกับชุมชน เกิดการทำงานแบบบูรณาการร่วมกัน ชุมชนมีความเข้มแข็ง สามารถดำเนินงานกิจกรรมต่างๆ เพื่อส่งเสริมและพัฒนาชุมชนให้ยั่งยืนต่อไป
เป้าหมายที่จะเดินต่อ
ชุมชนคุณธรรมวัดบ้านเหล่างิ้ว ได้ร่วมกันกำหนดทิศทางการดำเนินงานพัฒนาชุมชน โดยมุ่งหวังที่จะสร้างกลุ่มอาชีพในชุมชนให้มีเพิ่มมากขึ้น และพัฒนาผลิตภัณฑ์ของชุมชนให้มีมูลค่า และบรรจุภัณฑ์ที่สวยงามโดดเด่น เพื่อที่จะสร้างงาน สร้างอาชีพให้กับคนในชุมชน เช่น กลุ่มทอผ้าขาวม้า เนื่องจากชุมชนวัดบ้านเหล่างิ้ว มีผ้าขาวม้าทอมือซึ่งผลิตจากคนในชุมชนเอง และมีความต้องการที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์โดยการออกแบบทำเป็นผ้าขาวม้ามาลัยกร และออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้สวยงาม สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า เมื่อผลิตภัณฑ์ของชุมชนมีความหลากหลายและโดดเด่นน่าสนใจ สามารถที่จะจำหน่ายผ่านช่องสื่อออนไลน์ และจำหน่าย ณ สถานที่ตั้งของกลุ่มอาชีพในชุมชน นอกจากนี้สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยว หรือผู้ที่สนใจเข้ามาเยี่ยมเยือนยังชุมชนได้ นับเป็นการช่วยเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ชุมชนได้ด้วยอีกทางหนึ่ง ก่อให้เกิดผลิตภัณฑ์ของชุมชนที่มีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย
ข้อมูลติดต่อ
พระครูปลัดหฤษฎ์ ญาณกาโร ๐๘๑๐๖๐๑๑๘๙
แสดงความคิดเห็น