กว่าจะมาเป็นวันนี้
พระครูถาวรนพรัฐ เจ้าอาวาสวัดศรีนวรัฐ เจ้าคณะตำบลบ้านกลาง เขต ๒ ประธานชุมชนคุณธรรมวัดศรีนวรัฐ ขับเคลื่อนการดำเนินงานชุมชนคุณธรรมวัดศรีนวรัฐ ด้วยพลังบวรอย่างเข้มแข็ง ได้หลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนา และแนวคิดตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มาเป็นแนวทางในการขับเคลื่อนชุมชน โดยมีเป้าหมายให้คนในชุมชนเป็นคนดี มีความสุข เกิดความรัก ความสามัคคี ยึดมั่นในหลักธรรมทางศาสนา รักษาศีล ๕ โดยมีคณะบริหารโครงการร่วมขับเคลื่อนตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๕๒ จนถึงปัจจุบัน ซึ่งสอดคล้องกับการขับเคลื่อนด้วยพลังบวร บ้าน วัด โรงเรียน/ราชการ
เส้นทางสู่ความสำเร็จของการมาเป็นชุมชนต้นแบบ
๑.ชุมชนมีการบูรณาการการทำงานร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรมด้วยหลักพลังบวรซึ่งประกอบด้วย ผู้นำทางศาสนาเป็นแกนกลางในการขับเคลื่อน ผู้นำชุมชน ได้แก่ ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ ๓ รวมทั้ง กำนันตำบลบ้านกลาง ได้เป็นแรงสนับสนุนช่วยเหลือกิจกรรมงานภายในชุมชนได้อย่างเข้มแข็ง รวมทั้งหน่วยงานภาคราชการในพื้นที่ได้มาใช้ พื้นที่ของชุมชน ในการดำเนินงานต่างๆ ในการพัฒนาต่อยอดทุนทางวัฒนธรรม มีการจัดตั้งคณะกรรมการชุมชน ร่วมกันขับเคลื่อนงานภายในชุมชน
๒.คนในชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรม มีการจัดตั้ง คณะกรรมการชุมชน ให้คณะทำงานแกนนำได้มีบทบาท และมีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรม มีการมอบหมายหน้าที่ให้ คณะกรรมการแต่ละฝ่ายดูแล รับผิดชอบในการบริหารงาน และกระจายงาน ให้คนในชุมชนรู้สึกว่าตนเองได้เป็น ส่วนหนึ่งของงานหรือกิจกรรมที่เกิดขึ้น เพื่อสร้างพลังและความภาคภูมิใจให้แก่คนในชุมชนไทเขินบ้านทุ่งเสี้ยว
๓.หน่วยงานภาครัฐ เอกชน ให้การสนับสนุนในเรื่องการขับเคลื่อนงาน ด้านศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรมในพื้นที่ ส่งเสริมให้ชุมชนมีศักยภาพ ความพร้อมในการสร้างความเข้มแข็งในชุมชนได้ มีการพัฒนาต่อยอดทุนทางวัฒนธรรม ให้ได้เข้าร่วมเป็นชุมชนคุณธรรมวัดศรีนวรัฐ เกิดการรวมตัวกันของคนในชุมชน จัดตั้งตลาดชุมชนเพื่อชุมชน เป็นตลาดชุมชนไทเขิน กาดก้อม กองเตียว ซึ่งเป็นตลาดถนนสายวัฒนธรรม แห่งที่ ๙๒ โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรมกระทรวงวัฒนธรรม
๔.ชุมชนมีการบริหารจัดการชุมชน ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-๑๙ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดนั้นทางชุมชน มีมาตรการในการสร้างความรับรู้การป้องกันโควิด-๑๙ ตามมาตรการสาธารณสุข โดย อสม.ประจำหมู่บ้าน มีการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนในชุมชนโดยมีเครือข่ายเฝ้าระวัง ช่วยเหลือ ฟื้นฟู สร้างมาตรการของการอยู่ร่วมกัน มีจิตอาสาภายในชุมชน ประสานการดูแลช่วยเหลือกันภายในชุมชนสำหรับผู้ป่วยที่ต้องรักษาตัวและผู้สัมผัสเสี่ยงสูงที่ต้องกักตัว โดยมีเพื่อนบ้าน คนในชุมชนจัดหาอาหารน้ำดื่ม และประสานภารกิจงานที่ต้องติดต่อกับบุคคลภายนอก เช่น การชำระค่าน้ำค่าไฟ และกิจกรรมส่งเสริมรายได้ให้กับผู้ได้รับผลกระทบ เรามีคนที่ตกงานกลับบ้าน โดยเปิดพื้นที่ขายสินค้าในกาดก้อมกองเตียวให้ชาวบ้านได้เข้ามาค้าขายและเพิ่มรายได้ ซึ่งชุมชนมองว่าจะนำไปสู่การสร้างความเข้มแข็งของชุมชนอย่างยั่งยืน แลเห็นได้จากช่องทางสื่อสารเผยแพร่ต่างๆ ในขณะเดียวกัน ภาคเครือข่ายต่างๆ ถือมีบทบาทมากทีเดียวที่เข้าถึงชุมชน
ความท้าทาย
ชุมชนคุณธรรมวัดศรีนวรัฐ เป็นชุมชนที่ผู้นำเข้มแข็งสามารถขับเคลื่อนชุมชนให้เป็นชุมชนที่มีคุณธรรมได้อย่างโดดเด่น โดยใช้พลังบวรมีความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน เข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนชุมชนคุณธรรม อีกความท้าทายหนึ่งคือการดำเนินการเป็นชุมชนด้านการท่องเที่ยว “ชุมชนยลวิถี” ซึ่งชุมชนได้ร่วมกันขับเคลื่อนเรื่องการท่องเที่ยว และสร้างรายได้ให้กับชุมชน ได้จัดการท่องเที่ยวแบบมีส่วนร่วม โดยมีการจัดกิจกรรมที่เป็นวิถีดั้งเดิมของชุมชนไทเขิน เช่น การทำบุญตักบาตร การ ทำอาหารพื้นบ้าน งานฝีมือ การละเล่น การแสดงพื้นบ้าน การเรียนรู้อาชีพ การเข้าเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์เรือนไทเขิน และวิถีชีวิตของชุมชน แต่ติดปัญหาอุปสรรคเกี่ยวกับโรคโควิด-๑๙
ผลลัพธ์และผลกระทบที่เกิดขึ้น
คนในชุมชนคุณธรรมต้นแบบ วัดศรีนวรัฐ อำเภอสันป่าตอง ได้มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนชุมชนคุณธรรม และชุมชน “ยลวิถี” การร่วมมือกันในการจัดกิจกรรมต่างๆในชุมชน เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เกิดความรัก ความสามัคคี ร่วมกันคิด ร่วมทำ มีจิตอาสาร่วมกัน และเกิดความหวงแหนในโบราณสถาน โบราณวัตถุ วิถีชีวิตของคนไทเขิน เห็นผลประโยชน์ส่วนรวมเป็นสำคัญ โดยใช้หลักธรรมทางศาสนาในการดำเนินชีวิต
เป้าหมายที่จะเดินต่อ
ชุมชนคุณธรรมต้นแบบ วัดศรีนวรัฐ จะดำเนินการขับเคลื่อนสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน โดยใช้หลักธรรมทางศาสนามาเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ ร่วมกันทำความดี สร้างประโยชน์ให้กับชุมและในชุมชนมีการดำเนินการขับเคลื่อนและบริหารจัดการการท่องเที่ยวของชุมชน ทุกๆคนในชุมชนมีส่วนร่วม มีจิตอาสาในการจัดกิจกรรม เพื่อให้เกิดรายได้ให้คนในชุมชน เกิดประโยชน์ต่อชุมชน เพื่อความยั่งยืน ทำให้เป็นชุมชนที่มีความสุขตลอดไป
ผู้ติดต่อในพื้นที่
พระครูถาวรนพรัฐ เจ้าอาวาสวัดศรีนวรัฐ
๐๘๑-๘๘๓-๒๘๖๒
แสดงความคิดเห็น