community image

ชุมชนคุณธรรมวัดสูงเม่น

อ.สูงเม่น ต.สูงเม่น จ.แพร่
วันที่สร้างโพสต์ : 20 กันยายน 2567
จำนวนผู้เข้าชม: 16 คน
cover

“เมืองคัมภีร์ใบลาน ถิ่นกำเนิดครูบามหาเถร  สืบสานประเพณีตากธัมม์

พิพิธภัณฑ์คัมภีร์ใบลานล้านนา

ปวงประชาเป็นสุขด้วยกระบวนการพลังบวร”

ชุมชนคุณธรรมวัดสูงเม่น เป็นชุมชนที่มีอัตลักษณ์โดดเด่นเรื่องเมืองคัมภีร์ธัมม์โบราณ โดยพระมหาเถระนักปราชญ์ของล้านนา คือ หลวงปู่ครูบากัญจนอรัญวาสีมหาเถร ปฐมสังฆ ครูบาแห่งล้านนา เป็นผู้สร้างและรวบรวมคัมภีร์ใบลานล้านนา ภายในวัดมีสถาปัตยกรรมที่แฝงด้วยคติธรรมล้านนามากมาย ชุมชนมีประเพณีที่สำคัญ ซึ่งเป็นประเพณีที่เกี่ยวกับการอนุรักษ์คัมภีร์ธรรมใบลาน คือ ประเพณีตากธัมม์ เป็นประเพณีที่มีแห่งเดียวในโลก

เพื่อเป็นการสานต่อเจตนารมณ์ของหลวงปู่ครูบากัญจนอรัญวาสีมหาเถร ชุมชนจึงได้ร่วมกันอนุรักษ์ประเพณีพร้อมดำเนินกิจกรรมที่ส่งเสริมให้เกิดความสามัคคีในชุมชน โดยใช้รูปแบบการพัฒนาชุมชนด้วยกระบวนการอนุรักษ์คัมภีร์ใบลาน


เส้นทางสู่ความสำเร็จของการมาเป็นชุมชนต้นแบบ

ชุมชนคุณธรรมวัดสูงเม่นมีการถอดบทเรียน “สูงเม่นโมเดล” รูปแบบและแนวทางการบูรณาการ องค์ความรู้เรื่องคัมภีร์ใบลานกับการท่องเที่ยวเชิงศาสนาและวัฒนธรรมของวัดสูงเม่น โดยพระครูวิบูลสรภัญ ตำแหน่งรองเจ้าอาวาสวัดสูงเม่น และผู้อำนวยการสถาบันอนุรักษ์คัมภีร์ใบลานวัดสูงเม่น และนายอภิลักษณ์ เกษมผลกูล ประธานศูนย์สยามทรรศน์ศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ในหัวข้อ

๑)ภูมิหลังของวัดสูงเม่น

๒)พลังแห่งศรัทธา จุดเริ่มต้นการพัฒนาวัดสูงเม่นสู่การท่องเที่ยวเชิงศาสนา

๓)คัมภีร์ธัมม์โบราณ การบูรณาการความรู้ทางศาสนากับการท่องเที่ยววัดสูงเม่น


“พลังแห่งศรัทธา”จึงเป็นจุดเริ่มต้นการพัฒนาวัดสูงเม่นสู่การท่องเที่ยวเชิงศาสนาโดยปฏิบัติตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ผ่านกระบวนการอนุรักษ์คัมภีร์ใบลาน โดยใช้หลักในการพัฒนาชุมชน ประกอบด้วย

ศรัทธา การสร้างความศรัทธาให้คนในชุมชนหันมาสนใจในวัด

ศีล จัดตั้งสถาบันอนุรักษ์คัมภีร์ใบลานวัดสูงเม่น

สมาธิ กำหนดประเพณีธัมม์ ๑๒ เดือน เพื่อให้คนในชุมชนได้ร่วมงานบุญ

ปัญญา การนำองค์ความรู้ที่ได้จากการจัดกิจกรรมมาสรุปและจัดทำเป็นแหล่งเรียนรู้ในชุมชน

เมตตา ถ่ายทอดองค์ความรู้ สู่ชุมชน และสาธารณะชนในรูปแบบต่างๆ

คัมภีร์ธัมม์โบราณ การบูรณาการความรู้ทางศาสนากับการจัดการท่องเที่ยววัดสูงเม่น ซึ่งการบูรณาการเป็นกิจกรรมการท่องเที่ยวของวัดสูงเม่นนี้ แบ่งออกได้เป็น ๒ ลักษณะคือ กิจกรรมของนักท่องเที่ยวโดยทั่วไป และ กิจกรรมพิเศษประจำเดือน หรือปฏิทินท่องเที่ยวธัมม์ ๑๒ เดือน อาทิ เดือนมกราคม ประเพณีตากธัมม์ ตานข้าวใหม่ หิงไฟพระเจ้า กุมภาพันธ์ ประเพณีไหว้ครูธัมม์ เดือนมีนาคม ประเพณีถวายน้ำดื่มลานธัมม์ เดือนเมษายน ประเพณีบวชธัมม์ เฉลิมพระเกียรติ เป็นต้น


ความท้าทาย/พลังแห่งการขับเคลื่อน

แนวคิดในการนำคัมภีร์ออกมาจากหอธัมม์ ให้คนได้เห็นและสัมผัสเป็นเรื่องของความเชื่อว่าจะไม่เป็นมงคล ซึ่งได้มีการพิสูจน์ภายหลังว่าไม่เป็นความจริง การนำคัมภีร์ออกมาตรวจเช็คความเสียหายจากการจัดเก็บจึงเป็นเรื่องที่ดี และยังทำให้ชาวบ้านได้เห็นและสัมผัสคำสั่งสอนผ่านคัมภีร์โบราณนี้ ทำให้เข้าใจถิ่นที่มาของบรรพบุรุษเดียวกัน ส่งผลให้เกิดความรัก ความสามัคคีในชุมชน และได้สร้างความร่วมมือในการทำกิจกรรม

ผลลัพธ์แห่งความสำเร็จ

ชุมชนคุณธรรมวัดสูงเม่น คัมภีร์ธัมม์โบราน เป็นศูนย์การเรียนรู้ซึ่งมีคัมภีร์ใบลานมากที่สุด ได้ออกแบบการพัฒนาชุมชน ผ่านกระบวนการอนุรักษ์คัมภีร์ใบลาน ตามหลักพระพุทธศาสนา เป็นชุมชนที่พึ่งตนเองได้ด้วยพลังบวร สมาชิกในชุมชนมีความ พอเพียง ดำเนินชีวิตอย่างเป็นสุข พฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น ปัญหาต่างๆ ในชุมชนลดลง มีความรักสามัคคีร่วมกันสืบสาน งานบุญและปฏิบัติตามประเพณีด้านศาสนา ความเชื่อและประเพณี ชื่อว่า ธัมม์ประเพณี ๑๒ เดือน เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่สำคัญของประเทศไทย


ก้าวต่ออย่างมีคุณธรรม

         เป้าหมายสำคัญสูงสุด คือ การพัฒนาแหล่งเรียนรู้การอนุรักษ์มรดกภูมิปัญญาด้านคัมภีร์ธัมม์ใบลาน ให้เป็นระบบเป็นต้นแบบ ด้วยกระบวนการวัฒนธรรม และเทคโนโลยี ตามรอยธัมม์หลวงปู่ครูบามหาเถร และมีการเผยแพร่ อบรม ถ่ายทอดองค์ความรู้ที่ถูกต้อง จากคัมภีร์ใบลาน และจากภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อประโยชน์แก่คนในชุมชนวัดสูงเม่นสืบไป


ผู้ประสานงานในพื้นที่

พระครูวิบูลสรภัญ ดร. ผู้อำนวยการสถาบันอนุรักษ์คัมภีร์ใบลาน วัดสูงเม่น 

โทร ๐๖๑ ๖๓๔ ๗๙๖๒

ช่องทางติดต่อ
ติดต่อได้โดยตรง
พระครูวิบูลสรภัญ ดร. ผู้อำนวยการสถาบันอนุรักษ์คัมภีร์ใบลาน วัดสูงเม่น โทร ๐๖๑ ๖๓๔ ๗๙๖๒

แสดงความคิดเห็น

profile