“ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมประเมินผล
ให้ชุมชนพึ่งพาตนเอง”
กองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลศรีถ้อย ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ ๑ เดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๓ วัตถุประสงค์การจัดตั้งเพื่อส่งเสริมการจัดสวัสดิการด้านการเกิด การเจ็บป่วย การเสียชีวิต การช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส การส่งเสริมอาชีพ การอนุรักษ์ฟื้นฟูป่าไม้ต้นน้ำลำธาร โดยใช้กระบวนการมีส่วนร่วม ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมประเมินผล ร่วมรับผลประโยชน์ และให้ชุมชนพึ่งตนเองสามารถจัดการแก้ไขปัญหาของตนเองได้
สร้างฝาย สร้างชีวิต
: ปัญหาที่อยากแก้ ความดีที่อยากทำ
ในปี ๒๕๕๙ สมาชิกกองทุนฯและสมาชิกในชุมชนประสบปัญหาฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล น้ำในลำธารแห้งขอด เพราะเกิดจากสภาพอากาศ และการตัดไม้ทำลายป่า ไม่มีองค์ความรู้ด้านการอนุรักษ์ฟื้นฟูป่าไม้ต้นน้ำอย่างยั่งยืน ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรเสียหาย เช่น ลิ้นจี่เสียหาย ๒,๐๐๐ ไร่ ชาวนาไม่สามารถทำนาในเขตพื้นที่นอกชลประทาน ๕๐๐ ไร่
กองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลศรีถ้อย เทศบาลตำบลศรีถ้อย สภาองค์กรชุมชนตำบลศรีถ้อย กลุ่มผู้ใช้น้ำห้วยเคียน สมาชิกในชุมชนบ้านปางปูเลาะ บ้านผาแดง และผู้นำชุมชน สนับสนุนให้สมาชิก ได้รู้และตระหนักถึงความสำคัญเรื่องการชะลอน้ำไว้ในพื้นที่ต้นน้ำบนภูเขาปางปูเลาะ ต้นน้ำห้วยเคียน เพื่อประโยชน์ในการทำการเกษตร และป้องกันภัยพิบัติ โดยการทำฝายชะลอน้ำตามแนวพระราชดำริ(ฝายแม้ว) ให้เต็มพื้นที่ เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวซึ่งได้ดำเนินโครงการและกิจกรรมเกี่ยวกับอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้ต้นน้ำลำธาร โดยการสร้างเครือข่ายดำเนินงาน พร้อมเรียนรู้จากนักวิชาการและจากการปฏิบัติจริง
โครงการคุณธรรมสร้างสำนึกรักบ้านเกิด
๑)โครงการป่าชุมชนภายใต้กิจกรรมปลูกต้นไม้และทำฝายชะลอน้ำ ดำเนินกิจกรรมสร้างฝายชะลอน้ำ พื้นที่ต้นน้ำศรีถ้อย บริเวณบ้านปางปูเลาะ เน้นประหยัดใช้วัสดุจากพื้นถิ่น ชะลอและกั้นทางน้ำไว้เพื่อประโยชน์ในการดักตะกอนและชะลอความชุ่มชื้นให้ดินสามารถดูดซับน้ำไว้ให้นานที่สุด สามารถทำฝายได้ ๔๐ ฝาย
๒)โครงการเยาวชนจิตอาสาสร้างฝายชะลอน้ำ ดำเนินการโดยส่งเสริมให้เยาวชนรักบ้านเกิดมีส่วนร่วมอนุรักษ์ฟื้นฟูธรรมชาติโดยทำฝายชะลอน้ำ ณ ต้นน้ำห้วยเคียน สร้างฝายชะลอน้ำได้ ๕๐ ฝาย
๓)โครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าต้นน้ำศรีถ้อยเพื่อความยั่งยืนในการดำรงชีพ กิจกรรมประชุมคณะกรรมการดำเนินงาน เพื่อวางแผนการส่งเสริมการทำฝายชะลอน้ำอย่างต่อเนื่องและวิเคราะห์ผลการดำเนินงาน ที่ผ่านมา ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ
เส้นทางสู่ความสำเร็จ :
สร้างคน สร้างเครือข่าย สร้างองค์ความรู้
๑)สร้างกลุ่มคนทำงานประกอบด้วย สภาเด็กและเยาวชนตำบลศรีถ้อย สมาชิกกองทุนฯ สมาชิกในชุมชนบ้านป่างปูเลาะ เป็นต้น
๒)สร้างเครือข่าย ในการดำเนินงานมีความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายดังนี้
๒.๑ มูลนิธิอุทกพัฒน์ในพระบรมราชูประถัมภ์ ให้ความรู้หลักการทำฝายชะลอน้ำตามแนวพระราชดำริ เน้นประหยัดใช่วัสดุในท้องถิ่น
๒.๒ศูนย์พัฒนาราษฎรบนพื้นที่สูงจังหวัดพะเยา ช่วยกระบวนการทำแผนการดำเนินงานให้หน่วยพิทักษ์อุทธยานแห่งชาติ
๓)สร้างองค์ความรู้ มีความรู้เรื่องการอนุรักษ์ฟื้นฟูป่าต้นน้ำ เช่น การทำฝายชะลอน้ำตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ ๙ การทำข้อมูลแหล่งน้ำ การทำผังน้ำ แผนดำเนินงานแผนพัฒนา เรียนรู้ในทางวิชาการ เรียนรู้จากการปฏิบัติ
ผลลัพธ์แห่งความสำเร็จ
การดำเนินโครงการและกิจกรรมดังกล่าว กองทุนฯอาศัยหลักการบูรณาการความร่วมมือกับเครือข่ายทั้งภาครัฐ เอกชนและประชาชนในพื้นที่ เกิดความตระหนักหวงแหนทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ เกิดฝายชะลอน้ำ ๓๐๐ ฝาย ซึ่งชะลอน้ำและดักตะกอนได้เป็นระยะทางกว่า ๕ กิโลเมตร ส่งผลให้ป่าไม้มีความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติ เป็นแหล่งอาหารให้แก่สมาชิกในชุมชน ที่สำคัญคือ มีข้อมูลผังน้ำและปริมาณน้ำของตำบลศรีถ้อยรวมถึงเกิดแผนการพัฒนาการอนุรักษ์ฟื้นป่าไม้และต้นน้ำศรีถ้อย และบรรจุไว้ในแผนพัฒนา ๔ ปี ของเทศบาลตำบลศรีถ้อย การทำงานโดยใช้ข้อมูล ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมประเมินผล ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า “ฝายเพื่อชีวิต สร้างสวัสดิการระยะยาวให้แก่คนในชุมชน” อย่างแท้จริง
ผู้ประสานงานในพื้นที่ :
นายประทีป ภาชนนท์ ผู้ประสานงาน
เบอร์โทรศัพท์: ๐๘๙ ๒๖๖ ๙๓๘๙
แสดงความคิดเห็น