community image

ชุมชนคุณธรรมบ้านหนองสะแกกวน

อ.โนนดินแดง ต.ส้มป่อย จ.บุรีรัมย์
วันที่สร้างโพสต์ : 20 กันยายน 2567
จำนวนผู้เข้าชม: 0 คน
cover

“คัดแยกขยะทุกเวลา

ใช้ตะกร้าแทนถุง

ปรับปรุงสิ่งแวดล้อม

น้อมนำสุขภาพดี

บนวิถีความพอเพียง”


         บ้านหนองสะแกกวน เดิมเป็นเขตพื้นที่ของบ้านส้มป่อย หมู่ ๗ ตำบลปะคำ อำเภอละหานทราย จังหวัดบุรีรัมย์ ต่อมาปี พ.ศ.๒๕๑๒ มีราษฎรอพยพถิ่นฐานจากต่างจังหวัดเข้ามาอยู่อาศัยบ้านส้มป่อยเป็นจำนวนมาก จึงได้มีการขยายตัวของชุมชนโดยพากันบุกรุกป่าสงวนและจับจองที่อยู่อาศัยและที่ทำกินเป็นของตัวเอง บรรพบุรุษส่วนใหญ่เป็นชาวอีสาน ใช้ภาษาอีสานลาว และเขมร ในการสื่อสาร คนในชุมชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทำนา ทำไร่ และรับจ้าง มีร้านขายของชำในชุมชน และกลุ่มอาชีพในชุมชน คือ กลุ่มสิ่งประดิษฐ์จากขยะรีไซเคิล กลุ่มทำตะกร้าพลาสติก กลุ่มทำโต๊ะ เก้าอี้จากหวายเทียม อุตสาหกรรมในชุมชน มีโรงสีข้าวทั้งขนาดใหญ่ ขนาดเล็ก


เส้นทางสู่ความสำเร็จของการมาเป็นชุมชนต้นแบบ

๑.มีแผนงานและนโยบายในการสนับสนุนชุมชนในพื้นที่ ของนายกเทศมนตรีตำบลโนนดินแดงในการพัฒนาด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมแบบยั่งยืน โดยมีกิจกรรมต่างๆมากมาย เช่น กิจกรรมการปลูกป่าทดแทน กิจกรรมรณรงค์ใช้จักรยานในการเดินทาง กิจกรรมจัดค่ายเยาวชนในชุมชนอาสาพัฒนาอนุรักษ์ป่ารักษ์น้ำ กิจกรรมเชิงอนุรักษ์พันธุ์พืชท้องถิ่น เป็นต้น

๒.ใช้การมีส่วนร่วมของประชาชนในการวางแนวนโยบาย การวางแผนงานผ่านโครงการเวทีประชาคมของเทศบาล เพื่อให้ชุมชนได้เสนอปัญหาและความต้องการ

๓.มีข้อตกลงหรือกฎระเบียบของชุมชนและถือปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง ด้วยความมุ่งมั่นอันจะนำไปสู่จุดหมายร่วมกัน

๔.การนำคณะกรรมการชุมชน แกนนำชุมชน ไปศึกษาดูงานโดยเฉพาะการบริหารจัดการเรื่องขยะ การทำเกษตรอินทรีย์ การบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมที่ดี

๕.ใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เน้นการปลูกผักปลอดสารพิษ พืชสมุนไพร โดยการใช้ปุ๋ยหมักหรือน้ำหมักชีวภาพที่ผลิตขึ้นเอง

๖.ใช้พลังความศรัทธาที่มีต่อพระพุทธศาสนาและความเคารพนับถือต่อพระมหานริทร์เทพ นรินทฺโต (พระมหาน้อย) เจ้าอาวาสวัดบ้านหนองสะแกกวน ที่เป็นตัวอย่างและเข้าร่วมกิจกรรมการจัดการขยะ ให้เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจคนในชุมชนในการบริหารจัดการขยะ โดยเนื้อหาข้อตกลง / กฎระเบียบในการจัดการขยะ มีดังนี้ ๑)การจัดการขยะอินทรีย์ที่ย่อยสลายได้ง่าย เช่น เศษอาหาร เศษผัก ผลไม้ ฯลฯ ประกอบด้วย กิจกรรมทำปุ๋ยหมัก กิจกรรมการทำน้ำหมักชีวภาพ กิจกรรมส่งเสริมการเลี้ยงสุกรและส่งเสริมการเลี้ยงไส้เดือน ๒)การจัดการขยะที่สามารถนำกลับมาใช้ได้ใหม่ (ขยะรีไซเคิล )ประกอบด้วย กิจกรรมการซื้อขยะรีไซเคิลและการนำขยะมาแลกสินค้าร้านค้าขยะเพิ่มทรัพย์ ๓)การคัดแยกขยะทั่วไป การสนับสนุนให้แต่ละครัวเรือนได้เก็บถุงพลาสติกและนำกลับมาใช้ซ้ำหรือมาประดิษฐ์เป็นสิ่งของเครื่องใช้ เช่น กระเป๋าจากซองใส่กาแฟ/ถุงพลาสติก โดยสิ่งประดิษฐ์ที่ได้จะนำไปจำหน่าย หรือเป็นของที่ระลึกให้คณะศึกษาดูงาน ๔)การคัดแยกขยะอันตรายในครัวเรือนออกจากขยะประเภทอื่น และจะนำส่งไปที่ศูนย์บริหารจัดการขยะชุมชน และรอส่งมอบให้เทศบาลตำบลโนนดินแดงนำไปกำจัดตามหลักสุขาภิบาล


ผลลัพธ์แห่งความสำเร็จ

๑.กรรมการชุมชน คณะทำงาน และคนในชุมชน มีความรู้ความเข้าใจด้านชุมชนปลอดขยะเป็นอย่างดี มีวินัยและจิตสำนึกในการดำเนินกิจกรรม ภายใต้พันธกิจ “คัดแยกขยะทุกเวลา ใช้ตะกร้าแทนถุง ปรับปรุงสิ่งแวดล้อม น้อมนำสุขภาพดี บนวิถีความพอเพียง”

๒.การเป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชน การดำเนินกิจกรรมด้านการบริหารจัดการขยะมูลฝอยดีเด่น จึงทำให้ได้รับความสนใจและมีผู้มาศึกษาดูงานเป็นจำนวนมากทั้งจากท้องถิ่นอื่น หน่วยงานราชการต่างๆ รวมทั้งภาคเอกชนและภาคประชาชน

๓.ได้รับรางวัลเกี่ยวกับการจัดการขยะ เช่น ชนะเลิศอันดับที่ ๑ โครงการโตโยต้าลดเมืองร้อนด้วยมือเราปีที่ ๑๑ รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ ๑ โครงการประกวดชุมชนปลอดขยะ (Zero Waste) เฉลิมพระเกียรติ ๘๘ ชุมชน ๘๘ พรรษา ปีพ.ศ. ๒๕๕๘

๔.เกิดศูนย์เศรษฐกิจพอเพียงขึ้นเพื่อเป็นแบบอย่างให้กับคนในชุมชน มีการปลูกพืชผักสวนครัว โดยใช้ปุ๋ยจากมูลไส้เดือน ปุ๋ยหมัก น้ำหมักชีวภาพที่ผลิตขึ้นเอง มีการเลี้ยงปลาดุก เลี้ยงกบคอนโด ซึ่งผลผลิตที่ได้ปลอดสารพิษ เป็นการลดรายจ่ายเพิ่มรายได้และประชาชนยังมีสุขภาพดี อายุยืนยาว

๕. เป็นชุมชนที่เน้นการพึ่งพาตนเองอย่างแท้จริง มีการรวมกลุ่มแม่บ้านในชุมชนทำสิ่งประดิษฐ์จากวัสดุรีไซเคิล เป็นการสร้างงานและสร้างรายได้ เกิดการจัดตั้งธนาคารขยะ “ธนาคารขยะเพิ่มทรัพย์” เพื่อเป็นศูนย์การเรียนรู้ และรับซื้อขยะต่างๆในชุมชน โดยจะออกรับซื้อขยะสัญจรทุกเดือน เสร็จแล้วจะนำขยะไปขายให้กับธนาคารขยะของทางเทศบาล รายได้จากการดำเนินกิจกรรมนั้น ได้นำมาบริหารจัดการพัฒนาชุมชนต่อไป


ช่องทางติดต่อ

แสดงความคิดเห็น

profile