community image

ชุมชนคุณธรรมบ้านคลองหรั่ง

อ.กงหรา ต.คลองทรายขาว จ.พัทลุง
วันที่สร้างโพสต์ : 20 กันยายน 2567
จำนวนผู้เข้าชม: 2 คน
cover

“บ้านคลองหรั่งต้นแบบการพัฒนาชุมชนเพื่อสังคมที่ยั่งยืน”


สืบเนื่องจากชุมชนบ้านคลองหรั่งมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดปัญหาตามมามากมาย แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งคือ ความขัดแย้ง และความไม่เข้าใจกันภายในชุมชน อีกทั้งชาวบ้านขาดความรู้ความเข้าใจด้านการบริหารจัดการ และที่สำคัญคือคุณธรรม รวมทั้งชุมชนยังไม่มีแผนรองรับการจัดการกับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของสังคมภายใต้กระแสโลกาภิวัฒน์ ซึ่งเป็นสิ่งละเอียดอ่อนและท้าทายต่อการพัฒนา

ภายในชุมชนมีแหล่งท่องเที่ยวที่สวยงาม คือน้ำตกปากราง และมีการพัฒนาส่งเสริมให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ ทำให้ชุมชนมีอาชีพ มีรายได้มากขึ้นจากการท่องเที่ยวซึ่งเป็นโอกาสที่ดีที่เกิดขึ้นในชุมชน แต่ในขณะเดียวกันปัญหาที่เกิดตามมาคือ ชาวบ้านมีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่ได้รับ ไม่พอใจกับการจัดการของชุมชน และปัญหาความขัดแย้งเริ่มทวีความรุนแรงมากขึ้น


กระบวนการพัฒนา : จากความขัดแย้งสู่ความเข้าใจ

ปัญหาที่เกิดขึ้นจึงต้องมีการจัดกระบวนการสร้างความเข้าใจภายในชุมชนเพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาและฟื้นฟูความสัมพันธ์ ซึ่งกระบวนการดังกล่าวนี้สามารถแบ่งออกได้เป็นขั้นตอน คือ

๑)การสร้างความรู้ (Appreciation : A) เป็นการเรียนรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ขั้นตอนนี้จะเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมประชุมทุกคน แสดงความคิดเห็น รับฟังและหาข้อสรุปร่วมกันอย่างสร้างสรรค์เป็นประชาธิปไตยยอมรับในความคิดของเพื่อนสมาชิก โดยใช้การวาดรูปเป็นสื่อในการแสดงความคิดเห็น และแบ่งเป็น ๒ ส่วน ได้แก่ส่วนการวิเคราะห์สภาพการของหมู่บ้าน และส่วนการกำหนดอนาคตหรือวิสัยทัศน์ อันเป็นภาพพึงประสงค์ในการพัฒนาว่าต้องการอย่างไร

๒)ขั้นตอนการสร้างแนวทางการพัฒนา (Influence : I) คือขั้นตอนการหาวิธีการและเสนอทางเลือกในการพัฒนา ตามที่ได้สร้างภาพพึงประสงค์ หรือที่ได้ช่วยกันกำหนด วิสัยทัศน์ (A2) เป็นขั้นตอนที่จะต้องช่วยกันหามาตรการ วิธีการและค้นหาเหตุผลเพื่อกำหนดทางเลือกในการพัฒนา กำหนดเป้าหมาย กำหนดกิจกรรม และจัดลำดับความสำคัญของกิจกรรมหรือโครงการ โดยแบ่งเป็น 2 ช่วง คือ การคิดออกแบบเกี่ยวกับกิจกรรมโครงการที่จะทำให้บรรลุวัตถุประสงค์ และการจัดลำดับความสำคัญของกิจกรรมหรือโครงการ

๓)ขั้นตอนสร้างแนวทางปฏิบัติ (Control : C) คือยอมรับและทำงานร่วมกัน โดยนำเอาโครงการหรือกิจกรรมต่างๆ มาสู่การปฏิบัติ และจัดกลุ่มผู้ดำเนินการที่รับผิดชอบโครงการ โดยขั้นตอนกิจกรรมประกอบด้วย การแบ่งความรับผิดชอบ และการตกลงใจในรายละเอียดของการจัดทำแผนปฏิบัติ


ผลลัพธ์และความสำเร็จ

จากการร่วมกันทำงานอย่างเป็นขั้นตอน ทุกขั้นตอนมีชาวบ้านร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการคิด ส่งผลให้เกิดประโยชน์แก่ชาวบ้านและชุมชนอย่างชัดเจน ในเรื่องของความเข้าใจในทิศทางเดียวกัน ทำให้ชาวบ้านเกิดความรักในชุมชน ให้ความร่วมมือกับกิจกรรมของชุมชน เช่นกิจกรรมทำปุ๋ย กิจกรรมเก็บขยะภายในหมู่บ้าน กิจกรรมพัฒนาน้ำตกปากราง ทำให้ชาวบ้านเกิดความเห็นอกเห็นใจ สั่งสมความมีน้ำใจและเอื้อเฟื้อ จนหมู่บ้านสามารถพัฒนาเป็น “ชุมชนคุณธรรม” หลักยึดในการอยู่ร่วมกัน ภายใต้สังคมที่เปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง และใช้หลักการดำเนินชีวิต บนพื้นฐานของ ความพอเพียง มีวินัย มีใจสุจริต และจิตอาสา เกิดการพัฒนาชุมชนเข้มแข็ง เป็นสุขอย่างแท้จริง

เป้าหมายและแนวทางที่จะพัฒนาต่อไป  การสร้างสังคมที่ดี มีความสุข ต้องอาศัยหลายๆ ในองค์ประกอบ แต่สิ่งสำคัญยิ่งคือการสร้างความเข้าใจในชุมชน เพื่อลดภาวะความขัดแย้ง ส่งเสริมให้เกิดความรัก ความกลมเกลียวกันภายในชุมชน เพื่อเป็นการส่งเสริมให้ชุมชนเกิดความรัก ความสามัคคี มีคุณธรรมนั้น ควรมีการจัดกิจกรรมที่ช่วยส่งเสริมให้ชาวบ้านร่วมกันทำอย่างต่อเนื่อง และควรเป็นกิจกรรมที่เป็นรูปธรรม เพราะเมื่อชาวบ้านเห็นผลงานก็จะเกิดความรักความภูมิใจ ที่ได้ร่วมกันสร้างและเป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จนั้น


ผู้ประสานงานติดต่อในพื้นที่ :

นางปรีดา คงเกลี้ยง

ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ ๒ บ้านคลองหรั่ง ตำบลคลองทรายขาว อำเภอกงหรา จังหวัดพัทลุง

โทรศัพท์ ๐๘๕ ๗๘๗ ๙๕๗๑

ช่องทางติดต่อ
ติดต่อได้โดยตรง
นางปรีดา คงเกลี้ยง ๐๘๕ ๗๘๗ ๙๕๗๑

แสดงความคิดเห็น

profile