“ชุมชนโนนอุทุมพร ชุมชนโปร่งใส
ใส่ใจสิ่งแวดล้อม”
กว่าจะมาเป็นวันนี้
ชุมชนโนนอุทุมพร มีสภาพเป็นชุมชนเมือง เดิมนั้นสภาพความเป็นอยู่ต่างคนต่างอยู่ ไม่ค่อยได้พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันมากนัก ถึงแม้จะมีประธานชุมชนและคณะกรรมการชุมชนที่คอยดูแลปัญหา ความต้องการของพี่น้องประชาชนในชุมชน แต่การพบปะการพูดคุยสื่อสารกันในชุมชนมีไม่มากนัก เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่ต้องประกอบอาชีพ การประชุมรับทราบข้อมูลข่าวสารต่างๆมีน้อย เมื่อเกิดปัญหาต่างๆขึ้น ประชาชนจึงต้องพึ่งตนเอง แก้ปัญหาด้วยตนเอง
เส้นทางสู่ความสำเร็จของการมาเป็นชุมชนต้นแบบ
ด้วยเหตุอันเนื่องมาจากการที่ชุมชนโนนอุทุมพรรับรู้ข้อมูลข่าวสารจากทางเทศบาล และเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ของเทศบาลมากขึ้น ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันในสังคม จำเป็นต้องมีการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน รวมไปถึงเกิดการแลกเปลี่ยนกัน ทำให้ผู้นำในชุมชนได้ปรึกษาหารือกันที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมคนในชุมชนให้มีเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กัน รักและสามัคคีในชุมชน จนเกิดแนวคิดในการกระตุ้นคนในชุมชนโดยใช้หลักการมีส่วนร่วม อาศัยความร่วมมือให้คนในชุมชนได้ ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมรับผลประโยชน์ด้วยการปลูกฝังแนวคิดการจัดการสิ่งแวดล้อมในชุมชน เริ่มต้นการดำเนินงานโดยการปลูกฝังแนวคิดดังกล่าวแก่เด็ก เยาวชนในพื้นที่ เพื่อที่จะได้ขยายแนวคิดไปยังพ่อแม่ผู้ปกครอง โดยการสร้างความรู้ความเข้าใจ สร้างความตระหนักรู้ให้แก่คนในชุมชน มีกระจายข่าวสาร ข้อมูลต่างๆ ผ่านการรวมกลุ่ม จากกลุ่มเล็กๆ จนกลายเป็นกลุ่มที่ใหญ่ขึ้น ให้ครอบคลุมทุกครัวเรือนในชุมชน ให้หันมาใส่ใจสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชน รวมไปถึงสภาพความเป็นอยู่ของคนที่อยู่ในชุมชนให้มากขึ้น เพื่อนำไปสู่การร่วมมือกันในการระดมความคิดเพื่อหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาด้านต่างๆ จนนำไปสู่คุณภาพชีวิต สภาพสังคมที่ดีขึ้น
ความท้าทาย
ความท้าทายและอุปสรรคที่เกิดขึ้นเนื่องจาก สภาพชุมชนเป็นชุมชนเมืองที่ประชาชนส่วนใหญ่ใช้เวลาในการประกอบสัมมาอาชีพ ซึ่งมีทั้งประชากรในชุมชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพรับจ้าง และค้าขาย จึงไม่มีเวลาในการรวมกลุ่มเพื่อประกอบกิจกรรมในชุมชนผู้นำชุมชนพร้อมด้วยอาสาสมัครในชุมชนจึงได้ทำงานในเชิงรุก ลงพื้นที่ตามบ้านเพื่อดูแลลูกบ้านพร้อมทั้งให้ข้อมูลข่าวสารต่างๆ จึงได้เกิดความร่วมมือและการสนับสนุนเกื้อกูลซึ่งกันและกันมีการจัดทำข้อมูลชุมชน เพื่อจะนำไปประกอบในการประสานความร่วมมือ
ผลลัพธ์และผลกระทบที่เกิดขึ้น
๑.พอเพียง - คนในชุมชนปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมในชุมชน ไม่เบียดเบียนกันและกัน รู้จักรักษาสภาพแวดล้อมในชุมชน ปลูกพืชผักกินเองในครัวเรือน และมีการแบ่งปันให้กับเพื่อนบ้าน
๒.วินัย - คนในชุมชนมีความรักและสามัคคี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กัน และรักษาระเบียบวินัยในชุมชน ไม่สร้างความเดือดร้อนวุ่นวายให้กับเพื่อนบ้าน มีการปฏิบัติตามกติกา ข้อตกลงของชุมชน
๓.สุจริต - คนในชุมชนประกอบอาชีพด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต ไม่เบียดเบียนผู้อื่น คนที่มีเหลือได้แบ่งปันให้กับคนที่ขาดแคลน
๔.จิตอาสา - คนในชุมชนมีการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน พึ่งพากัน มีการรวมกลุ่มกันเพื่อทำกิจกรรมในชุมชนมากขึ้น และมีอาสาสมัครในชุมชนที่ทำงานในเชิงรุก คอยช่วยเหลือพี่น้องในชุมชนในสถานการณ์ต่างๆ
๕.กตัญญู - มีการรวมกลุ่มกันเพื่อจัดกิจกรรมในการรักษาความสะอาดในชุมชน การจัดการสิ่งแวดล้อมรอบๆ ชุมชน ตลอดจนโครงการลดปริมาณขยะในครัวเรือน ทำให้ชุมชนสะอาด หน้าบ้านน่ามอง การปลูกผักสวนครัว รั้วกินได้ เพื่อลดรายจ่าย ทำให้คนในชุมชนไม่เดือดร้อน ไม่เกิดการขาดแคลน ประชาชนไม่เดือดร้อน จึงไม่เกิดการลักเล็กขโมยน้อย
นอกจากนั้นแล้วยังเกิดการรวมกลุ่มกันทำกิจกรรมในชุมชน เช่น การจัดการขยะและสิ่งแวดล้อมในชุมชน การรวมกลุ่มเพื่อส่งเสริมอาชีพ การจัดตั้งทีมอาสาสมัครในชุมชน ตลอดจน การร่วมกันจัดกิจกรรมที่สืบสานวัฒนธรรมประเพณีในชุมชน ทำให้ชุมชนเป็นชุมชนที่มีความรักใคร่ สามัคคี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กัน
อีกทั้งการจัดกิจกรรมในชุมชนโนนอุทุมพร ไม่ว่าจะเป็นด้านการจัดการขยะและสิ่งแวดล้อมในชุมชน ได้รับการยอมรับจากหน่วยงานภายในและภายนอกจังหวัด และได้รับการยอมรับให้เป็นชุมชนต้นแบบนำร่องด้านสิ่งแวดล้อมยั่งยืน จากกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทำให้มีผู้มาเยี่ยมเยือนการดำเนินงานของชุมชนอย่างต่อเนื่อง
เป้าหมายที่จะเดินต่อ
ผลจากการดำเนินงานจนประสบผลสำเร็จเป็นที่ประจักษ์นั้น ชุมชนต้องการก้าวสู่การเป็นต้นแบบด้านคุณธรรมของจังหวัด และเป็นที่ยอมรับในระดับประเทศ โดยชุมชนมีผู้นำชุมชนและอาสาสมัครในชุมชนที่ร่วมแรง ร่วมใจทำงานเพื่อชุมชน มีจิตอาสาคิดช่วยเหลือโดยไม่หวังสิ่งตอบแทน ด้วยเหตุนี้เองทำให้ชุมชนเข้มแข็ง กลายเป็นที่ยอมรับ และเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับชุมชนอื่นได้เข้ามาศึกษาดูงานเพื่อนำไปปรับใช้ให้เข้ากับบริบทชุมชนของตนได้
ข้อมูลติดต่อ
นางวิภาพร ธีระธรรม ๐๘๙-๒๗๘-๕๒๐๗
แสดงความคิดเห็น