“โพนสูงล้ำค่า ศาลตาปู่ช้าง ลำน้ำบริบูรณ์
ดินมูลตะกอนหกสิบล้านปี วิถีเกษตรขอบเมือง”
กว่าจะมาเป็นวันนี้
วัดโคกประดู่ตั้งเมื่อพ.ศ. ๒๕๒๒ สังกัดมหานิกาย ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๖ ที่มาของชื่อสันนิษฐานว่าในอดีต บริเวณนี้ต้นประดู่ขึ้นเป็นจำนวนมาก ชาวบ้านจึงเรียกว่า โคกประดู่ แต่ปัจจุบันไม่มีแล้ว เนื่องจากชาวบ้านได้ตัดต้นไม้ไปสร้างบ้านเรือน ที่อยู่อาศัย วัดโคกประดู่ เป็นศูนย์รวมจิตใจ และการทำกิจกรรมต่างๆ ของชุมชนบ้านโพนสูง
เส้นทางสู่ความสำเร็จของการมาเป็นชุมชนต้นแบบ
ชุมชนวัดโคกประดู่ โพนสูงเป็นพื้นที่เกษตรกรรมที่มีความเป็นธรรมชาติตั้งอยู่ใจกลางเมืองโคราช ขณะเดียวกันพื้นที่บริเวณเมืองโคราชถือเป็นแหล่งทำเลทอง มีการขยายพื้นที่สร้างเป็นอาคาร โรงแรม และบ้านจัดสรรเพิ่มขึ้น ทำให้ชุมชนที่มีวิถีชีวิตดั้งเดิม มีอาชีพทำนา ปลูกผัก แล้วส่งผลผลิตขายตามท้องตลาด อาจมีรายได้ไม่ได้มาก เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้หลายครอบครัวตัดสินใจขายที่ดินให้กับโครงการหมู่บ้านจัดสรร แต่มีคนกลุ่มหนึ่งนำโดยผู้ใหญ่บ้านอรุณ ขันโคกสูงที่มีความเข้มแข็ง ตั้งใจที่จะดำรงพื้นที่แห่งนี้ให้คงอยู่ และคงอัตลักษณ์เดิมของชุมชน คือเป็นชุมชนที่มีวิถีเกษตรกรรมแบบผสมมีการปลูกข้าว และทำผลิตภัณฑ์แปรรูปจากพืชผลทางการเกษตร เกิดการรวมกลุ่มทำอาชีพ
พระมหาพงษ์ศักดิ์ ผลฌาโน เจ้าอาวาสวัดโคกประดู่ ที่ปรึกษาการดำเนินงาน และนายอรุณ ขันโคกสูง ผู้ใหญ่บ้านโพนสูง เป็นศูนย์กลางในการบริหารจัดการชุมชน ใช้หลักธรรมาภิบาลในการบริหาร มีความรู้ความสามารถ แสวงหาความรู้และคิดต่อยอดอยู่เสมอ บริหารจัดการชุมชนจนส่งผลให้ชุมชนได้เป็นศูนย์การเรียนรู้ เป็นแหล่งศึกษาดูงานให้กับหน่วยงาน องค์กรต่างๆ ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างชุมชนที่เป็นศูนย์การเรียนรู้และหน่วยงานของผู้ศึกษาดูงาน นำสิ่งที่ดีของแต่ละฝ่ายมาแลกเปลี่ยนกัน เพื่อพัฒนาตนเอง ให้ดีมากยิ่งขึ้น มีการวางแผน มีการเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ ชุมชนมีการบูรณาการทำงานร่วมกันของชุมชน วัด โรงเรียน/ส่วนราชการ อย่างเป็นรูปธรรมส่งผลให้การดำเนินงานต่างๆ ของชุมชนสำเร็จลุล่วงตามวัตถุประสงค์
ความท้าทาย
“เพราะเราเป็นเรา เขาจึงมา” คอนเซ็ปต์สั้นๆ เกิดจากคนของบ้านโพน ที่มีความหวงแหนและต้องการอนุรักษ์ถิ่นฐานและอาชีพเกษตรกรรม ให้คงอยู่ให้ได้ท่ามกลางสังคมเมือง ใจกลางจังหวัดนครราชสีมา ที่เต็มไปด้วยตึกรามบ้านช่องขนาดใหญ่ รวมไปถึงหมู่บ้านจัดสรรทั้งหลายที่ผุดขึ้นมากมายหลายโครงการ
บ้านโพนสูงเดิมเป็นหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งศึกษาเรียนรู้วิถีชีวิตเศรษฐกิจแบบพอเพียงผ่านสื่อวิดีทัศน์ โดยทางชุมชนนั้นได้รับคำปรึกษาจากมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชในการบริหารจัดการ ความเป็นอยู่ การอยู่ร่วมกัน การอยู่โดยปราศจากโรค การหารายได้ ทำเอง กินเอง ใช้เอง เหลือก็นำไปจำหน่าย จึงเกิดความคิดในการรวมกลุ่มอาชีพต่างๆ ร่วมกันพิจารณาปัญหาที่เกิดขึ้น และหาวิธีแก้ไข
ผลลัพธ์และผลกระทบที่เกิดขึ้น
ชุมชนคุณธรรมวัดโคกประดู่ ตำบลหมื่นไวย อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา เป็นชุมชนเกษตรกรรมที่มีธรรมชาติตั้งอยู่ใจกลางเมืองโคราช แต่ยังคงอัตลักษณ์เดิมของชุมชน คือเป็นชุมชนที่มีวิถีเกษตรกรรมแบบผสมมีการปลูกข้าวและทำผลิตภัณฑ์แปรรูปจากพืชผลทางการเกษตร มีการรวมกลุ่มทำอาชีพ อาทิ การทำขนมไทย ทำน้ำมะนาว น้ำหม่อน หมูหลุม ฟาร์มจิ้งหรีด นำนาบัว สวนฝรั่ง และสวนมะพร้าว เป็นต้น ทำให้มีข้าราชการ และกลุ่มเกษตรกรหลายแห่งมาดูงานเป็นจำนวนมาก ดังคำขวัญของชุมชน“โพนสูงล้ำค่า ศาลตาปู่ช้าง ลำน้ำบริบูรณ์ ดินมูลตะกอนหกสิบล้านปี วิถีเกษตรขอบเมือง” จุดเด่นที่สำคัญของชุมชน คือ การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม และวิถีเกษตรขอบเมือง เป็นศูนย์เรียนรู้โครงการอันเนื่องมากจากพระราชดำริ
จากผลสำเร็จของชุมชนคุณธรรมน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ขับเคลื่อนด้วยพลังบวร วัดโคกประดู่ โพนสูง สะท้อนให้เห็นคุณธรรมของชุมชนที่สามารถสร้างการมีส่วนร่วมในการแสดงออกถึงความมุ่งมั่น ตั้งใจในการทำตามเป้าหมายของชุมชน ยอมรับและปฏิบัติตามข้อตกลงต่าง ๆ ร่วมกัน โดยยึดหลักคุณธรรมร่วม พอเพียง วินัย สุจริต จิตอาสา กตัญญูรู้คุณต่อบรรพบุรุษ และสิ่งแวดล้อมในพื้นที่
เป้าหมายที่จะเดินต่อ
ทุกวันนี้ชาวชุมชนโพนสูงได้นำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เป็นแนวคิดที่ตั้งอยู่บนรากฐานของวัฒนธรรมไทย คำนึงถึงความพอประมาณ ความมีเหตุผล การสร้างภูมิคุ้มกันในตัวเอง ตลอดการนำความรู้และคุณธรรม เป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิต เพื่อส่งเสริมให้คนในชุมชนพึ่งพาตนเอง พึ่งพากันเอง รวมกลุ่มอย่างมีพลัง ใช้ชีวิตพออยู่ พอกิน พอเพียง มีเหตุผล มีภูมิคุ้มกันที่เหมาะสม ตามสภาพของชุมชนและวัฒนธรรมในท้องถิ่น เป็นแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรม และน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิต และดำรงชีวิตตามแบบวิถีวัฒนธรรมไทย ประเพณี และภูมิปัญญาที่ดีงามของท้องถิ่น โดยสามารถพัฒนาต่อยอดภูมิปัญญาเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มเชิงเศรษฐกิจให้แก่ชุมชนได้
ข้อมูลติดต่อ
นายอรุณ ขันโคกสูง ผู้ใหญ่บ้าน ๐๘๑ ๗๙๐๒๓๖๘
แสดงความคิดเห็น