“ขับเคลื่อนคุณธรรม นำวิถีพุทธ
ด้วยพลังการมีส่วนร่วมของชุมชน”
กว่าจะมาเป็นวันนี้
ในอดีตวัดดาวเรืองเคยเจริญรุ่งเรือง เป็นศูนย์กลางแห่งศรัทธาของชุมชนและเป็นสถานที่ประกอบกิจกรรมทางศาสนา จนกระทั่งเมื่อ ๔ ปีที่ผ่านมา วัดดาวเรืองประสบกับปัญหาชาวบ้านหันหลังให้วัด พระเณรลดน้อยลง จนไม่สามารถดำเนินกิจกรรมต่างๆ ได้เท่าที่ควร ไม่ได้รับการพัฒนา ไม่มีกิจกรรมขับเคลื่อน จนกระทั่งปี พ.ศ.๒๕๖๑ ชาวบ้านพร้อมใจกันไปกราบอาราธนาพระอาจารย์ นพดล ธีรวโร จากวัดภูเขาทอง บ้านท่ามะไฟหวาน มารักษาการเจ้าอาวาสวัดดาวเรือง จึงได้ริเริ่มฟื้นฟูกิจกรรมต่างๆ ขึ้นโดยงานฟื้นฟูวัดทั้งมิติภายในและภายนอก เช่น มิติภายในมีการจัดกิจกรรมพัฒนาจิตวิญญาณ มิติภายนอกมีการปรับปรุงภูมิทัศน์ให้ร่มรื่น เป็นต้น
เส้นทางสู่ความสำเร็จของการมาเป็นชุมชนคุณธรรมต้นแบบ
ชุมชนคุณธรรมต้นแบบวัดดาวเรือง เป็นชุมชนเกษตรกรรมโดยเน้นการใช้อินทรียวัตถุที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น มีภูมิปัญญาการเก็บถนอมอาหาร และมีการทอผ้าไหมมัดหมี่ รวมถึงงานหัตถกรรมจักสานต่างๆ วัดดาวเรืองจึงได้ทำกิจกรรมส่งเสริมอนุรักษ์สืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นโดยจัดให้มีเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ มีการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านยาสมุนไพรพื้นบ้าน รวมทั้งส่งเสริมการปลูกพืชสมุนไพรต่างๆ ไว้แลกเปลี่ยนกันใช้ในชุมชนด้วย ปัจจุบันวัดดาวเรือง ได้ก่อตั้งกลุ่มสมุนไพรพื้นบ้านช่อระกาขึ้น และผลิตยาสมุนไพรขึ้นหลายชนิดเพื่อใช้ในครัวเรือนและจัดจำหน่าย
นอกจากนั้นชุมชนยังมุ่งขับเคลื่อนกิจกรรมต่างๆ โดยเน้นการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน จึงส่งเสริมกิจกรรมอาสาสร้างสรรค์โดยอาศัยการบำเพ็ญประโยชน์เพื่อส่วนรวมเป็นตัวเชื่อมประสาน โดยผ่านกระบวนการทำงานร่วมกัน เช่น กิจกรรมสังฆานุเคราะห์ได้ทำกิจกรรมสงเคราะห์ชุมชนด้วยการจัดทำถุงปันบุญเป็นถุงยังชีพ แจกจ่ายให้กับผู้ประสบความยากลำบากในเหตุการณ์นั้นๆ เป็นต้น จึงทำให้วัดดาวเรืองเป็นศูนย์กลางเชื่อมประสานภาคส่วนต่างๆ ทำงานร่วมกัน ซึ่งความสำเร็จที่เกิดขึ้นมีขั้นตอนการดำเนินงานดังนี้
๑.เริ่มต้นด้วยการทำประชาคมระดมความคิดคิดเห็นจากชาวบ้านเพื่อรับฟังและร่วมหาแนวทางในการพัฒนาชุมชนร่วมกัน
๒.จัดตั้งคณะกรรมการเพื่อมาร่วมบริหารงานวัด โดยแบ่งออกเป็น ๓ กลุ่มคือ ๑) กลุ่มที่ปรึกษา ๒) กลุ่มไวยาวัจกร และ๓) กลุ่มกรรมการ ๘ ฝ่ายงาน โดยเลือกตัวแทนจากทุกหมู่เข้ามาร่วมบริหาร
๓.จัดทำแผนพัฒนา แผนแม่บท เพื่อปรับปรุงภูมิทัศน์ สภาพแวดล้อมภายในวัดให้เหมาะแก่การทำกิจกรรมทางศาสนา วางเป้าหมายในการพัฒนาและผังแม่บท ๕ ปีร่วมกัน โดยได้กำหนดเป้าหมายในการพัฒนาวัด ๓ อย่าง คือ ๑) เป็นรมณียสถาน ๒) เป็นศูนย์ปฏิบัติธรรมของชุมชน ๓) เป็นศูนย์วัฒนธรรมหรือพิพิธภัณฑ์ของชุมชน
ความท้าทาย
การขับเคลื่อนชุมชนให้เป็นชุมชนคุณธรรมต้นแบบต้องอาศัยสื่อสารสนเทศที่ทันสมัยเข้ามาช่วย โดยมีรูปแบบการจัดกิจกรรมอย่างบูรณาการร่วมสมัย ลดทอนพิธีกรรม พิธีการบางอย่างลงให้เกิดความกระชับ รวมถึงการสื่อสารธรรมสู่คนรุ่นใหม่ด้วยการใช้ภาษาง่ายๆ หรือการสวดมนต์แปล วัดพยายามทำหน้าที่เป็นสะพานบุญ เชื่อมประสานทุกภาคส่วนให้มาทำงานร่วมกัน แสวงหาจุดร่วม สงวนจุดตัดที่แตกต่างขัดแย้ง ซึ่งทำให้เห็นว่าทุกๆ กิจกรรมที่เกิดขึ้นได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี จนทำให้ปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงานน้อยลง
ผลลัพธ์และผลกระทบที่เกิดขึ้น
ปัจจุบันวัดดาวเรืองมีความสัปปายะ มีพื้นที่สีเขียวที่ร่มรื่น เป็นสถานที่ที่คนในชุมชนได้เข้ามาใช้ประโยชน์ เป็นหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบลนาฝาย เป็นศูนย์ปฏิบัติธรรมของชุมชน และเป็นพิพิธภัณฑ์ชุมชนช่อระกา จึงเป็นแหล่งเรียนรู้ชุมชน สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ประกาศให้วัดดาวเรืองเป็น “อุทยานการศึกษา” ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๖๓ วัดดาวเรืองได้จัดแบ่งพื้นที่ออกเป็น เขตพุทธาวาส เขตธรรมวาส และเขตสังฆาวาส รวมทั้งศาลาธรรมสังเวช อาคารเอนกประสงค์ที่ถูกออกแบบมาสำหรับรองรับกิจกรรมหลากหลาย มีการใช้พื้นที่แต่ละส่วนได้อย่างเหมาะสม และยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและประเพณี ประชาชนมีความสามัคคี ใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการดำเนินชีวิต และมีโอกาสเดินทางไปแลกเปลี่ยนรู้กับชุมชนอื่นๆ เพื่อนำกลับมาพัฒนาชุมชนของตนเอง รวมถึงเป็นตัวอย่างให้ชุมชนอื่นเข้ามาศึกษาเรียนรู้
เป้าหมายที่จะเดินต่อ
ชุมชนคุณธรรมวัดดาวเรืองตั้งใจสืบสานรักษาให้เกิดความยั่งยืนโดยการสร้างศาสนทายาทด้วยการจัดกิจกรรมปลูกฝังให้เด็กเยาวชนเกิดความรักหวงแหนในศาสนสมบัติที่ปู่ย่าตายายได้สร้างไว้ และเห็นคุณค่าของภูมิปัญญาท้องถิ่น ทางวัดดาวเรืองจึงจัดกิจกรรมบรรพชาขึ้นปีละ ๒ ครั้งทุกปิดภาคเรียน คือค่ายสามเณรภาคฤดูร้อน และค่ายสามเณรฤดูหนาว ทำให้เกิดเครือข่ายเด็กเยาวชนขึ้น นอกจากนี้ ชุมชนคุณธรรมวัดดาวเรือง ได้กำหนดจัดกิจกรรมประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติ บุคคลตัวอย่าง ครอบครัวตัวอย่าง ในสาขาต่างๆเป็นประจำทุกปี รางวัล “คนดี ศรีช่อระกา” ซึ่งจะเป็นอีกวิธีการหนึ่งที่ช่วยเสริมหนุนการทำดี คิดดี และเป็นตัวอย่างที่ดีด้านคุณธรรมของชุมชนแห่งนี้ สิ่งนี้ทำให้เกิดเครือข่ายคุณธรรมที่ยั่งยืน
ข้อมูลการติดต่อ
นางสาวอัฏฐ์ญาณ์ บู่สามสาย
๐๘๑-๘๗๐-๙๙๒๐
แสดงความคิดเห็น