community image

ชุมชนคุณธรรมวัดวังคำ

อ.เขาวง ต.เขาวง จ.กาฬสินธุ์
วันที่สร้างโพสต์ : 20 กันยายน 2567
วันที่อัปเดต : 3 ตุลาคม 2567
จำนวนผู้เข้าชม: 2 คน
cover

“ตองลองเมิงผี นาวีช้างย่ำ วัดวังคำ

ศูนย์รวมจิตใจ ลำพะยังพ่อหลวงประทานให้ สืบสานวัฒนธรรมผู้ไท ไหว้สาพระบฎ

พระบาตร พระธาตุเจ้ากู่”

กว่าจะมาเป็นวันนี้

         ชุมชนคุณธรรมวัดวังคำเป็นชนเผ่าผู้ไทที่ยังคงรักษาวัฒนธรรมไว้ได้อย่างดี มีอัตลักษณ์เอกลักษณ์เป็นของตนเอง นับถือพุทธศาสนา มีความรักใคร่กลมเกลียวกัน ดำเนินชีวิตอย่างเรียบง่าย ถ่ายทอดต่อกันมาถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน อย่างไรก็ตามวัฒนธรรม ประเพณีต่างๆ ก็มีการปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย ปัจจุบันนโยบายรัฐบาลที่เน้นเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวทางพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ ๙และได้ดำเนินการโดยกำหนดไว้ในบริเวณพื้นที่นี้ด้วย คือโครงการพระราชดำริอ่างเก็บน้ำลำพะยังตอนบน โครงการอุโมงค์ผันน้ำลำพะยังภูมิพัฒน์


เส้นทางสู่ความสำเร็จของการมาเป็นชุมชนต้นแบบ

         เส้นทางสู่ความสำเร็จของชุมชนคุณธรรมวัดวังคำ เริ่มจากชุมชนมีการรวมกลุ่มโดยใช้พลังบวรในการพัฒนาชุมชน ดังนี้

๑.ด้านศาสนา มีพระครูสังวรสมาธิวัตร เจ้าอาวาสวัดวังคำเป็นแกนนำหลักในการอนุรักษ์สืบสาน รักษาวัฒนธรรมประเพณีของชาวผู้ไทบ้านนาวี มีวัดวังคำให้เป็นศูนย์กลาง สร้างเสนาสนะภายในวัด ได้แก่ สิม(โบสถ์) สถาปัตยกรรมศิลปะแบบล้านช้าง นอกจากนี้ยังมีเจดีย์สีทององค์ใหญ่กลางวัด “พระธาตุเจ้ากู่” ภายในวัดมีพิพิธภัณฑ์เพื่อจัดแสดงเครื่องใช้ผ้าโบราณของใช้เกี่ยวกับวิถีชาวผู้ไท

๒.ด้านเศรษฐกิจพอเพียง ชุมชนคุณธรรมวัดวังคำ นำโดย นายประจิตร คนซื่อ ผู้ใหญ่บ้านนาวี เป็นแกนนำหลักในการขับเคลื่อน เริ่มจากการพัฒนาศูนย์เรียนรู้เกษตรทฤษฎีใหม่ โดยเฉพาะวิถีการทำนา ที่ทำให้ข้าวเขาวงมีคุณภาพนุ่มหอมอร่อย ได้รับการพัฒนาและได้รับขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์(GI) นอกจากนี้ ชาวบ้านมีการจัดตั้งกลุ่มจักสาน “กระติบข้าวเหนียว” จนสามารถพัฒนาเป็นแหล่งผลิตและส่งออกในระดับประเทศ และกลุ่มทอผ้าพื้นเมืองส่งออกผ้าห่ม สร้างรายได้ให้กับชุมชน

๓.ด้านการอนุรักษ์สืบสานวัฒนธรรมประเพณี ยังคงรักษาวิถีชีวิตความเชื่อ และประเพณีที่เคยปฏิบัติสืบต่อกันมา ชาวผู้ไทนิยมทอผ้าฝ้ายที่ย้อมด้วยวิธีธรรมชาติจากเปลือกไม้ โคลนและคราม สวมใส่กันทุกเทศกาล ชาวบ้านนาวียังรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีตามฮีต ๑๒ คลอง ๑๔ มีประเพณีที่โดดเด่น คือ แห่หอปราสาทผึ้ง เป็นพิธีกรรมที่ชาวบ้านเชื่อกันว่าเป็นการแก้บนต่อสิ่งศักดิ์(เจดีย์วัดวังคำ) ด้านศิลปะการแสดง คือ การฟ้อนผู้ไท อาหารพื้นบ้านอาหารคาว ได้แก่ อาหารตามฤดูกาล อาหารหวานที่เป็นเมนูเด็ดของชุมชน คือ ข้าวแดกงาและข้าวโจ้ ภาษาที่ใช้พูดในชุมชนคือ ภาษาผู้ไท ความเชื่อเรื่องการรักษาผู้ป่วย “เหยา” ยังคงมีการสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน

ความท้าทาย

-ยังขาดความเป็นเอกภาพ เนื่องจากการรวมกลุ่มในชุมชนจะมีอยู่ในวงจำกัด เมื่อมีการขับเคลื่อนกิจกรรมในชุมชนจะมีผู้เข้าร่วมเป็นกลุ่มคนเดิมๆ ซึ่งทำให้การพัฒนาชุมชนเป็นไปด้วยความล้าช้าและอาจก่อให้เกิดปัญหาด้านความสามัคคีของคนในชุมชนได้

-การมุ่งเน้นการเพิ่มรายได้ และเพิ่มปริมาณสินค้า ทำให้เวลาส่วนใหญ่ต้องอยู่กับการทำงานมากเกินไป การปฏิสัมพันธ์ของคนในชุมชนมีลดน้อยลง ทำให้การมีส่วนร่วมทางกิจกรรมประเพณี กิจกรรมสาธารณะ กิจกรรมจิตอาสาในชุมชนลดน้อยลงด้วย


ผลลัพธ์และผลกระทบที่เกิดขึ้น

         พอเพียง – ชุมชนได้นำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทางในการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น นอกจากนี้ยังมีรายได้จากการประกอบอาชีพทางวัฒนธรรม และมีภูมิคุ้มกันที่ดีในการดำเนินชีวิต

         วินัย - ยึดถือปฏิบัติตนตามฮีตคองของบรรพบุรุษ มีความเชื่อที่สืบต่อกันมา คือ การเคารพเชื่อฟังพระสงฆ์(เจ้าอาวาสวัด ยึดถือปฏิบัติตามบรรพบุรุษ ปฏิบัติตามกฎระเบียบของชุมชน

         สุจริต - ปลูกฝังให้เด็กเยาวชน ให้ความเคารพผู้ใหญ่จึงทำให้คนในชุมชนมีความซื่อสัตย์ สุจริต จะเห็นได้จากการที่ชาวบ้านปลูกผักสวนครัว ผัก-ผลไม้ ตามท้องไร่ท้องนา จะไม่มีการลักขโมย แต่ถ้าหากอยากได้ก็จะขอ หรือซื้อ-ขายกันตามศักยภาพในราคาคุณธรรม

         จิตอาสา - มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ช่วยเหลือเกื้อกูล อนุรักษ์สืบสานวัฒนธรรมประเพณี ร่วมกันบริจาคทรัพย์หรือข้าวของเครื่องใช้ เมื่อชุมชนเกิดภัยพิบัติ ร่วมแรง ร่วมใจกันทำนุบำรุงพุทธศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม ของตนเองให้คงอยู่สืบไป


เป้าหมายที่จะเดินต่อ

         มีเป้าหมายแผนงานที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน สร้างจิตสำนึกที่ดีการเป็นเจ้าบ้านที่ดี เพื่อให้ผู้มาเยือนหรือนักท่องเที่ยวได้ประทับใจมากที่สุด และมีความตั้งใจร่วมกันที่จะจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ของชุมชน แบบครบวงจรเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์วัฒนธรรมของชาวผู้ไทเขาวง เพื่อให้เด็ก เยาวชน และประชาชน นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ได้ศึกษาค้นคว้า จัดทำจุดเช็คอินจุดถ่ายภาพเพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ชุมชนให้นักท่องเที่ยวได้รู้จักชุมชนมากยิ่งขึ้น บริหารจัดการสถานที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชนบริเวณด้านหน้าวัดวังคำ ให้ได้มาตรฐานโดยการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนขับเคลื่อนด้วยพลังบวร

ข้อมูลติดต่อ

พระครูสังวรสมาธิวัตร ๐๘๑-๘๗๑-๖๖๓๘

ช่องทางติดต่อ
ติดต่อได้โดยตรง
พระครูสังวรสมาธิวัตร ๐๘๑-๘๗๑-๖๖๓๘

แสดงความคิดเห็น

profile