“ท่องเที่ยวชุมชนคุณธรรม
วิถีถิ่นชุมชนคนริมน้ำบ้านบางน้ำผึ้ง”
กว่าจะมาเป็นวันนี้
ชุมชนวัดบางน้ำผึ้งในมีความพิเศษตรงที่ส่วนใหญ่เป็นคนดั้งเดิมจึงซึมซับและได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้ประจำท้องถิ่นที่ถือปฏิบัติสืบต่อกันมาอย่างยาวนานจากรุ่นสู่รุ่น รวมถึงวิถีชีวิตบนความพอเพียง ประกอบกับการเผชิญวิกฤติต้มยำกุ้ง ทำให้คนในชุมชนต้องประสบกับปัญหาในมิติต่างๆ อย่างเป็นองค์รวมทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม
วัฒนธรรม การเมือง และอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
เส้นทางสู่ความสำเร็จของการมาเป็นชุมชนคุณธรรมต้นแบบ
ชุมชนได้นำแนวคิดการพัฒนาพื้นที่ที่ผนวกระหว่างการพัฒนาชุมชน วิถีชีวิตและการอนุรักษ์ การสร้างจิตสำนึก ความรู้สึกรักและมีส่วนร่วมดูแลรักษา ทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งสิ่งที่สำคัญที่สุดในการพัฒนาชุมชน คือ ความร่วมมือร่วมใจ ความสามัคคี จนเกิดเป็นความรักและหวงแหน ต้องการที่จะคงรูปแบบวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชุมชนไว้ สิ่งเหล่านี้จึงเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวระหว่างคนในชุมชนให้เกิดเป็นความผูกพัน เกิดการรวมกลุ่มกัน มีการประชุมกลุ่มย่อยเพื่อร่วมกันวางแผนแนวทางการดำเนินงาน ชุมชนร่วมกันระบุปัญหาและวิธีการแก้ปัญหา ภายใต้เป้าหมายเดียวกันคือ ต้องการจะอนุรักษ์และสืบสานวิถีชีวิต ประเพณีวัฒนธรรมของชุมชนไว้
เริ่มจากการรวบรวมข้อมูลและบริบทของชุมชนผ่านคำบอกเล่าหรือประสบการณ์เชิงประจักษ์ของคนในชุมชน โดยการจดบันทึกข้อมูลเพื่อนำมาวิเคราะห์ ดำเนินการถอดบทเรียนผ่านประเด็นที่ว่าชุมชนของเรามีของดีอะไรบ้าง จากนั้นจะมีการแบ่งกลุ่มตามความถนัด เพื่อนำมาพัฒนาและต่อยอดทักษะตลอดจนการถ่ายทอดองค์ความรู้ในแต่ละด้านให้แก่ผู้ที่สนใจมีการรวมตัวของกลุ่มอาชีพเพื่อผลิตสินค้า ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น
ด้านสังคม: เกิดความร่วมมือกันทั้งในเรื่องของการพัฒนาชุมชนให้ก้าวหน้า สงบสุข และการขายสินค้าของชุมชน
ด้านวัฒนธรรม: มีการอนุรักษ์ประเพณี การเข้าร่วมกิจกรรม มีการนำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาผลิตสินค้าและบริการ ไปจนถึงร่วมกันจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ไว้ใช้สำหรับการต้อนรับนักท่องเที่ยวและเป็นสถานที่ในการศึกษาดูงาน
ด้วยความหลากหลายทางด้านสิ่งแวดล้อมและศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นทำให้ชุมชนคุณธรรมวัดบางน้ำผึ้งในเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่งดงามในสายตาของนักท่องเที่ยวและเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจของชุมชน มีการสนับสนุนให้จัดตั้งสภาวัฒนธรรมตำบล เพื่อให้ชาวชุมชนใช้กิจกรรมทางวัฒนธรรมเป็นเครื่องมือยึดเหนี่ยวทางค่านิยมและเอกลักษณ์ เกิดจิตสำนึกของความเป็นไทยและภาคภูมิใจในค่านิยมไทยพร้อมกับปรับใช้ให้เหมาะสม สอดคล้องกับวิถีชีวิตดั้งเดิม และที่สำคัญยังทำให้ชาวชุมชนเกิดความรัก ความร่วมมือ และหวงแหนวิถีชีวิตให้คงไว้ตราบนานเท่านาน
ความท้าทาย
การทำให้เด็กและเยาวชนในชุมชนหันมาตระหนัก ให้ความสนใจถึงรากเหง้าภูมิปัญญาวัฒนธรรมของชุมชน โดยการให้เด็กและเยาวชนเข้ามามีส่วนร่วมโดยการถอดบทเรียนในแต่ละกิจกรรม เป็นการเรียนรู้ด้วยตนเองผ่านการปฏิบัติจริง ต่อมาจึงได้ขยายกลุ่มเป้าหมายไปยังผู้สูงอายุหรือกลุ่มคนวัยเกษียณ เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ ก่อให้เกิดการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์และเป็นการสร้างรายได้ให้แก่ตนเองและครอบครัว นำไปสู่การรวมกลุ่มและรวมกันท้ากิจกรรม
ผลลัพธ์และผลกระทบที่เกิดขึ้น
ชุมชนคุณธรรมวัดบางน้ำผึ้งในเป็นชุมชนที่มีความเข้มแข็ง มีการรวมตัวกันทำกิจกรรม ทำให้เกิดความใกล้ชิดกัน มีการจัดประชุมกันเป็นประจำทุกเดือน ทั้งด้านการท่องเที่ยว การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และมีการนำผู้สูงอายุมาเผยแพร่วัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น จนกลายเป็นศูนย์เรียนรู้ชุมชนบ้านบางน้ำผึ้ง เมื่อการดำเนินงานมีความก้าวหน้า จึงมีการจับมือกันกระจายรายได้ไปยังคนในชุมชน เช่น โฮมสเตย์ จักรยานท่องเที่ยว รถมอเตอร์ไซค์พาเที่ยว มัคคุเทศก์ท้องถิ่น หากใครปลูกพืชผักสวนครัวก็เอามาขายให้กับร้านอาหารในชุมชน ทุกคนมีความเกื้อกูลซึ่งกันและกัน พึ่งพาอาศัยกัน หรืออีกนัยหนึ่งคืออยู่กันแบบครอบครัว มีจิตใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทำให้ชุมชนเข้มแข็ง สามารถสร้างเศรษฐกิจชุมชนตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงได้สำเร็จ
เป้าหมายที่จะเดินต่อ
ผลักดันและปลูกฝังให้คนรุ่นหลังเกิดความรักและหวงแหนบ้านเกิด ร่วมกันสืบสาน อนุรักษ์วิถีชีวิต ประเพณี วัฒนธรรมของชุมชน โดยการนำเอาความรู้ความสามารถ ความเชี่ยวชาญในด้านสื่อและเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์ โดยเฉพาะการประชาสัมพันธ์ชุมชนให้เป็นที่รู้จักผ่านสื่อออนไลน์ในการเป็นช่องทางสร้าง และเชื่อมโยงเครือข่ายระหว่างชุมชนกับชุมชนไปจนถึงชุมชนกับสังคมโลก สามารถสร้างองค์ความรู้ตลอดจนเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นในมิติต่าง ๆ สนับสนุนและส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่ในชนบทไทยได้มีบทบาทในการเข้าร่วมเป็นผู้นำหรือสมาชิกเพื่อร่วมคิดร่วมทำกิจกรรมกับกลุ่มหรือองค์กรในชุมชน รวมถึงกลุ่มอาสาสมัครทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ เพื่อเป็นการสร้างการมีส่วนร่วมและเป็นการดึงศักยภาพ ตลอดจนความรู้ความสามารถของคนรุ่นใหม่ในการช่วยพัฒนาชุมชนให้เจริญก้าวหน้า
ข้อมูลการติดต่อ
นายอทิวัต รอดคลองตัน ๐๙๑-๘๑๖-๒๒๘๙
แสดงความคิดเห็น