“ดงหมูแดนดิน ถิ่นตำบล หนึ่งชลธี
สี่สายห้วย ร่ำรวยวัฒนธรรม เลิศล้ำการเกษตร”
กว่าจะมาเป็นวันนี้
เมื่อพ.ศ.๒๕๒๕ องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกได้ขออนุญาตใช้ที่ดินป่าดงหมูที่ราษฎรบุกรุกทำไร่จนไม่เหลือสภาพป่าแล้วจากผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม เพื่อจัดสรรที่ดินทำกินให้กับทหารผ่านศึก ตั้งชื่อว่า “นิคมเกษตรกรรมทหารผ่านศึกนครพนม” โดยมี พ.ต.สมศักดิ์ ไชยเสริฐ เป็นหัวหน้านิคมคนฯ คนแรก ขณะนั้นสถานการณ์ผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ยังไม่สงบ และพื้นที่บริเวณดังกล่าวอยู่ในเขตอิทธิพลของฝ่ายตรงกันข้าม ในการเข้าไปบุกเบิกพื้นที่ต้องกันราษฎรที่บุกรุกพื้นที่อยู่ก่อนแล้วให้ออกไปก่อน จึงดำเนินการก่อสร้างอาคารที่ทำการ และบ้านพักสมาชิก บ้านนิคมทหารผ่านศึก เป็นชุมชนใหม่เดิมเป็นเขตป่าสงวนเรียกว่า “ป่าดงหมู” ต่อมาองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกได้ยื่นเรื่องเพื่อขออนุญาตเข้าทำประโยชน์จากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เมื่อได้รับอนุญาต ในปี ๒๕๒๕ ก็ได้สร้างบ้านบนพื้นที่ ๒ ไร่ และจัดสรรที่ทำกิน จำนวน ๑๓ ไร่ ให้กับครอบครัวทหารผ่านศึก และได้ตั้งชื่อหมู่บ้านว่า “นิคมทหารผ่านศึก”
เส้นทางสู่ความสำเร็จของการมาเป็นชุมชนคุณธรรมต้นแบบ
วัดนิคมเกษตรเดิมเป็นที่พักสงฆ์ มีการนิมนต์พระจากพื้นที่อื่นมาจำพรรษาและร่วมกันพัฒนาเรื่อยมา ต่อมาได้รับตราตั้งจากกรมศาสนายกฐานะเป็นวัดชื่อว่า “วัดนิคมเกษตร” โดยมีพระอาจารย์ ฐิติ ฐิตะญาโน (พระครูนิคมธรรมนาถ) เป็นเจ้าอาวาส เป็นชุมชนคุณธรรมน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงขับเคลื่อนด้วยพลังบวร และเป็นศูนย์กลางขับเคลื่อนชุมชนคุณธรรม โดยให้ความสำคัญกับพระพุทธศาสนา มีการจัดกิจกรรมในวันสำคัญทางศาสนา อีกทั้งมีลานธรรม ลานวิถีไทยให้เด็กและเยาวชน ได้เข้ามาศึกษาพระธรรม ส่งเสริมให้คนในชุมชนพึ่งพาตนเอง โดยผ่านกิจกรรมโครงการ “ผักข้างบ้าน อาหารข้างรั้ว ครอบครัวพอเพียง” มีการรวมกลุ่มอาชีพในการทำดอกไม้จันทน์ ทอผ้าลายท้องถิ่น ตัดเย็บเสื้อ ตัดเย็บที่นอน ซึ่งเป็นวิถีของชุมชน มีการถ่ายทอดภูมิปัญญาท้องถิ่น การสร้างผลิตภัณฑ์ชุมชน ชาใบหม่อน เพื่อจำหน่ายหารายได้เข้าครัวเรือน และเป็นการอนุรักษ์ไว้ให้คงอยู่ต่อไป ทำให้คนในชุมชน มีความสุข มีความภาคภูมิใจ และสามารถนำไปพัฒนาต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศรษฐกิจชุมชน นอกจากนี้วัดและโรงเรียน ยังได้ร่วมกันทำแผ่นคอนกรีตทางเดินนำไปปูพื้นที่รอบสนามศาลาการเปรียญ ทำให้เด็กและเยาวชนสนใจเข้าวัดมากขึ้น ความพิเศษของชุมชนคือ ในพื้นที่ใกล้เคียงกันมีการสร้างวัดคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก เพื่อใช้ประกอบศาสนกิจ เนื่องจากสมาชิกนิคมฯ ส่วนหนึ่งเป็นคริสต์ศาสนิกชน แต่ประชาชน ทั้งสองศาสนาต่างอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข
ความท้าทาย
คนในชุมชนเป็นคนอพยพจากหลายพื้นที่มาอยู่ร่วมกัน จึงค่อนข้างเก็บตัว ขาดแหล่งรวบรวมองค์ความรู้ของชุมชน ไม่มีผลิตภัณฑ์ที่เป็นอัตลักษณ์ การสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐไม่สามารถทำได้เต็มที่ เนื่องจากพื้นที่พักอาศัยกับที่ทำกินอยู่คนละเขตการปกครอง ในขณะที่ชุมชนมีความหลากหลายทางวัฒนธรรม เป็นชุมชนที่อยู่ใกล้กับแม่น้ำโขง มีอาคารบ้านเรือนเป็นไม้เก่าที่สวยงาม แต่ขาดเรื่องราวบอกเล่า ต่อมามีหน่วยงานราชการหลายหน่วยงานเข้ามาพัฒนา มีการประชุมปรึกษาหารือร่วมกัน มีการจัดทำแผนพัฒนาชุมชนร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ และได้เข้าสู่การขับเคลื่อนเป็นชุมชนคุณธรรมน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงขับเคลื่อนด้วยพลังบวร ๙ ขั้นตอน มีการจัดตั้งคณะกรรมการ กำหนดบทบาทหน้าที่ของผู้นำ และร่วมกันขับเคลื่อนชุมชนให้ประสบความสำเร็จเป็นชุมชนคุณธรรมต้นแบบในปัจจุบัน
ผลลัพธ์และผลกระทบที่เกิดขึ้น
ชุมชนคุณธรรมวัดนิคมเกษตร บ้านนิคมทหารผ่านศึก ประชาชนนับถือศาสนาพุทธ และคริสต์ มีวัดนิคมเกษตร พุทธอุทยานวัดพระธาตุพนม และวัดพระแม่แจกจ่ายพระหรรษทาน เป็นศูนย์รวมความศรัทธา เป็นแหล่งเรียนรู้บ่มเพาะด้านคุณธรรมจริยธรรม หมู่บ้านรักษาศีล ๕ การจัดกิจกรรมทางศาสนา ศาสนิกชนจะร่วมกันปฏิบัติตามหลักธรรมทางศาสนา มีการถ่ายทอดธรรมะที่บูรณาการหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง คุณธรรมจริยธรรมไปกับการประกอบอาชีพและการดำรงชีวิตในครัวเรือน มีพระครูนิคมธรรมนาถ เจ้าอาวาสวัดนิคมเกษตร ที่เป็นผู้นำหลักสำคัญในการพัฒนาชุมชน โดยใช้หลักพลังบวร การมีส่วนร่วม ความสามัคคี มีจิตสาธารณะสู่ความเข้มแข็ง เกิดความสงบสุขในชุมชน ปัญหาต่างๆ ในชุมชนลดลงหรือหมดไป มีสิ่งดีงามเกิดขึ้นในชุมชน คนในชุมชนมีความรักและสามัคคี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เสียสละช่วยเหลือซึ่งกันและกัน คนในชุมชนรู้สิทธิหน้าที่ การเป็นพลเมืองที่ดี ยึดมั่นในการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีสำนึกรับผิดชอบต่อส่วนรวม รู้รักสามัคคี เสียสละ และกตัญญูรู้คุณ
เป้าหมายที่จะเดินต่อ
การพัฒนาชุมชนสู่การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอย่างยั่งยืน (บวร On Tour) โดยในชุมชนคุณธรรม วัดนิคมเกษตร มีการจัดเก็บข้อมูลองค์ความรู้ ฐานการเรียนรู้ มีธรรมชาติที่สวยงาม มีวิถีอีสาน วัฒนธรรมชุมชนที่ยังยึดมั่นสืบทอดจนถึงปัจจุบัน มีการถ่ายทอดภูมิปัญญาจากรุ่นสู่รุ่น สามารถเป็นแหล่งแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ศึกษาดูงาน ถ่ายทอดมรดกภูมิปัญญา ทางวัฒนธรรม องค์ความรู้ต่าง ๆ ให้กับชุมชนอื่นหรือนักท่องเที่ยว ทั้งชาวไทยและต่างประเทศได้
ข้อมูลการติดต่อ
นางเกสร สงตลาด กำนันตำบลดงหมู
๐๖๓-๘๙๒-๗๐๑๓
แสดงความคิดเห็น