“ส่งต่อด้วยรัก
พิทักษ์ชีวิต”
จากปัญหาความยากจนในจังหวัดกาฬสินธุ์ นำไปสู่ความเหลื่อมล้ำในสังคม โดยเฉพาะโอกาสที่ประชาชนจะเข้าถึงบริการของรัฐได้อย่างเท่าเทียม เทศบาลเมืองกาฬสินธุ์จึงได้จัดตั้งศูนย์กู้ชีพกู้ภัย ๑๑๓๒ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการสาธารณะ แก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำและสร้างความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนด้วยนวัตกรรม ๑๑๓๒ ส่งต่อด้วยรัก พิทักษ์ชีวิต เป็นการส่งต่อผู้ป่วยสภาวะไม่ฉุกเฉิน และฉุกเฉินที่ “ไม่มีเงิน ไม่มีคน ไม่มีเวลา ไม่มีความรู้ ไม่มีรถ ไม่มีอุปกรณ์ช่วยเหลือ” โดยใช้ทฤษฎี ๕ why ๕ gen วิเคราะห์หาแนวทางแก้ไขปัญหา โดยมีกลุ่มเป้าหมายที่เป็นประชาชนกลุ่มเปราะบาง เข้าไม่ถึงบริการของรัฐ ผู้ประสบภัยต่างๆ เช่น กลุ่มผู้ป่วยติดเตียง กลุ่มผู้ยากไร้ กลุ่มผู้ป่วยตามนัดของแพทย์ และผู้ป่วยจิตเวชในเขตเทศบาล ซึ่งมีผู้รับบริการทั้งสิ้น ๑,๙๑๘ รายต่อปี
เส้นทางความสำเร็จของการเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้นแบบด้านคุณธรรม
นวัตกรรม ๑๑๓๒ ส่งต่อด้วยรัก พิทักษ์ชีวิต เกิดขึ้นมาจากแนวคิดที่ต้องการสร้าง”ชุมชนกรุณา” คือการขจัดปัญหาความยากจนและความหิวโหย ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมในการเข้าถึงบริการสาธารณะของภาครัฐ ส่งเสริมให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดี โดยการร่วมมืออย่างบูรณาการจากภาครัฐและเอกชนขับเคลื่อนและพัฒนาไปด้วยกันอย่างยังยืน ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม มีการจัดการกำจัดขยะอย่างถูกวิธี และมีการปกป้องดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสภาพภูมิอากาศ ยึดหลักการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ซึ่งนวัตกรรมมีความมุ่งมั่นในการขจัดความยากจนในทุกมิติทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
กระบวนการทำงานที่นำไปสู่ความสำเร็จมีดังนี้
๑.การจัดตั้งทีมกู้ชีพกู้ภัยของเทศบาลขึ้น โดยมีบุคลากรเทศบาลและจิตอาสา พร้อมภาคีเครือข่ายออกให้บริการประชาชนผู้ประสบปัญหา
๒.การถอดบทเรียนในการทำงานพร้อมวิเคราะห์ปัญหาต่างๆ โดยใช้เครื่องมือ ๕ Why ๕ Gen มาวิเคราะห์หาแนวทางการแก้ไขปัญหาต่างๆ บนพื้นฐานของสถานที่จริง ของจริง สถานการณ์จริง มีหลักการทำงานจริง ภายใต้กฎเกณฑ์และระเบียบที่ให้กระทำได้ โดยตั้งคำถามว่า “ทำไม” ซ้อนลึกลงไป ๕ ชั้น เพื่อที่จะทำให้รู้ถึงปัญหาที่แท้จริงและหาวิธีแก้ไข ให้ได้รับบริการที่ทันท่วงทีและต่อเนื่อง จนเข้าสู่ภาวะปกติ
๓.บริการด้วยหัวใจ (service mind) ดุจญาติมิตร ที่เกิดจากความเป็นจิตอาสาของทีมงานและเครือข่าย ร่วมกับเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ สร้างความอบอุ่นใจให้ประชาชนและผู้ที่มารับบริการในพื้นที่
ผลลัพธ์แห่งความสำเร็จ
๑.ช่วยแก้ปัญหาด้านสุขภาพ ปัญหาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน เพิ่มโอกาสที่จะเข้าถึงบริการของรัฐได้อย่างเท่าเทียม ทำให้ประชาชนทุกระดับไม่ว่าจะยากจนหรือร่ำรวย ผู้ป่วยสภาวะฉุกเฉิน และไม่ฉุกเฉิน ได้เข้าถึงบริการสาธารณะอย่างทันท่วงที
๒.ลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางเพื่อเข้ารับการรักษาจนได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่องอย่างมีประสิทธิภาพ ประชาชนอยู่ดีกินดีสร้างสังคมที่น่าอยู่ ก่อเกิดเป็นชุมชนกรุณาอย่างแท้จริง
๓. สามารถเป็นแบบอย่างให้กับ อปท.อื่น ๆ ที่มีข้อจำกัดในบริการการแพทย์ฉุกเฉิน เพื่อที่จะจัดให้มีบริการทางการแพทย์ที่ไม่ฉุกเฉินได้ และการให้บริการอื่น ๆ ตามอำนาจหน้าที่ของแต่ละอปท. โดยไม่ขัดกับระเบียบกฎหมาย ซึ่งเทศบาลเป็นแหล่งเรียนรู้นวัตกรรมในงานนิทรรศการต่างๆ รวมถึงสื่อประชาสัมพันธ์ต่างๆ และมีหน่วยงานภายนอกมาศึกษาดูงาน
ก้าวต่ออย่างมีคุณธรรม
ดำเนินนวัตกรรมสอดคล้องและสนับสนุนวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ๒๐๓๐ ขององค์การสหประชาชาติบนหลักการ ๕ Ps ได้แก่ People (ประชาชน) โดยต้องขจัดปัญหาความยากจนและความหิวโหย ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม Planet (โลก) โดยการปกป้องดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสภาพภูมิอากาศ Prosperity (ความมั่งคั่ง) โดยส่งเสริมให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดี สอดคล้องกับธรรมชาติ Peace (สันติภาพ) โดยยึดหลักการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ และ Partnership (ความเป็นหุ้นส่วน) โดยการร่วมมือขับเคลื่อนการพัฒนาไปด้วยกัน ซึ่งนวัตกรรมมีความมุ่งมั่นในการขจัดความยากจนในทุกมิติทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยเป็นการบริการสาธารณะที่จะไปช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน สร้างสังคมแห่งความเอื้ออาทรให้เป็นชุมชนกรุณาและรักษาสิ่งแวดล้อมไม่ให้มีการแพร่กระจายของโรคที่อาจมาพร้อมกับขยะติดเชื้อที่เป็นผลมาจากการให้บริการอีกด้วย
ผู้ประสานงานติดต่อพื้นที่ : นายประชัน บุตรดี มือถือ ๐๘๐-๗๔๕๙๘๕๑ เทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ต้นแบบคุณธรรม ตำบลกาฬสินธุ์ จังหวัดกาฬสินธุ์
แสดงความคิดเห็น