community image

ชุมชนคุณธรรมบ้านหาดส้มแป้น

อ.เมืองระนอง ต.หาดส้มแป้น จ.ระนอง
วันที่สร้างโพสต์ : 20 กันยายน 2567
วันที่อัปเดต : 30 กันยายน 2567
จำนวนผู้เข้าชม: 3 คน
cover

“หาดไร้เงา ขุนเขานมสาว ดินขาวมากมาย

พ่อท่านคล้ายศักดิ์สิทธิ์

แดนเนรมิตระนองแคนย่อน”


กว่าจะมาเป็นวันนี้

         ชุมชนบ้านหาดส้มแป้น ตั้งอยู่บนที่ราบหุบเขา มีทิวทัศน์สวยงาม มีวิถีวัฒนธรรมและทรัพยากรที่ทรงคุณค่าเป็นแหล่งแร่ดีบุกและแร่ดินขาวที่สำคัญของจังหวัดระนอง มีผู้นำชุมชน หน่วยงานต่างๆ ให้ความสำคัญกับธรรมชาติ สภาพแวดล้อม และวิถีวัฒนธรรม ด้านอาชีพ ส่งเสริมเป็นแหล่งเรียนรู้ และแหล่งท่องเที่ยว ทั้งการเรียนรู้วีถีคนร่อนแร่ ชมธรรมชาติของภูเขา แหล่งน้ำ วิถีความพอเพียงจากการผลิตของใช้จากวัสดุธรรมชาติ การปลูกผักพื้นบ้าน การทำไม้กวาดดอกอ้อ ที่สำคัญคือการนำดินขาวของหาดส้มแป้น มาทำเป็นผลิตภัณฑ์เซรามิก หลากหลายชนิด ตลอดจนเรื่องการออมของคนในชุมชน


เส้นทางสู่ความสำเร็จของการมาเป็นชุมชนคุณธรรมต้นแบบ 

วิถีชีวิตของคนในชุมชนได้รับการถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น มีการใช้ชีวิตแบบดั้งเดิมผสมผสานเข้ากับความเป็นสมัยใหม่ได้อย่างลงตัว มีวัฒนธรรมและทรัพยากรที่ทรงคุณค่า อันเป็นแหล่งแร่สำคัญของจังหวัดระนองคือ แร่ดีบุกและแร่ดินขาว มีอุตสาหกรรมในระดับชุมชนที่แทบไม่พบเห็นแล้วนั้นคือ การร่อนแร่ ซึ่งเป็นวิถีวัฒนธรรมที่แสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิต ถ่ายทอดผ่านการแสดงพื้นบ้านระบำร่อนแร่ และทำผลิตภัณฑ์เซรามิกจากแร่ดินขาวของบ้านหาดส้มแป้น อีกทั้งยังมีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ รวมถึงแหล่งท่องเที่ยว และผลิตภัณฑ์ที่โดดเด่น คือ เซรามิก จากแร่ดินขาว ไข่เค็มน้ำแร่ดินขาว โดยทางชุมชนมีกิจกรรมสำคัญที่นักท่องเที่ยวสามารถเข้ามาเยี่ยมชมได้ อาทิ การร่อนแร่ การทำไข่เค็มน้ำแร่ดินขาว การทำเซรามิกจากดินขาว การแสดงพื้นบ้าน “ระบำร่อนแร่” นั่งรถสองแถวไม้โบราณชมวิถีชุมชนและสถานที่ท่องเที่ยวตามธรรมชาติ รวมถึงมีบ้านพักโฮมสเตย์ที่ให้นักท่องเที่ยวได้มาพักผ่อนและสัมผัสกลิ่นอายวิถีชุมชนอย่างใกล้ชิด มีหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนหลายแห่ง รวมทั้งจังหวัดให้การสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินกิจกรรมและการพัฒนาการท่องเที่ยว ปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวมาเที่ยวชมธรรมชาติกันอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดระนองได้ประเมินชุมชนตามตัวชี้วัด ๙ ขั้นตอน และได้คัดเลือกเป็นชุมชนคุณธรรมต้นแบบ “บวร On Tour”

ความท้าทาย

เนื่องจากชุมชนมีแหล่งแร่ดินขาว จึงนำดินขาวมาทำเครื่องเซรามิก ในระยะแรกคนอื่นต่างคิดว่าทำไม่ได้ แต่บ้านหาดส้มแป้นก็สามารถฝ่าฟันอุปสรรคมาได้ เข้าร่วมประกวดโครงการคัดเลือกหมู่บ้านต้นแบบ CIV ได้รับการคัดเลือกเป็น หมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์(Creative Industry Village: CIV) และมีการจัดตั้งเป็นกลุ่มเซรามิกบ้านหาดส้มแป้น หลังจากมีผลิตภัณฑ์เซรามิกและได้รับการส่งเสริม คำแนะนำจาก CIV นักท่องเที่ยวก็เริ่มให้ความสนใจมาเที่ยวเพิ่มมากขึ้น มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้คัดเลือกเซรามิกจากดินขาวเป็นผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรม (CPOT) ไข่เค็มดินขาวน้ำแร่บ้านหาดส้มแป้น ที่เป็นเอกลักษณ์ของชุมชนบ้านหาดส้มแป้นอีกด้วย ซึ่งกลุ่มผู้สูงอายุรวมกลุ่มกัน แต่ก็เลิกทำไประยะหนึ่ง และเริ่มนำมาทำอีกครั้งเมื่อ ๒ ปีที่ผ่านมา โดยมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ขึ้นใหม่ นอกจากนี้ยังได้มีผลิตภัณฑ์จากแร่ดีบุกทำเป็นพวงกุญแจที่ระลึก พวงกุญแจ เลียงร่อนแร่ เนื่องจากหาดส้มเป็นเป็นแหล่งแร่ดีบุกที่สำคัญของชาวระนอง 


ผลลัพธ์และผลกระทบที่เกิดขึ้น

ชุมชนบ้านหาดส้มแป้นเป็นแหล่งท่องเที่ยวโดยธรรมชาติ คนในชุมชนมีการจัดกิจกรรมให้นักท่องเที่ยวสามารถเข้ามามีส่วนร่วม นั่นคือการทำเครื่องเซรามิก และร่วมการจำลองร่อนแร่ มีการนำสินค้าของชุมชนมาจำหน่ายเป็นของฝากของที่ระลึกเพื่อเป็นการกระจายรายได้ ต่อมาคนในชุมชนรวมตัวกันเป็นกลุ่มการท่องเที่ยวโดยชุมชนบ้านหาดส้มแป้น เข้าร่วมประกวดโครงการ หมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (Creative Industry Village :CIV) ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และได้เป็นตัวแทนของจังหวัดระนอง ภายหลังจากเข้าร่วมโครงการแล้วจึงได้รับการอบรม คำแนะนำองค์ความรู้ต่างๆ ให้กับผู้นำชุมชน จึงนำไปสู่การจัดการท่องเที่ยวเป็นแพ็คแกจ มีการจัดเส้นทางท่องเที่ยวให้เชื่อมโยงกับกิจกรรม นักท่องเที่ยวสามารถเลือกทำกิจกรรมได้ตามความสนใจ ซึ่งกิจกรรมการร่อนแร่และการปั้นเซรามิกเป็นวิถีชีวิตที่นำมาเป็นกิจกรรมหลักของชุมชน หากนักท่องเที่ยวต้องการร่วมกิจกรรมต้องแจ้งล่วงหน้า 

เป้าหมายที่จะเดินต่อ

คนในชุมชนเห็นว่าระบำร่อนแร่นั้นกำลังถูกหลงลืมและไม่ได้รับการสืบต่อ ภายหลังจากที่ได้รับคัดเลือกให้เป็นชุมชนคุณธรรมต้นแบบ จึงได้ขอรับงบประมาณในการพัฒนาต่อยอดทุนทางวัฒนธรรม “บวร On Tour” ในการทำกิจกรรมสืบสานและถ่ายทอดการแสดงพื้นบ้าน “ระบำร่อนแร่” ให้กับเด็ก เยาวชนและประชาชน ซึ่งเป็นการแสดงที่สะท้อนเรื่องราววิถีวัฒนธรรมด้านอาชีพในอดีตให้นักท่องเที่ยวรับชม และมี "โครงการหาดส้มแป้นร่วมใจ คน ๓ วัยร่วมสืบสานวัฒนธรรม" เกิดขึ้นโดยการสนับสนุนของหน่วยง่ายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเล็งเห็นถึงความสำคัญของกิจกรรมทางวัฒนธรรม มีการจำกิจกรรมโดยใช้พื้นที่ของ "ศูนย์การเรียนรู้ภูมิปัญญาการร่อนแร่" ซึ่งตั้งอยู่ในชุมชนบ้านหาดส้มแป้นเป็นสถานที่นัดพบ และทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน สามารถสร้างความสัมพันธ์ในชุมชนให้กลับมาดียิ่งขึ้น ซึ่งเป้าหมายต่อไปในอนาคตคือประสานงานกับโรงเรียนเพื่อผลักดันให้การแสดงทางวัฒนธรรมพื้นบ้านชนิดนี้เป็นหนึ่งในหลักสูตรการเรียนการสอนของท้องถิ่น

ข้อมูลการติดต่อ

นายสมโชค ตั่นง่วน ๐๙๐-๔๒๔-๘๕๑๓

ช่องทางติดต่อ
ติดต่อได้โดยตรง
นายสมโชค ตั่นง่วน ๐๙๐-๔๒๔-๘๕๑๓

แสดงความคิดเห็น

profile