“เสมอภาค แต่ไม่เท่าเทียม”
ตำบลท่างามมีประชากรทั้งหมด ๔,๒๓๐ คน ๑,๓๐๕ ครัวเรือน แบ่งเขตปกครองออกเป็น ๑๑ หมู่บ้าน ประชากรส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพรับจ้าง และอาชีพเกษตรกรรม มีการร่วมกลุ่มในการประกอบอาชีพ และกองทุนต่างๆ ในพื้นที่เป็นจำนวนมาก ปัญหาส่วนใหญ่ของตำบลท่างาม คือ เรื่องระบบเศรษฐกิจ การประกอบอาชีพ ต้นทุนการทำเกษตรกรรมสูง และปัญหาหนี้สินที่เพิ่มขึ้น
เส้นทางสู่ความสำเร็จของการมาเป็นพื้นที่ต้นแบบ
กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลท่างาม ปัจจุบันดำเนินการเข้าสู่ปีที่ ๑๐ จุดเริ่มต้นในการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนโดยท้องถิ่น องค์การบริหารส่วนตำบลท่างาม เป็นกลไกในการขับเคลื่อนงาน ภายใต้การหนุนเสริมของเครือข่ายกองทุนสวัสดิการชุมชนจังหวัดสิงห์บุรี ก่อตั้งกองทุนฯ เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๑ มีสมาชิกครอบคลุมทั้ง ๑๑ หมู่บ้าน โดยมีสมาชิกเริ่มต้น จำนวน ๓๙๗ คน ปัจจุบันมีสมาชิกทั้งหมด ๑,๕๒๓ คน ปัจจุบันมีสมาชิกของกองทุนฯ มี ๒ ประเภท คือ สมาชิกทั่วไป (ประเภท ก) อายุ ๑-๗๐ ปี และ สมาชิกผู้สูงอายุ (ประเภท ข) อายุ ๗๐ ปีขึ้นไป โดยมีหลักคิด “เสมอภาค แต่ไม่เท่าเทียม” ขยายฐานและเพิ่มโอกาสในการเข้าเป็นสมาชิกมากขึ้น ทุกคนในตำบลท่างามสามารถเข้ามาเป็นสมาชิกได้อย่างเสมอภาค ไม่จำกัดสิทธิด้านสุขภาพหรือประสบปัญหาทางสังคม แต่สิทธิสวัสดิการบางรายการอาจไม่เท่าเทียม เช่น สวัสดิการชดเชยกรณีเสียชีวิตที่มีความแตกต่างกันของสมาชิกแต่ละประเภท และจำนวนปีของการเป็นสมาชิก
การรับสมัครสมาชิกของกองทุนดำเนินการปีละ ๑ ครั้งในช่วงเดือนกรกฎาคม และสมาชิกรายเก่าจะต้องสมทบเงินรายปี ปีละ ๓๖๕ บาท (สมทบวันละ ๑ บาท) และการสมทบร่วมจำนวน ๑ เท่าตามจำนวนสมาชิกที่มีอายุครบ ๑ ปีจากองค์การบริหารส่วนตำบลท่างาม และการสนับสนุนจากรัฐบาลผ่านทางสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) โดยรูปแบบการจัดสวัสดิการเพื่อสร้างหลักประกันความมั่นคงในชีวิต เป็นสวัสดิการพื้นฐานตั้งแต่เกิดจนตายตามระเบียบข้อบังคับ ประกอบด้วย การคลอดบุตร รับขวัญบุตร เจ็บป่วยเข้าโรงพยาบาล กรณีเสียชีวิตเบื้องต้น และกรณีสวัสดิการชดเชยการเสียชีวิต โดยขึ้นอยู่กับระยะเวลาการเป็นสมาชิก และประเภทของสมาชิก รวมทั้งการจัดสวัสดิการต่างๆ ในรูปแบบของตามมติที่ประชุมกรรมการเห็นชอบ อาทิ การช่วยเหลือน้ำดื่มกรณีเกิดภัยพิบัติ การช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาทางสังคม สถานะทางการเงินและศักยภาพของกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลท่างาม ซึ่งมีรายได้มากจากหลายส่วน
รายได้
องค์ประกอบรายได้โดยมีเงินของกองทุนฯ จากบัญชีเงินฝากธนาคารทุกบัญชี เงินฝากสลาก ธ.ก.ส. เงินฝากสลากออมสิน เงินสด รวมทั้งสิ้น ๔,๐๐๐,๕๔๙.๘๙ บาท นอกจากนี้ยังมีการพัฒนานวัตกรรมทางสวัสดิการสังคม โดยการบริหารจัดการเพื่อการพัฒนาการประกอบอาชีพ และการแก้ปัญหาหนี้สิน โดยการลงทุนทำธุรกิจ เช่น น้ำดื่มท่างาม ร้านกาแฟ Tar-Ngam coffee
ผลลัพธ์แห่งความสำเร็จ
ธรรมภิบาลสู่การบริหารจัดการสวัสดิการชุมชนท่างาม : ชุมชนคุณธรรม
การดำเนินงานยึดหลักธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการกองทุน “ประชาชนเป็นผู้บริหาร ท้องถิ่นเป็นผู้ปฏิบัติ” โครงสร้างคณะกรรมการกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลท่างาม เป็น ๓ ส่วนหลัก ประกอบด้วย
๑.ภาคประชาชน ทำหน้าที่ในการบริหารจัดการกองทุน
๒.ส่วนท้องถิ่น โดยใช้ข้าราชการพนักงานส่วนท้องถิ่น ทำหน้าที่ในกองเลขานุการ ดำเนินการตามนโยบายและข้อเสนอมติที่ประชุมของคณะกรรมการ
๓.ที่ปรึกษา ทำหน้าที่ในการให้คำปรึกษาข้อเสนอแนะ แนวทางในการขับเคลื่อนงานของกองทุน ทำให้เกิดความเข้มแข็งของกองทุนฯ สร้างระบบเศรษฐกิจรายได้ มีงานทำ การเชื่อมโยงเครือข่ายการประกอบอาชีพต่อเศรษฐกิจของครัวเรือนและชุมชน และการแก้ปัญหาหนี้สินที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรม ก่อให้เกิดกองทุนต่างๆ แยกออกจากระบบกองทุนสวัสดิการ มาดำเนินการจัดการธุรกิจ มีคณะกรรมการบริหารจัดการต่างๆ คนละชุด ในแต่ละกองทุน โดยแสวงหากำไรเพื่อการจัดสวัสดิการตามวัตถุประสงค์ของการจัดตั้ง ภายใต้การกำกับดูแลของกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลท่างาม เช่น ธุรกิจโรงงานน้ำดื่ม
ความท้าทาย/พลังแห่งการขับเคลื่อน
: สร้างนิสัยการออม สู่การปลดหนี้
ปัญหาเรื่องหนี้สินของสมาชิก เกิดจากการที่สมาชิกกองทุนสวัสดิการชุมชนมีการขาดส่งเงินสมทบรายปี ในปี เนื่องจากสภาพปัญหาทางเศรษฐกิจ คณะกรรมการได้ปรึกษาหารือเพื่อแก้ไขปัญหาโดยมีมติให้จัดตั้ง “กลุ่มออมทรัพย์ของกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลท่างาม” เพื่อเป็นกลไกการออมเงินเป็นรายเดือนที่จะสามารถส่งเงินสมทบรายปีเข้ากองทุนสวัสดิการชุมชนของ สมาชิกที่เข้าร่วมได้ และยังได้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการออมของสมาชิก และเกิดรูปแบบการบริหารจัดการที่ดีของกองทุนโดยสร้างฐานความมั่นคง ลดปัญหาการขาดส่งเงินสมทบที่ทำให้ต้องขาดสิทธิสวัสดิการ
โดยปัจจุบันมีเงินออมฝากไว้ในบัญชีธนาคารฯ มีสมาชิกทั้งสิ้น ๓๔๕ ราย คิดเป็นร้อยละ ๒๒.๖๕ ของสมาชิกกองทุน ซึ่งสามารถช่วยเหลือการขาดส่งเงินกองทุนสวัสดิการ เกิดการออมเพิ่มขึ้น การออมเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินของสมาชิก โดยมีแนวคิดพัฒนาต่อยอดการออมชุมชนสู่การเป็นสถาบันการเงินชุมชน
ก้าวต่ออย่างมีคุณธรรม
สู่...เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน SDGs
การดำเนินงานของกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลท่างาม ขับเคลื่อนงานการพัฒนาการประกอบอาชีพ พัฒนาระบบเศรษฐกิจของครัวเรือนและชุมชน และการแก้ปัญหาหนี้สินแบบมีส่วนร่วม สอดคล้องกับการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน(Sustainable Development Goals) ในหลายตัวชี้วัดเป้าหมาย เช่น ขจัดความยากจน ความอดยาก ส่งเสริมความเป็นอยู่ รวมถึงทำให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนในชุมชน เกิดกระบวนการพัฒนาศักยภาพของคน สร้างการมีส่วนร่วม เกิดการจัดการตนเอง สร้างผลงานที่ชัดเจนจนเป็นศูนย์เรียนรู้กองทุนสวัสดิการชุมชนของจังหวัดสิงห์บุรี เป็นนวัตกรรมทางสังคมที่ได้รับรางวัลต่างๆ มากมาย
นอกจากนี้กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลท่างาม มีความพร้อมในถ่ายทอดบทเรียน ประสบการณ์การสร้างการเรียนรู้ หลักสูตรพร้อมถ่ายทอดให้บุคคลต่างๆ ได้เข้ามาศึกษาเรียนรู้ดูงาน และเผยแพร่องค์ความรู้ ของกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลท่างาม ผ่านสื่อสิ่งพิมพ์ผลงานทางวิชาการ สร้างการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ขยายผลต่อในชุมชนอื่นๆ ได้อย่างเป็นระบบและเป็นรูปธรรม
ผู้ประสานงานติดต่อพื้นที่ :
นายชินวุฒิ อาศน์วิเชียร เลขานุการกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลท่างาม
อบต.ท่างาม อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี
เบอร์โทรศัพท์: ๐๘๖-๕๕๗-๖๖๓๖
แสดงความคิดเห็น