“วิถีดี มีความสุข เน้นคุณธรรม ทำความดีด้วย
พลังบวร สู่ความสมหวัง”
ชุมชนคุณธรรมวัดสมหวัง ดั้งเดิม ประชาชนส่วนใหญ่ย้ายถิ่นมาจากจังหวัดราชบุรี สมุทรสาคร นครปฐม เรียกว่า “คนเมืองใน” ชอบวิถีบริบทความเป็นน้ำ บริเวณที่ตั้งชุมชนก็จะเป็นแถบแม่น้ำ ลำคลอง ต่อมาเมื่อลงหลักปักฐาน เริ่มสร้างชุมชนก็อาศัยการปลูกผักสวนครัว พืชผลต่างๆ และส่งขายตลาดโดยทางน้ำ อยู่อาศัยแบบเกื้อกูลกัน เป็นชุมชนสองน้ำ (ไม่กร่อย ไม่เค็ม) ย้ายถิ่นฐานมาตั้งแต่ประมาณปลายปีพ.ศ. ๒๔๐๐ ได้นิมนต์หลวงพ่ออ้วน มาเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ โดยแรกเริ่มชาวบ้านได้ร่วมกันบริจาคที่ดินสร้างเป็นที่พำนักสงฆ์และนิมนต์หลวงพ่ออ้วน ถิรปัญโญ จากจังหวัดนครปฐมมาเป็นผู้ดูแล ต่อมาหลวงพ่ออ้วนมรณภาพในปี พ.ศ. ๒๕๑๔ ทำให้ที่พำนักสงฆ์แห่งนี้ไม่ค่อยมีพระจำพรรษา เนื่องจากความเป็นอยู่ลำบาก ทั้งเรื่องอาหารการกินและการสัญจร จนกระทั่งปี ๒๕๒๔ พระครูโพธิวรสาร หรือหลวงพ่อประมวล ได้เดินธุดงค์ผ่านมา ชาวบ้านเห็นวัตรปฏิบัติแล้วเกิดความเลื่อมใสศรัทธา จึงนิมนต์ให้ท่านอยู่จำพรรษาและได้ร่วมกันบูรณะและพัฒนาจนกลายเป็นสำนักสงฆ์ ก่อนจะได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาถูกต้องตามกฎหมาย ในปี ๒๕๒๔หลังจากนั้นได้เริ่มก่อสร้างเสนาสนะต่างๆ จนวัดเจริญรุ่งเรืองขึ้นตามลำดับ กลายเป็นวัดที่กลมกลืนกับธรรมชาติ มีความร่มรื่น มีระเบียบสวยงาม น่าท่องเที่ยว พักผ่อนหย่อนใจ ถือเป็นวัดที่ได้รับความสนใจและเป็นจุดเช็คอิน และมีสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ให้กราบไหว้บูชา ๓ แห่ง คือ ศาลพ่อเฒ่าศักดิ์สิทธิ์อภินิหาร (หลวงปู่จ้อย) วิหารหลวงพ่ออ้วน (อดีตเจ้าอาวาส) และศาลพ่อตาขุนทะเล (จระเข้)
ชุมชนคุณธรรมวัดสมหวัง มีท่านพระครูสุตธรรมสิทธิ์ เจ้าอาวาสวัดสมหวังและเป็นประธานชุมชนคุณธรรมวัดสมหวัง ซึ่งเป็นที่นับถือและเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวชุมชน ซึ่งชุมชนวัดสมหวัง ไม่ได้มีแต่ผู้ที่นับถือศาสนาพุทธ แต่ยังอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข ช่วยเหลือเกื้อกูลกันและร่วมกันพัฒนาชุมชนของทั้งชาวพุทธ ชาวคริสต์และศาสนาอื่นๆ ชาวชุมชนมีวิถีชีวิตที่เรียบง่าย มีความสงบสุข รักและสามัคคีในชุมชน เน้นคุณธรรมเป็นที่ตั้ง ผู้นำหลักของพลังบวร มีความเข้มแข็ง เสียสละและตั้งใจพัฒนาชุมชนให้ยั่งยืน โดยอาศัยวัดเป็นศูนย์กลาง ศูนย์รวมจิตใจและศูนย์การเรียนรู้ของชุมชน เป็นสถานที่จัดกิจกรรมต่างๆเพื่อปลูกฝังให้เด็ก เยาวชนและคนในชุมชนเป็นคนดี มีความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยใช้พลัง “บวร” บ้าน วัด โรงเรียน เป็นองค์กรหลักในการพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็ง
เส้นทางสู่ความสำเร็จก่อนมาเป็นชุมชนต้นแบบ
จากปัญหาเด็กและเยาวชนในชุมชน มีพฤติกรรม ความฟุ้งเฟ้อ ขาดวินัย ไม่รู้จักหน้าที่ของตนเอง ขาดความร่วมมือกับชุมชน ขาดความเคารพเชื่อฟัง ไม่ปฏิบัติตามวัฒนธรรมประเพณีอันดีงาม การก้าวข้ามปัญหาอุปสรรคนั้น โดยอาศัยพลัง “บวร” พยายามพูดคุยชักนำ ปลูกฝังสิ่งดีงาม ผู้นำชุมชน ผู้ปกครอง พ่อแม่ ก็เป็นแบบอย่างที่ดีให้เด็กและเยาวชน
ความสามัคคี ชุมชนยึดความสามัคคีเป็นที่ตั้ง ผู้นำจะถามประชาชนในชุมชนก่อนที่จะดำเนินการใดๆในชุมชนที่มีผลกระทบต่อประชาชนในชุมชน พูดคุยทำความเข้าใจถึงผลที่ได้รับ ผลกระทบและให้ประชาชนในชุมชนช่วยคิด ใช้น้ำใจ ไม่บังคับ ชั่งน้ำหนักหาเหตุผล
ผู้นำชุมชนมีความเข้มแข็ง เสียสละ ทุ่มเทในการพัฒนา เป็นแบบอย่างที่ดี เป็นต้นแบบให้เด็กและเยาวชนได้นำไปปฏิบัติ ประธานชุมชนพยายามสร้างความเป็นชุมชน การสร้างตลาดวิถีชุมชน สร้างโคกหนองนาโมเดล โรงเรียนมีบริบทที่ดีพัฒนาทั้งด้านวิชาการและด้านคุณธรรมควบคู่กันไป ซึ่งดูจากผลสัมฤทธิ์ของนักเรียนที่เพิ่มขึ้นในแต่ละปี ในชุมชนมีความรักความสามัคคี ร่วมแรงร่วมใจ การอยู่ร่วมกันของคนต่างศาสนา มีความเกื้อกูลช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น
พฤติกรรมของเด็กและเยาวชนเปลี่ยนไปในทางที่ดีงาม มีความเข้าใจในวิถีชุมชนมากขึ้น รักและหวงแหนในวัฒนธรรมท้องถิ่น มีคุณธรรม จริยธรรม และน้อมนำหลักคุณธรรม ๔ ประการ พอเพียง วินัย สุจริต จิตอาสา มาเป็นแนวปฏิบัติ ชุมชนได้ฟื้นฟูภูมิปัญญาท้องถิ่นและถ่ายทอดสู่เยาวชนรุ่นหลัง ให้เด็กและเยาวชนได้เรียนรู้สามารถนำไปใช้ในการดำรงชีวิตและสร้างอาชีพสร้างรายได้ในอนาคต
เป้าหมายที่จะดำเนินต่อ
ให้คนในชุมชนฝ่าวิกฤตการต่างๆไปให้ได้ และทำให้ชุมชนโดดเด่นขึ้นมา เพื่อต้องการที่จะนำสิ่งดีงามสู่สังคม สืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นสู่เด็กและเยาวชน จะสืบสานและรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีที่ดีงามให้คงอยู่
ข้อมูลการติดต่อ
พระครูสุตธรรมสิทธิ์ มือถือ ๐๖๒-๕๖๕๔๒๕๑ เจ้าอาวาสวัดสมหวัง ตำบลประดู่ จังหวัดสุราษฎร์ธานี
แสดงความคิดเห็น