community image

เทศบาลตำบลวานรนิวาส

อ.วานรนิวาส ต.วานรนิวาส จ.สกลนคร
วันที่สร้างโพสต์ : 20 กันยายน 2567
วันที่อัปเดต : 27 กันยายน 2567
จำนวนผู้เข้าชม: 4 คน
cover

กว่าจะมาเป็นวันนี้

         เทศบาลตำบลวานรนิวาสนั้นมีบางส่วนเป็นพื้นที่ของกรมธนารักษ์ ซึ่งประชาชนส่วนหนึ่งจะเช่าตรงจากกรมธนารักษ์ และส่วนหนึ่งจะเช่าช่วงต่อจากเทศบาลตำบลวานรนิวาส ทำให้การพัฒนาที่ดินของเทศบาลเป็นไปได้ยาก เนื่องจากประชาชนในพื้นที่ส่วนใหญ่ถือครองที่ราชพัสดุ ไม่ขอเช่าที่ให้ถูกต้องตามกฎหมาย ด้วยเหตุดังกล่าว ผู้บริหารจึงมีแนวคิดที่จะพัฒนาพื้นที่ราชพัสดุให้เป็นตัวอย่างในด้านการบริหารจัดการพื้นที่สาธารณะให้เป็นประโยชน์ต่อทุกภาคส่วนในเขตพื้นที่ท้องถิ่นและพื้นที่ใกล้เคียง

 

เส้นทางสู่ความสำเร็จของการมาเป็นชุมชนต้นแบบ

         เทศบาลตำบลวานรนิวาส ได้ดำเนินการลงพื้นที่สำรวจ สภาพแวดล้อมของชุมชน มีพื้นที่ของกรมธนารักษ์ด้านข้างสำนักงานเทศบาลตำบลวานรนิวาสหลังเก่าซึ่งมีภูมิทัศน์เสื่อมโทรมอยู่ใจกลางเมือง รกร้างว่างเปล่า สกปรก มีเด็กวัยรุ่นใช้เป็นที่นัดพบมั่วสุม ซึ่งปัญหาเหล่านี้อาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมชุมชนในอนาคต จากสภาพปัญหาพื้นที่ที่พบ และเทศบาลตำบลวานรนิวาสเป็นชุมชนเมือง เป็นที่รวมของการค้าขายของอำเภอวานรนิวาส มีตลาดสดขนาดใหญ่ มีตลาดโต้รุ่ง และตลาดนัด มีร้านค้าขนาดใหญ่ที่เป็นจุดรับและกระจายสินค้าหลายร้าน และเป็นศูนย์รวมของหน่วยงานราชการ มีประชาชนมาติดต่อราชการและมาจับจ่ายซื้อขายสินค้าจำนวนมาก และคนในพื้นที่จะมีอาชีพรับจ้าง ค้าขาย และประกอบกับรายได้จัดเก็บเองของเทศบาลมาจากการพาณิชย์ค้าขายของประชาชน   

ทางเทศบาลจึงได้นำข้อมูลสภาพปัญหาและข้อมูลทั่วไปนำมาวิเคราะห์ โดยการนำเข้าสู่การประชุมหารือในชุมชน เพื่อร่วมกันหาแนวทางแก้ไขของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และนำเข้าการประชุมประชาคมของชุมชน เพื่อหาแนวทางแก้ไข และแนวทางในการพัฒนาที่ดินรกร้างของกรมธนารักษ์ จึงได้จัดทำ “โครงการก่อสร้างอาคารพาณิชย์ ๒ ชั้นครึ่ง ๓๖ คูหา บริเวณที่ดินไฟฟ้าเก่า” ซึ่งการดำเนินการ โครงการจะสามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้เป็นอย่างดี และเกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจ มีแหล่งศูนย์กลางธุรกิจการค้าเพิ่มขึ้น การลงทุนในชุมชน เกิดการจ้างงาน และเทศบาลสามารถจัดเก็บรายได้เพิ่มขึ้น สามารถนำมาพัฒนาชุมชนเป็นนโยบายด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ ในการดำเนินงานโครงการดังกล่าวนั้นไม่ได้ใช้งบประมาณของทางราชการ แต่ใช้วิธีให้เอกชนลงทุนก่อสร้างอาคารและยกกรรมสิทธิ์ให้กระทรวงการคลัง และเทศบาลดำเนินการเก็บค่าเช่าเป็นรายเดือน ราชการและประชาชนได้ประโยชน์ ทั้งเพิ่มรายได้ เพิ่มแหล่งที่อยู่อาศัย กระตุ้นเศรษฐกิจทำให้ประชาชนในเขตเทศบาลมีทางเลือกเพิ่มขึ้น

 

ความท้าทาย

         ในเมื่อพื้นที่ในใจกลางเมืองเทศบาลตำบลวานรนิวาสเป็นที่ราชพัสดุเป็นส่วนมา สภาพที่อยู่อาศัยของคนในเขตเทศบาลไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน รวมถึงสภาพแวดล้อมของที่อยู่อาศัยรกร้างว่างเปล่า เป็นแหล่งทิ้งขยะของคนในชุมชน และยังเป็นแหล่งมั่วสุมของเยาวชนในเรื่องสุรา ยาเสพติด ทางเทศบาลจึงมีแนวคิดร่วมกับชุมชนเพื่อหาแนวทางแก้ไขสภาพปัญหาที่คาดว่าอาจเกิดรุนแรงขึ้น หากไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน จึงเป็นความท้าทายในการทำงานเพื่อที่จะเปลี่ยน “สนามหญ้า ให้เป็นสนามการค้า” เพื่อพัฒนาให้ประชาชนในพื้นที่ได้ใช้ประโยชน์ในการสร้างรายได้ให้ตนเองและครอบครัว


ผลลัพธ์และผลกระทบที่เกิดขึ้น

         จากการบริหารโครงการนี้ ทำให้ชุมชนและประชาชนในพื้นที่มีชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ได้รับการบริการพื้นฐานในการดำเนินชีวิตที่พอเพียง โดยมีที่อยู่อาศัยที่มั่นคงเพิ่มขึ้น สร้างอาชีพและรายได้ของชุมชนในระยะยาว คนในชุมชนคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่ดี อันส่งผลต่อการดำรงชีวิตของประชาชนในอนาคต

         จากประเมินผลโครงการก่อสร้างอาคารพาณิชย์พักอาศัย มีการบำรุงรักษา ดูแลระบบสาธารณูปโภคและการให้บริการสาธารณะ บริการเก็บขนขยะสิ่งปฏิกูลและการจัดการน้ำเสีย ดูแลความปลอดภัยในทรัพย์สินโดยการตั้งจุดตรวจ(ตู้แดง)ของเทศบาล ประชาชนผู้เช่าช่วงห้องโครงการร่วมกันในการรักษาความสะอาดของอาคารและสถานที่ให้มีความสะอาดเรียบร้อย อีกทั้งช่วยกันสอดส่องดูแลความปลอดภัยในสถานที่ ด้วยความรัก ความสามัคคี และเอื้ออาทรต่อกัน


เป้าหมายที่จะเดินต่อ

         ด้วยเป็นโครงการที่เกิดจากการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนและองค์กรในพื้นที่ สอดคล้องกับนโยบายด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ มีการประชุมประชาคม ประชาชนนำเสนอให้เทศบาลแก้ปัญหาพื้นที่ที่มีภูมิทัศน์เสื่อมโทรมใจกลางเมืองที่รกร้างว่างเปล่า จึงได้เกิดโครงการการพัฒนาพื้นที่ของกรมธนารักษ์ เพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน และคุณภาพสิ่งแวดล้อม ศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการโดยการศึกษาดูงานที่เทศบาลเมืองกาฬสินธุ์และเทศบาลนครอุดรธานี มีการแต่งตั้งคณะทำงานประชุมคณะกรรมการจัดหาประโยชน์ เพื่อกำหนดอัตราเช่าช่วงเมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จ

นำเสนอต่อสภาเพื่ออนุมัติในกรณีที่เทศบาลจะทำสัญญาเกิน ๓ ปี ขออนุญาตใช้ที่ของกรมธนารักษ์บริเวณที่ดินไฟฟ้าเก่าให้เทศบาลใช้ประโยชน์มีระยะยาวการเช่า ๑๕ ปี ดำเนินการจัดประมูลหาผู้ประสงค์จะใช้สิทธิเช่าช่วงอาคาร ลงนามในสัญญาก่อสร้าง ใช้ระยะเวลาก่อสร้าง ๒๐ เดือน จัดเก็บรายได้ในส่วนของค่าเช่า ภาษีป้าย ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เป็นการส่งเสริมการประกอบอาชีพของประชาชน เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างอาชีพ สร้างโอกาส สร้างรายได้ที่มาจากการจ้างงาน ทำให้คุณภาพชีวิตของประชาชนดีขึ้น สภาพแวดล้อมของชุมชนถูกปรับปรุงให้มีภูมิทัศน์สวยงาม มีที่อยู่อาศัยที่มั่นคงและปลอดภัย


ข้อมูลติดต่อ

นายปรีดา สุวรรณพรม ๐๘๑-๗๖๘-๒๑๕๕


ช่องทางติดต่อ
ติดต่อได้โดยตรง
นายปรีดา สุวรรณพรม ๐๘๑-๗๖๘-๒๑๕๕

แสดงความคิดเห็น

profile