“รอยพระบาททรงคุณค่า
ท่าพระเจ้าอันศักดิ์สิทธิ์
ดำเนินชีวิตด้วยเศรษฐกิจพอเพียง”
กว่าจะมาเป็นวันนี้
บ้านป่าบงเป็นหมู่บ้านเล็กๆ ชาวบ้านส่วนใหญ่มีอาชีพรับจ้างทั่วไป ทำนา ทำสวน เลี้ยงสัตว์ เนื่องด้วยประชากรส่วนใหญ่มีอาชีพรับจ้างทั่วไป หาเช้ากินค่ำ ไม่ได้มีเวลามาสนใจกับปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นภายในชุมชน ต่างคนต่างทำมาหากิน วิถีชีวิตหาเช้ากินค่ำ เมื่อมีความเจริญด้านต่างๆเข้ามา วิถีชีวิตจากเดิมเริ่มมีการเปลี่ยนแปลง มีปัญหาที่เกิดขึ้นตามจำนวนประชากร คือ ปัญหาขยะในแต่ครัวเรือน ซึ่งได้ส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันทั้งในครอบครัวเอง และต่อส่วนรวม ซึ่งบางครั้งอาจไม่เกิดจากในพื้นที่ แต่ด้วยทางผู้นำมีจิตสำนึก และตระหนักในปัญหาที่จะเกิดขึ้นต่อส่วนรวม จึงได้สมัครผู้ที่มีจิตอาสาเข้ามาทำงานเพื่อร่วมหาแนวทางแก้ไขปัญหาต่างๆ และพัฒนาหมู่บ้านให้มีวิถีชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งปัญหาที่ชุมชนประสบ ได้แก่ ปัญหากลิ่นควันจากการเผา กลิ่นเหม็นจากเศษขยะเปียก ปริมาณขยะในชุมชนเพิ่มมากขึ้น
เส้นทางสู่ความสำเร็จของการมาเป็นชุมชนคุณธรรมต้นแบบ
เริ่มต้นจากผู้นำ และกลุ่มจิตอาสาในชุมชน เป็นผู้ที่มีความใส่ใจต่อความเป็นอยู่ของชุมชน สังคมสาธารณะ จึงอาสาลงมือทำอย่างตั้งใจ ที่จะมาร่วมทำให้หมู่บ้านเป็นหมู่บ้านที่น่าอยู่ เป็นหมู่บ้านที่พึ่งพาตนเองได้อย่างพอเพียง ด้วยจิตอาสา ความสามัคคี เพื่อประโยชน์ของผู้อื่น ของสังคม ของประเทศชาติ โดยมิได้หวังผลตอบแทน ความต้องการที่จะแก้ปัญหาเรื่องขยะ ซึ่งเห็นว่าเป็นปัญหาที่ใกล้ตัว หากได้รับความร่วมมือจากคนในครัวเรือน ก็จะสามารถลดปัญหาขยะได้ จึงเกิดการรวมตัวกันขึ้นเพื่อร่วมกันหาแนวทางในการโน้มน้าวให้แต่ละครอบครัวเห็นความสำคัญในการจัดการขยะ และนำขยะในชุมชนมาทำให้เกิดประโยชน์ได้
ดังนั้นผู้นำ จึงหาโอกาสเข้าร่วมการอบรมความรู้ในการคัดแยกขยะ การอบรมการบริหารจัดการขยะเปียกในครัวเรือน จากหน่วยงาน กศน.ประจำตำบล องค์การบริหารส่วนตำบลสันกลาง และไปศึกษาดูงานจากพื้นที่ต่างๆ ที่ประสบผลสำเร็จในเรื่องการบริหารจัดการขยะ การนำขยะเก่ามารีไซเคิล นำกลับมาใช้ใหม่ กลายเป็นสินค้าผลิตภัณฑ์ในชุมชน ประกอบกับหน่วยงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ ได้เห็นความสำคัญในเรื่องการแก้ไขปัญหาขยะในท้องถิ่น มีความต้องการให้แต่ละหมู่บ้านชุมชนมีส่วนร่วมในการช่วยแก้ปัญหาขยะชุมชน ได้จัดให้มีการอบรม พาไปศึกษาดูงานในพื้นที่ที่ประสบผลสำเร็จในเรื่องการบริหารการขยะมีภาคีเครือข่ายต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ทั้งในพื้นที่ และนอกพื้นที่ จากการที่ได้นำความรู้มาปรับใช้ ในพื้นที่และมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เกิดการรวมกลุ่มอาชีพภายในชุมชน จนได้รับการยกย่องเป็นหมู่บ้านปลอดยาเสพติด หมู่บ้านสีขาว หมู่บ้านกองทุนแม่ของแผ่นดิน หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ หมู่บ้านสวย เมืองสุข และชุมชนคุณธรรมต้นแบบ เป็นต้น
ความท้าทาย
ความท้าทายที่เกิดขึ้น คือ วิธีการ ในการสร้างความเข้าใจให้กับชาวบ้านชุมชนได้เห็นพ้องคล้อยตาม ในที่ผู้นำมีความตั้งใจให้มีสิ่งดีๆเกิดขึ้นภายในชุมชน ในการมีส่วนร่วมคิด ร่วมทำตามแนวทางที่ต้องการแก้ปัญหา บางคนมองเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาและทำให้เห็นว่าทำแล้วได้อะไร ให้เห็นผลอย่างชัดเจน และเกิดประโยชน์ต่อตนเอง ครอบครัว และชุมชน อย่างไร ซึ่งเริ่มจากผู้ที่มีความคิดเห็นพ้องร่วมกัน ร่วมดำเนินการตามแนวทางที่ร่วมกันกำหนดไว้อย่างต่อเนื่อง (วิธีการกำจัดขยะ ควบคู่กับการเป็นหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง) จนเห็นผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นเป็นที่น่าพอใจในระดับหนึ่ง สามารถลดปริมาณขยะของชุมชนได้ โดยข้อมูลสถิติจากการเก็บขยะขององค์การบริหารส่วนตำบล
ผลลัพธ์และผลกระทบที่เกิดขึ้น
ด้วยกระบวนการทำงานดังกล่าวมาเกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของคนในชุมชน พฤติกรรมของคนในชุมชนท้องถิ่น เป็นการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่ดี มีจิตสำนึกในการคัดแยกขยะซึ่งส่งผลให้ชุมชนน่าอยู่ ปัญหาขยะลดลง มีรายได้เสริมจากการนำขยะเก่ามารีไซเคิล ทำให้เกิดเป็นรายได้ เกิดกองทุนจากการบริหารจัดการขยะชุมชน มีเงินสนับสนุนเป็นทุนการศึกษา เงินช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส ซึ่งจะมอบเนื่องในโอกาสวันสำคัญของสถาบัน ช่วยเหลือสาธารณประโยชน์ จนกระทั่งคนในชุมชนมีความตระหนักและให้ความร่วมมือมากขึ้น จากเดิมมีครอบครัวที่เข้าร่วมในวงแคบ ไม่กี่ครัวเรือน ซึ่งขณะนี้มีจำนวนครัวเรือนเข้าร่วมโครงการเพิ่มมากขึ้นขยายเป็นวงกว้าง มากกว่า ๘๐ ครัวเรือน
เป้าหมายที่จะเดินต่อ
สำหรับเป้าหมายที่จะก้าวเดินต่อ คือ ต้องการเป็นชุมชนปลอดขยะ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์(หมู่บ้าน Zero Waste) และเผยแพร่องค์ความรู้สู่ชุมชนอื่นได้ สร้างชุมชนให้เข้มแข็ง เพื่อให้ชุมชนนี้ อยู่ดี กินดี มีสุข บนพื้นฐานคุณธรรม
ผู้ติดต่อในพื้นที่
นายสมฤทธิ์ ชุนตะปา ประธานชุมชนคุณธรรม ๐๙๔-๖๐๓๘๑๖๖
แสดงความคิดเห็น