กว่าจะมาเป็นวันนี้
ตำบลนางแลนั้นเป็น ๑ ใน ๑๕ ตำบลชองอำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย ประกอบด้วย ๑๖ หมู่บ้าน เป็นชุมชนที่อุดมสมบูรณ์ด้วยพืชพรรณธรรมแม้จะมีภูมิประเทศในลักษณะของดอย แต่ก็มีทุนทางธรรมชาติที่สำคัญ เช่น ไม้ประดู่ ไม้ตะเคียน ไม้ยาง ไม้สัก ไม้ไผ่บงซาง รวมไปถึงอยู่ใกล้ชิดกับป่าซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์นานาชนิด ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทางเกษตรกรรม ทำนา และเลี้ยงสัตว์(ช้าง)
เส้นทางสู่ความสำเร็จของการมาเป็นชุมชนต้นแบบ
จากอดีตจนถึงปัจจุบัน ตำบลนางแลเดิมเป็นตำบลที่ชุมชนมีถิ่นกำเนิดและอัตลักษณ์ที่มีความผูกพัน รักใคร่ กลมเกลียว เนื่องจากเป็นชุมชนที่เกิดจากการอพยพโยกย้ายถิ่นฐานซึ่งเป็นเครือญาติเดียวกันมาอยู่ร่วมกันในตำบลนางแล ทำให้ชุมชนมีความผูกพัน ห่วงใย รักใคร่ โอบอ้อม อารี มุ่งช่วยเหลือทำประโยชน์ร่วมกัน การประกอบศาสนกิจต่าง ๆ ร่วมกัน การสืบสานประเพณีต่าง ๆ มีความร่วมมือกัน
เนื่องจากตำบลนางแลไม่พบผู้กระทำความผิดด้านอาชญากรรมที่ร้ายแรง มีเพียงปัญหาที่สามารถแก้ไขได้ด้วยชุมชนเอง ดังนั้นคนในชุมชนจึงมีการร่วมกิจกรรมลดละเลิกอบายมุข การทำกิจกรรมงดเหล้าในงานบวช กิจกรรมงดเหล้าเข้าพรรษา กิจกรรมทำบุญสัญจร ๙ วัด
นอกจากนี้แล้วก็มีการรวมกลุ่มกันจัดทำระบบสวัสดิการตั้งแต่เกิดจนตาย ได้แก่ การมีกองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลนางแล ที่ขับเคลื่อนด้านสวัสดิการของชุมชนตำบลนางแลมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๕๔ จนถึงปัจจุบัน
ด้วยการอาศัยความร่วมมือร่วมใจ ความสมัครสมานสามัคคีในชุมชน ใช้หลักการมีส่วนร่วมในการร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมรับผลประโยชน์ ในการดำเนินงานกิจกรรม โครงการต่างๆ ให้เป็นไปตามระเบียบแบบแผนที่วางไว้ อีกทั้งคนในชุมชนนั้นยังมีความซื่อสัตย์สุจริต มีความโปร่งใสสามารถตรวจสอบได้ ประกอบกับทุนทางธรรมชาติที่มีความอุดมสมบูรณ์ส่งผลให้ชุมชนประสบความสำเร็จเป็นที่ประจักษ์ มีสังคมที่เอื้ออาทรช่วยเหลือกัน มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อกันในยามทุกข์ยาก มีการแบ่งปันช่วยเหลือซึ่งกันและกัน การมีสัมมาชีพที่มั่นคง มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง ไม่เกิดภาระต่อสังคม การสืบทอดประเพณีจากรุ่นสู่รุ่นให้เกิดการปฏิบัติติดต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน
ซึ่งเป็นภาพลักษณ์ที่บุคคลภายนอกให้การยอมรับว่าตำบลนางแลนั้นเป็นตำบลต้นแบบด้านคุณธรรม เรื่อง “ตำบลนางแลเมืองน่าอยู่ มุ่งสู่การบริหารจัดการที่ดี ประชาชนมีสุขภาวะสมบูรณ์ สร้างสังคมแห่งความสุข”และเป็น อปท. ต้นแบบด้านคุณธรรม เรื่อง การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง
ความท้าทาย
ความท้าทายในการบริหารจัดการของเทศบาลตำบลนางแลที่ผ่านมา ได้แก่ ปัญหาของการที่ตำบลนางแลในปัจจุบันซึ่งเคยเป็นสังคมชนบท เข้าสู่การเป็นชุมชนที่เข้าสู่สังคมกึ่งเมือง กึ่งชนบท ชุมชนเกิดการพัฒนาแบบก้าวกระโดด ทำให้คนในชุมชนไม่สามารถปรับตัวได้ทันต่อการพัฒนาของเมือง ส่งผลให้คนในชุมชนซึ่งประกอบอาชีพเกษตรกรรมมาแต่ในอดีตขาดการปรับตัวให้เข้ากับสังคมในยุคปัจจุบันได้
ผลลัพธ์และผลกระทบที่เกิดขึ้น
พอเพียง - คนในชุมชนดำเนินชีวิตแบบทางสายกลาง โดยน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ และสามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนภายใต้กระแสโลกาภิวัฒน์และความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ
วินัย - มีความยึดมั่นและรับผิดชอบในหน้าที่ของตน ทั้งวินัยต่อตนเองในการผลักดันชีวิตให้ก้าวหน้า วินัยต่อองค์กร สังคม และปฏิบัติตามจริยธรรม จรรยาบรรณ และเคารพกฎหมายบ้านเมือง
สุจริต - มีความซื่อตรง ซื่อสัตย์สุจริต ยึดมั่น ยึดหลักในการรักษาความจริง ความถูกต้อง ความเป็นธรรมทั้งปวง นอกจากตนเองจะเป็นคนซื่อตรงแล้ว ยังกล้าปฏิเสธการกระทำที่ไม่ซื่อตรง ไม่ซื่อสัตย์ของบุคคลอื่นที่จะทำให้ส่วนรวมเกิดความเสียหาย
จิตอาสา - ใส่ใจต่อสังคมสาธารณะ และอาสาลงมือทำอย่างใดอย่างหนึ่งอันไม่ใช่หน้าที่ของตนเอง ด้วยความรัก ความสามัคคี เพื่อประโยชน์ของผู้อื่นโดยมิได้หวังผลตอบแทน ทำความดีเพื่อความดี เอื้ออาทรต่อคนร่วมสังคม ทำอย่างสม่ำเสมอจนเป็นนิสัย
กตัญญู - แสดงออกถึงการรู้คุณค่าของบรรพชน บุพการี ประเทศชาติบ้านเมือง และทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ลงมือปฏิบัติต่อบุคคลและสิ่งเหล่านั้นในเชิงบวก สร้างให้เกิดเป็นต่อการดำเนินชีวิตร่วมกันในทุกเพศ วัย ศาสนา อาชีพ และสภาพแวดล้อมที่งดงาม
นอกจากนั้นยังมีในด้านของผลกระทบที่เกิดต่อสังคมภายนอก คือ การมีหน่วยงานหรือภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ได้นำเรื่องราวความสำเร็จนี้จากชุมชนท้องถิ่นในจุดหนึ่ง ไปขยายผลและนำไปปรับใช้ต่อในบ้านเมืองของตนเอง หรือไปดำเนินนโยบายทางสังคม ในพื้นที่ของตนเอง
เป้าหมายที่จะเดินต่อ
เป้าหมายที่เทศบาลตำบลนางแลมุ่งมั่นและตั้งใจที่จะทำให้เกิดความยั่งยืนนั้น เทศบาลตำบลนางแลมีความมุ่งมั่นที่จะสร้างคนในตำบลนางแลให้เป็นผู้ที่จิตใจที่ดีงาม มีคุณธรรม เป็นแบบอย่างที่ดีของคนรุ่นหลัง เป็นชุมชนที่ได้รับการยอมรับจากบุคคลภายนอกและเป็นชุมชนต้นแบบแห่งคุณธรรมที่ดีงามและได้รับการยกย่องเชิดชูจากหน่วยงานอื่น
ข้อมูลติดต่อ
นางอุบล ไชยเลิศ ๐๘๘ – ๒๕๘๗๘๐๒
แสดงความคิดเห็น