กว่าจะมาเป็นวันนี้
องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านหยวก ได้บริการจัดเก็บขยะให้ชุมชน และต้องนำไปกำจัดขยะมูลฝอยโดยวิธีฝังกลบ โดยใช้ พื้นที่สาธารณะของชุมชนเพื่อเป็นที่ทิ้งขยะ แต่ด้วยจำนวนรถขยะและพนักงานมีจำนวนน้อย ทำจึงไม่สามารถจัดเก็บได้ครบทุกหมู่บ้านภายใน ๑ วัน ทำให้มีขยะเน่าเหม็นเกิดขึ้น กอปรกับครัวเรือนยังขาดการแยกขยะจากต้นทาง จึงทำให้มีขยะตกค้าง เนื่องจากยังขาดความรู้ความเข้าใจในการคัดแยกขยะ ขาดพื้นที่ในการทิ้งขยะ อันเป็นสิ่งที่จุดประกายทำให้เกิดกองทุนอาสาทำดี ๔ พลัส กิจกรรมต่อยอดจากกองทุนอาสาทำดี จากขยะรีไซเคิล เป็นนวัตกรรมที่เกิดขึ้นโดยไม่ใช้เงินเป็นตัวตั้ง เป็นกลยุทธ์ในการให้คนได้ทำความดี โดยการบริจาคขยะ เพื่อนำเงินไปช่วยเหลือสังคม
เส้นทางสู่ความสำเร็จของการมาเป็นชุมชนต้นแบบ
เริ่มจากการประชุมปรึกษาหารือ สภาพปัญหา ความต้องการ วิเคราะห์ปัญหา วางแผนแนวทางการทำงาน เสนอโครงการเพื่อของบประมาณ ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประชาสัมพันธ์โครงการถึงผู้นำทุกหมู่บ้าน จัดทำป้ายประชาสัมพันธ์ ดำเนินการออกหน่วยรับบริจาคขยะ รวบรวม คัดแยก ให้ร้านรับซื้อขยะมารับซื้อตามประเภทที่แยกได้ นำรายได้จากการจำหน่ายขยะเข้ากองทุนขยะ สรุปผลและประเมินผลการดำเนินโครงการ ขยายผลการดำเนินงาน ปรับรูปแบบกระบวนการทำงาน
ในการขับเคลื่อนงานอบต.บ้านหยวกจะดำเนินการออกรับบริจาคขยะ โดยให้เจ้าหน้าที่รับผิดชอบจัดทำแผนในการออกขอรับบริจาคขยะทุกๆ ๓ เดือน เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบ โดยส่งหนังสือถึงผู้ใหญ่บ้านให้ช่วยประชาสัมพันธ์ ก่อนล่วงหน้า ๓ วัน และใช้ประชาสัมพันธ์ล่วงหน้า ๑ วัน ในวันที่ออกขอรับบริจาคขยะจะใช้รถกระเซ้าของอบต.บ้านหยวก พร้อมเจ้าหน้าที่ที่มีจิตอาสา ร่วมกันดำเนินการ จากนั้นเจ้าหน้าที่อบต.บ้านหยวก ร่วมกันคัดแยกขยะ โดยใช้เวลาหลังเลิกงาน และให้จิตอาสา เยาวชน มาช่วยคัดแยกขยะ เพื่อนำขยะไปจำหน่าย นำเงินเข้ากองทุนอาสาทำดี
จุดเด่นของนวัตกรรมในพื้นที่มีหลักคิด คือการบูรณาการร่วมกันระหว่าง ท้องถิ่น ท้องที่ ภาครัฐ ภาคประชาชน สอดคล้องกับแนวทางประชารัฐ ร่วมขับเคลื่อนงานเพื่อให้เกิดประโยชน์สุขแก่ประชาชนในพื้นที่ อย่างต่อเนื่องเพื่อให้เกิดความยั่งยืน ดังนั้นจึงมีการเชื่อมโยงทุนหรือกิจกรรม ทรัพยากรบุคคล พัสดุครุภัณฑ์ในพื้นที่อย่างหลากหลาย อาทิ อบต.บ้านหยวก เป็นหน่วยประสานทุน/กิจกรรมในระดับตำบล เป็นต้น
ความท้าทาย
เนื่องจากอบต.บ้าน ประกอบด้วยหลายหมู่บ้าน มีพื้นที่กว้าง เขตหมู่บ้านห่างไกลกัน ประชาชนส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกร ซึ่งจะไม่มีเวลาอยู่บ้านในเวลากลางวัน ทำให้เกิดอุปสรรคในการดำเนินโครงการ ทั้งเรื่องการประชาสัมพันธ์ สร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโครงการยังไม่ทั่วถึง อีกทั้งอาสาสมัครที่ออกขอรับบริจาคขยะ จะเป็นเจ้าหน้าที่ พนักงานจ้างของทางอบต. ซึ่งมีงานประจำที่ต้องดำเนินการ
นอกจากนี้ประชาชนที่เข้าร่วม เป็นเพียงผู้ที่บริจาคขยะให้กับกองทุนอาสาทำดี ยังขาดจิตอาสาที่ร่วมออกขอรับบริจาคขยะ และรวบรวมขยะในแต่ละหมู่บ้าน ซึ่งสามารถก้าวผ่านได้โดยกำหนดนโยบายเรื่องการสร้างนวัตกรรมจากการจัดการขยะ กำหนดแผนงานในแผนพัฒนาท้องถิ่นให้เกิดเป็นนวัตกรรมที่ยั่งยืน
ผลลัพธ์และผลกระทบที่เกิดขึ้น
วินัย - มีส่วนร่วมจากประชาชนจัดการขยะต้นทาง ในพื้นที่ตำบลบ้านหยวก มีการคัดแยกขยะ ทำให้ปริมาณขยะลดลง บริเวณบ้านเรือนสะอาด น่าอยู่ น่ามอง เป็นชุมชนที่สะอาดปราศจากขยะ มีการคัดแยกขยะที่ถูกวิธี
จิตอาสา - มีการคัดแยกขยะ และบูรณาการเชื่อมโยงการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ใน ๔ เรื่อง คือ ๑)การทำความดี ที่ทำได้และเห็นผลเป็นรูปธรรม ๒)การจัดการขยะต้นทาง ๓)สร้างจิตอาสา ๔)การบูรณาการทำงาน เชื่อมโยงงานและกิจกรรมร่วมกัน
กตัญญู - กองทุนอาสาทำดีเพื่อช่วยเหลือผู้สูงอายุที่เป็นผู้ป่วยติดเตียง หรือมีภาวะพึ่งพิง โดยมีคณะกรรมการรับผิดชอบออกไปช่วยเหลือผู้สูงอายุที่ป่วย มีภาวะพึ่งพิงในพื้นที่ และรู้คุณสิ่งแวดล้อมด้วยการจัดการสิ่งแวดล้อมในรูปแบบคณะทำงานกองทุนขยะรีไซเคิลตำบลบ้านหยวก
นอกจากนี้ยังมีกองทุนอาสาทำดี เพื่อการจัดการขยะต้นทาง การขับเคลื่อนงานศพปลอดเหล้า+๓(ปลอดบุหรี่ ปลอดการพนัน ปลอดภัยเรื่องอาหาร) และสนับสนุนกลุ่มอาชีพ ในปี ๒๕๖๓ มีการขยายกิจกรรม โดยมีกองทุนที่ก่อตั้งเพิ่มขึ้น จึงเกิดผลลัพธ์ที่ครอบคลุมหลายมิติมากขึ้น
เป้าหมายที่จะเดินต่อ
เป้าหมายในอนาคตคือการปรับปรุงผลงานให้ดียิ่งขึ้น ได้แก่
๑.การเพิ่มช่องทางการประชาสัมพันธ์ที่หลากหลายยิ่งขึ้น เช่น การใช้ช่องทางเฟสบุ๊คเพื่อไลฟ์สดกิจกรรมสำคัญและจัดรายการข่าว อบต.อย่างน้อยเดือนละ ๑ ครั้ง
๒.จัดเวทีมหกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้นวัตกรรมของเครือข่าย ให้มีกิจกรรมการยกย่องเชิดชูจิตอาสาทุกภาคี การมอบใบประกาศ การขยายธนาคารความดีให้ครอบคลุมทุกกลุ่มภาคีเครือข่ายและได้รับและฝากคะแนนความดีเพิ่มมากขึ้น และการจัดเวทีเชิดชูจิตอาสาประจำปีระดับตำบลเพื่อให้เกิดความตื่นตัวในภาคประชาชนและให้เกิดการมีส่วนร่วมมากขึ้น
๓.สร้างนวัตกรรมให้เป็นแหล่งเรียนรู้ มีวิทยากรสามารถถ่ายทอดประสบการณ์ให้แก่ภาคีเครือข่ายทั้งภายในและภายนอกไปปรับใช้ต่อไป
ข้อมูลติดต่อ
นางจินตนา สวัสดิไชย ๐๖๑-๙๖๗-๒๙๖๗
แสดงความคิดเห็น