กว่าจะมาเป็นวันนี้
เดิมชุมชนบ้านแม่กาห้วยเคียนเป็นชุมชนชนบท คนในชุมชนมีความเป็นอยู่ที่เรียบง่าย หลังจากมีการตั้งมหาวิทยาลัยพะเยาขึ้นทำให้สังคมชนบทเริ่มเปลี่ยนแปลงเข้าสู่สังคมเมือง เมื่อมีความเจริญเข้ามา มีสิ่งอำนวยความสะดวกเกิดขึ้นส่งผลให้วิถีชีวิตของคนในชุมชนเปลี่ยนแปลงไป คนในชุมชนปรับตัวไม่ทันต่อความเจริญที่เข้ามาสู่อย่างรวดเร็ว ทำให้เด็กและเยาวชนเกิดพฤติกรรมเลียนแบบ ติดเกม และไม่เข้าเรียนหนังสือ สร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้ปกครอง ผู้นำชุมชนและคณะกรรมการหมู่บ้านจึงร่วมกันแก้ไขปัญหาโดยจัดกิจกรรมบรรพาชาอุปสมบท เพื่อให้เด็กและเยาวชนในชุมชนเข้าร่วมกิจกรรม มีวัดแม่กาห้วยเคียนเป็นศูนย์กลาง ซึ่งได้รับความร่วมมือจากผู้ปกครองและโรงเรียนเป็นอย่างดี ทำให้พฤติกรรมการติดเกมของเด็กและเยาวชนลดลง
เส้นทางสู่ความสำเร็จของการมาเป็นชุมชนต้นแบบ
ชุมชนวัดแม่กาห้วยเคียนขับเคลื่อนชุมชนโดยนำพลังบวรรวมทั้งองค์กรทุกเครือข่ายในพื้นที่ มาเป็นพลัง เพื่อส่งเสริมให้คนในชุมชนมีคุณธรรม พึ่งพาตนเองได้ พอมี พอกิน พอใช้ มีเหตุผล มีภูมิคุ้มกัน ใช้ชีวิตตามวิถีวัฒนธรรมไทย จากการมีส่วนร่วมและความเสียสละของคนในชุมชนที่ร่วมกันขับเคลื่อนชุมชน ให้เป็น“ชุมชนคุณธรรม”ก้าวสู่ “สังคมคุณธรรม” ที่มีความปรองดองสมานฉันท์เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน โดยยึดข้อปฏิบัติหลัก ๑ ประการ ได้แก่ ๑.ยึดและปฏิบัติตามหลักธรรมคำสอนของพุทธศาสนา ๒.นำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปฏิบัติ ๓.ดำรงชีวิตตามแบบวิถีวัฒนธรรมไทย เน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ในพื้นที่ “ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมรับประโยชน์”
วัดแม่กาห้วยเคียนเป็นศูนย์กลางในการจัดกิจกรรมต่างๆ ของชุมชน ทั้งด้านศาสนา ศิลปวัฒนธรรมและประเพณีท้องถิ่น มีโรงเรียนผู้สูงอายุ ให้ผู้สูงอายุได้พบปะพูดคุย แลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน เกิดการแบ่งปันและเอื้ออาทรต่อกัน ลดปัญหาการทอดทิ้งผู้สูงอายุ มีการจัดโครงการอุ้ยจูงหลานเข้าวัด การทำบุญตักบาตรเป็งปุ๊ด เพื่อปลูกฝังให้เด็กและเยาวชนเข้าวัดทำบุญ ปฏิบัติตนเป็นพุทธศาสนิกชนที่ดี ตลอดจนการจัดกิจกรรมเยี่ยมบ้าน เพื่อส่งต่อกำลังใจให้ผู้ป่วย ผู้สูงอายุและผู้ยากไร้ในชุมชน นอกจากนั้นยังจัดโครงการตานต้อด คือ การให้ทาน ซึ่งเป็นประเพณีที่แสดงถึงความเอื้ออาทรของคนในชุมชนที่มีต่อคนยากไร้ เป็นการทำบุญด้วยใจไม่หวังผลตอบแทน รวมทั้งจัดกิจกรรมจิตอาสาพัฒนาชุมชน เพื่อเสริมสร้างความสามัคคีของคนในชุมชน และร่วมกันรักษาสิ่งแวดล้อม ทำให้อยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข
ความท้าทาย
เนื่องจากการจัดตั้งมหาวิทยาลัยพะเยา ทำให้นิสิตนักศึกษาเข้ามาอาศัยอยู่ภายในชุมชนเป็นจำนวนมาก กอปรกับความเจริญทางวัตถุที่เข้ามาอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชนเปลี่ยนแปลงไป ดังนั้นผู้นำชุมชนและคณะกรรมการหมู่บ้าน จึงหาทางแก้ไขโดยการจัดทำข้อตกลงของชุมชนให้คนในชุมชนปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด หากใครฝ่าฝืนจะมีบทลงโทษที่ชัดเจน เพื่อป้องกันปัญหาและความวุ่นวายที่อาจจะเกิดขึ้นจึงจัดตั้งศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในหมู่บ้าน และมีการจัดประชุมเพื่อทำความเข้าใจแก่คนในชุมชนให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน บางครั้งอาจให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมายได้เข้ามาชี้แจงความเข้าใจแก่คนในชุมชนด้วย และให้วัดเป็นศูนย์กลางในการจัดกิจกรรม เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือแก่คนในชุมชน
ผลลัพธ์และผลกระทบที่เกิดขึ้น
ผลลัพธ์ คนในชุมชนมีคุณธรรม มีความกตัญญูกตเวที เด็ก เยาวชนมีความรู้ ความสามารถ รู้จักอ่อนน้อมถ่อมตน ให้เกียรติผู้สูงอายุ ทุกคนมีจิตสาธารณะ ไม่มีปัญหาลักขโมย ได้รับความดูแลด้านความปลอดภัยจากสถานีตำรวจภูธรแม่กาเป็นอย่างดี ทำให้ปัญหาอาชญากรรมในชุมชนลดลงและหมดไป คณะกรรมการหมู่บ้านได้มีการบริหารงานอย่างโปร่งใส รับผิดชอบ ดูแลการจัดกิจกรรมจนประสบผลสำเร็จ และมีผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบการทำงานอย่างชัดเจน รวมถึงการรักษาวินัยของคนในชุมชน ทุกคนปฏิบัติตามข้อตกลงของชุมชนอย่างเคร่งครัด และดำเนินชีวิตบนพื้นฐานของความพอเพียง ปลูกฝังให้คนในชุมชนปลูกผักสวนครัวรั้วกินได้และปลูกพืชสมุนไพรทุกครัวเรือน เพื่อเป็นการลดรายจ่าย
ผลกระทบ คนในชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีความพอเพียง รู้จักพึ่งพาตนเอง มีรายจ่ายลดลง เกิดการรวมกลุ่มจิตอาสา ร่วมกันพัฒนาชุมชน พฤติกรรมของคนในชุมชนเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น คนในชุมชนมีความรัก ความสามัคคี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เสียสละ แบ่งปันกัน และช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ทุกคนดำเนินชีวิตตามวิถีวัฒนธรรมท้องถิ่น ร่วมสืบสานประเพณีพื้นบ้าน และมีผลิตภัณฑ์ชุมชนที่สร้างรายได้ให้แก่คนในชุมชน
เป้าหมายที่จะเดินต่อ
วัดแม่กาห้วยเคียนเป็นศูนย์กลางในการจัดกิจกรมทั้ง ๓ ช่วงวัย ได้แก่ เด็ก เยาวชน และผู้สูงอายุ โดยเฉพาะการชักชวนให้นิสิตนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยพะเยาเข้าร่วมกิจกรรมของชุมชน เช่น กิจกรรมสืบชะตาหลวง ซึ่งเป็นการถ่ายทอดประเพณีวัฒนธรรมล้านนาของชุมชนให้เป็นที่รู้จัก ร่วมกันสืบสานให้คงอยู่ และรื้อฟื้นประเพณีรับแม่-ลูกบุญธรรม คือ การให้คนในชุมชนมาเป็นแม่บุญธรรมของนิสิตนักศึกษา มีการจัดกิจกรรมผูกข้อมือบายศรีสู่ขวัญ เพื่อสร้างความผูกพันให้ทั้งสองฝ่ายได้ดูแลกันและกัน อยู่ร่วมกันอย่างสันติ รวมถึงการจัดตั้งศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในวัด เพื่อให้ผู้นำทางศาสนามีบทบาทในการตัดสิน รับฟังความคิดเห็นของคนในชุมชน เนื่องจากคนในชุมชนมีความเคารพศรัทธาผู้นำทางศาสนา จะทำให้การตัดสินมีความเป็นกลางและยุติธรรม และปัญหาลดลง
ผู้ติดต่อในพื้นที่
พระครูอาทรพัฒนพิศาล ๐๘๙-๗๕๕๕๑๑๙
แสดงความคิดเห็น