กว่าจะมาเป็นวันนี้
บ้านทุ่งศรี คนในชุมชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมและเลี้ยงสัตว์ เป็นชุมชนที่ได้รับรางวัลถ้วยพระราชทานหมู่บ้านปลอดขยะด้านสิ่งแวดล้อมดีเด่นระดับประเทศไทย (ชุมชนขนาดเล็ก) เป็นหมู่บ้านต้นแบบในการศึกษาดูงานการถ่ายทอดความรู้ด้านการจัดการขยะ และการจัดการสิ่งแวดล้อมของชุมชนให้กับหน่วยงาน ชุมชนต่างๆ คนในชุมชนร่วมพัฒนาหมู่บ้าน ควบคู่กับการดูแลจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบ มีการนำขยะหลากหลายชนิดมาแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่ม ภูมิปัญญาชาวบ้าน ทุ่งศรีขับเคลื่อนงานพัฒนาโดยมีต้นทุนทางสังคม คือ ทรัพยากรคน จากทีมภูมิปัญญาปราชญ์ชาวบ้านร่วมกันสร้างสรรค์งาน พัฒนาพื้นที่ชุมชนอย่างต่อเนื่อง สร้างความภูมิใจ และพร้อมส่งต่อให้กับลูกหลาน อีกทั้งยังเป็นเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงระบบนิเวศเพื่อการเรียนรู้ กิจกรรมการท่องเที่ยวที่โดดเด่น จึงมีความเกี่ยวข้องกับการเกษตร ซึ่งเป็นที่น่าสนใจของนักท่องเที่ยว
เส้นทางสู่ความสำเร็จของการมาเป็นชุมชนต้นแบบ
วัดทุ่งศรีเป็นศูนย์รวมความศรัทธา เป็นแหล่งเรียนรู้บ่มเพาะด้านคุณธรรมจริยธรรม การจัดกิจกรรมทางศาสนาที่เชื่อมร้อยระหว่างสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ อย่างเข้มแข็ง เน้นการเผยแพร่ และปฏิบัติตามหลักคำสอนของศาสนา คนในชุมชนไม่เกี่ยวข้องกับอบายมุข ร่วมขับเคลื่อนการพัฒนาชุมชนอย่างเข้มแข็งและต่อเนื่อง ร่วมส่งเสริมและพัฒนาคุณธรรมเพื่อแก้ปัญหาและสร้างความดีงามให้เกิดขึ้นในชุมชน มีการประชุมหรือปรึกษาหารือ เพื่อกำหนดแนวทาง กำกับ ติดตาม ประเมินความสำเร็จการส่งเสริมและพัฒนาคุณธรรม สร้างการมีส่วนร่วมระหว่างผู้นำพลังบวร และคนในชุมชน เป็นชุมชนที่พึ่งพาตนเองได้ตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง สืบสาน และพัฒนาต่อยอดประเพณี วิถีวัฒนธรรม เป็นแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรม ภูมิปัญญาและเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม
หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนั้นมีบทบาทในการขับเคลื่อน โดยดำเนินการตามโครงการชุมชนคุณธรรมน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ขับเคลื่อนด้วยพลังบวร ผ่านโครงการและกิจกรรมต่างๆ เพื่อนำนโยบายของกระทรวงวัฒนธรรม ไปสู่การปฏิบัติงานในพื้นที่ และปฏิบัติงานบูรณาการร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่จังหวัดแพร่ ซึ่งชุมชนคุณธรรมวัดทุ่งศรี เป็นชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี เป็นชุมชนท่องเที่ยว CBT (การท่องเที่ยวโดยชุมชน) เป็นหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ : Creative Industry Village (CIV) เป็นหมู่บ้านต้นแบบในการศึกษาดูงานการถ่ายทอดความรู้ด้านการจัดการขยะ และการจัดการสิ่งแวดล้อมของชุมชน
ความท้าทาย
ชาวบ้านต้องการพัฒนาหมู่บ้านให้เป็นไปในรูปแบบวิถีชีวิตเศรษฐกิจพอเพียงเป็นหมู่บ้านที่มีการปลูกปลอดสารพิษหรือการผลิตอาหารปลอดภัย เนื่องจากมีการส่งเสริมการใช้ปุ๋ยอินทรีย์เน้นย้ำการไม่ใช่สารเคมีอยากให้หมู่บ้านมีวิถีชีวิตแบบเดิมที่มี ความเอื้ออาทร พึ่งพาอาศัยกันและกัน นอกจากนี้ชาวบ้านยังระบุว่าเป้าหมายการพัฒนาของหมู่บ้าน คือ ให้เกิดเป็นหมู่บ้านแบบพึ่งตนเอง โดยทุกกิจกรรมจะต้องเกิดจากความต้องการของคนในชุมชน เริ่มจากช่วยกันคิดและร่วมกันทำเพื่อเป้าประสงค์เดียวกัน ไม่ต้องมีรายได้มาก แต่อยู่ได้ด้วยความ พอเพียงและการเอื้อเฟื้อเกื้อกูล พึ่งพิงซึ่งกันและกัน ดังยุทธศาสตร์การพัฒนาหมู่บ้าน “ครอบครัว อบอุ่น ชุมชนเข้มแข็ง ธรรมชาติยั่งยืน”
ผลลัพธ์และผลกระทบที่เกิดขึ้น
ผลจากการที่ชุมชนทุ่งศรีดำเนินงานก้าวสู่ชุมชนคุณธรรมน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงขับเคลื่อนด้วยพลังบวรใน ๓ มิติ ของชุมชนคุณธรรมบ้านทุ่งศรี ทำให้หนี้สินของครัวเรือนลดลง เนื่องจากคนในชุมชน มีรายได้เพิ่มขึ้น จากการจำหน่ายสินค้า/ผลิตภัณฑ์ ให้กับคณะที่เข้ามาศึกษาดูงานในชุมชนอย่างต่อเนื่อง
ชุมชนบ้านทุ่งศรี ยังได้จัดเตรียมโฮมสเตย์ไว้สำหรับผู้ที่ชื่นชอบการพักผ่อนท่ามกลางท้องทุ่งนาและได้สัมผัสและเรียนรู้วิถีชีวิตของชาวชุมชน ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้ ถือเป็นการสร้างรายได้และพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวบ้านให้เกิดความอยู่ดีมีสุข สามารถดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ ๙ และยังสามารถเป็นชุมชนต้นแบบในการขยายผลไปสู่ชุมชนอื่นๆ ให้เกิดการเรียนรู้ และสามารถปฏิบัติตามให้เกิดผลได้อย่างเป็นรูปธรรมและมีความยั่งยืนต่อไป
เป้าหมายที่จะเดินต่อ
พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวของชุมชน แหล่งท่องเที่ยวตามฐานการเรียนรู้ภูมิปัญญาชาวบ้าน
จัดทำเส้นทางการท่องเที่ยว และกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยว เช่น แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม/ธรรมชาติ ศูนย์เรียนรู้ทางการเกษตร ศิลปวัฒนธรรม
จัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวสำหรับนักท่องเที่ยว/ผู้เข้ามาศึกษาดูงาน ให้ได้มีส่วนร่วม อาทิ กิจกรรมทุ่งศรีฟาร์มสเตย์ ซึ่งเป็นกิจกรรมในวิถีชีวิตของพี่น้องทุ่งศรี ที่เชื่องโยงกับการรักษาสิ่งแวดล้อมของหมู่บ้าน (กิจกรรมตามฤดูกาล ปฏิทินท่องเที่ยว ปรับได้ตามความเหมาะสม)
พัฒนาโฮมสเตย์ ที่พักแบบญาติมิตร ความสะอาด ความปลอดภัย เอาใจใส่ผู้มาใช้บริการ เสริมกิจกรรมสร้างความประทับใจ และการมีส่วนร่วมของนักท่องเที่ยว ที่จอดรถ ที่พัก และขายโปรแกรมการท่องเที่ยว/แพ็คเกจทัวร์ ผ่านระบบออนไลน์ เป็นต้น
ผู้ติดต่อในพื้นที่
นายราเชนทร์ ชูทองรัตน์ ๐๘๑-๗๘๓๐๐๘๗
แสดงความคิดเห็น