“ ไปอยู่ให้เขาอิจฉา
อย่าอยู่ให้เขาสงสาร ”
กว่าจะมาเป็นวันนี้
“คนที่ล้มเหลวใช่ว่าจะไม่ประสบความสำเร็จทุกคน แต่คนที่ประสบความสำเร็จทุกคนต้องเคยล้มเหลวกันมาแล้วทั้งนั้น”
หนึ่งในบทเรียนสำคัญที่ผู้นำชุมชนคุณธรรมวัดสวนร่วมบารมีเคยประสบจากสภาพแวดล้อมของชุมชนที่เคยมีปัญหาในด้านต่างๆ เช่น ปัญหาทางเศรษฐกิจของคนในชุมชน นำไปสู่ปัญหาการห่างเหินจากวัดศาสนสถาน รวมไปถึงปัญหายาเสพติด ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสังคม วัฒนธรรม อันเป็นไปตามยุคสมัย จนนำไปสู่ปัญหาช่องว่างระหว่างวัยของเด็กและเยาวชนกับผู้สูงอายุภายในชุมชน
เส้นทางสู่ความสำเร็จของการมาเป็นชุมชนต้นแบบ
“คิดบวก มองวิกฤติให้เป็นโอกาส ความล้มเหลวไม่ใช่เรื่องที่น่าละอาย ไม่น่าพูดถึง แต่ผิดถูกเป็นครูสอนเรา” จากปัญหาต่างๆ ที่พระครูโฆสิตธรรมสุนทร ประสบมาในระยะแรกทำให้ท่านเริ่มตระหนักว่า การเริ่มต้นเปลี่ยนแปลงสิ่งใดๆ ต้องเริ่มจากภายในของตัวเองก่อน จึงเริ่มจากการปรับทัศนคติมุมมองต่อปัญหาต่างๆ ด้วยการ “คิดบวก” มองปัญหาให้เป็นโจทย์ท้าทายในการแก้ไข โดยใช้หลักธรรมคำสอน แนวประพฤติปฏิบัติอันดีงาม แล้วแผ่ขยายไปสู่คนรอบข้าง จนกระจายเป็นวงกว้างสู่สังคม
“ตั้งเป้าหมายตลอดเวลา วางแผนจะต้องทำอะไรโดยไม่อยู่ไปวันๆ” ต้องมีการดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรม มีการวางแผน ดังนั้น พระครูโฆสิตธรรมสุนทร จึงกำหนดกลยุทธ์ของการดำเนินงาน โดยใช้หลักธรรมคำสอนทางศาสนา หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตลอดจนวิถีวัฒนธรรมมาจัดเป็นกิจกรรมต่างๆ มี
“พัฒนาตน เรียนรู้สิ่งใหม่วันใดที่เราหยุดนิ่งนั้นหมายความว่าเรากำลังถอยหลัง” นอกจากการดำเนินกิจกรรมต่างๆ แล้ว สิ่งสำคัญคือการเรียนรู้ เข้าใจ ปรับตัวตามสภาพแวดล้อมทางสังคมที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะเทคโนโลยีการสื่อสาร ด้วยเหตุนี้ วัดสวนร่วมบารมี จึงให้ความสำคัญกับบุคลากรภายในวัด ที่จะต้องมีความรู้ ความสามารถ เข้าถึงเทคโนโลยี รู้ทันสภาพแวดล้อมที่ปรับเปลี่ยนไป ทำให้วัดมีการใช้ช่องทางการสื่อสารที่หลากหลาย มีพระและบุคลากรที่มีความพร้อมในการใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์ต่อการดำเนินกิจกรรมต่างๆของวัด ตลอดจนมีการสื่อสารประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ อย่างต่อเนื่อง
ความท้าทาย
“มองความสามารถของชุมชน แทนที่จะไปคิดถึงสิ่งที่ชุมชนทำไม่ได้ ให้ลองคิดถึงสิ่งที่ชุมชน
สามารถทำได้แทน และใช้อุปสรรคให้เป็นแนวทางพัฒนาชุมชน” จากสภาพปัญหาต่างๆ ได้นำไปสู่ความท้าทายในการเข้าถึงคนในชุมชนให้ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย ตลอดจนการหาทรัพยากรที่มีในชุมชนมาแก้ปัญหา นำสิ่งที่มีมาพลิกเป็นโอกาส เป็นต้นทุน เป็นทรัพยากรในการดำเนินงาน เช่น การใช้วัดที่มีความพร้อมในด้านของสถานที่ มาขยายขอบเขตนิยามจากสถานที่วัด สู่การเป็นพื้นที่ของชุมชน เป็นลานธรรม ลานวิถีไทย ที่เปิดพื้นที่ให้คนในชุมชนได้เข้ามาจัดกิจกรรม
นอกจากนี้ ยังดึงเอาทรัพยากรมนุษย์ เข้ามาเป็นปัจจัยหลัก ด้วยการนำผู้สูงอายุ มาเป็นทรัพยากรในการให้ความรู้ เป็นแบบอย่างในการใช้ชีวิต เป็นปราชญ์ของชุมชน ขณะเดียวกันก็ดึงเอาพลังของเด็ก และเยาวชน พลังของหน่วยงานราชการ สถานศึกษา มาร่วมจัดกิจกรรมต่างๆ ตามกำลังความสามารถ จนกลายเป็นการสืบสาน รักษา ต่อยอดความมีจิตอาสา ความสามัคคี อันเป็นอัตลักษณ์สำคัญของวัฒนธรรมไทยให้เกิดกับชุมชน ทำให้อุปสรรคต่างๆ ลดลงไปด้วยการใช้ต้นทุนและทรัพยากรที่เป็นของชุมชนโดยแท้จริง
ผลลัพธ์และผลกระทบที่เกิดขึ้น
“การคิดบวก” คือ ผลลัพธ์สำคัญ อันเกิดจากการตกผลึกของการแก้ปัญหาในช่วงที่วัด ต้องการนำความรู้ นำแนวปฏิบัติอันเป็นประโยชน์เข้ามาเผยแผ่สู่ชุมชน วัดสวนร่มบารมีตระหนักได้ว่า หากคนในชุมชนยังยึดติดการใช้ชีวิตรูปแบบเดิมๆ การทำสิ่งใหม่ คนในชุมชนจะคิดว่าเป็นเรื่องยาก ดังนั้น จึงต้อสร้าง “การคิดบวก” ประชาชนต้องได้รับการปรับทัศนคติ
เริ่มจากการบอกผลได้ผลเสีย โดยมีการนำพระธรรมคำสอนเข้าไปแทรก คนในชุมชนจึงเริ่มมีการพัฒนาตนเองและนำไปสู่การบอกต่อรุ่นต่อรุ่น เกิดผลลัพธ์เป็นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอันพึงประสงค์ต่างๆ เช่น การปฏิบัติตามหลักคำสอนทางศาสนา ค่านิยมทางสังคมที่ดีงาม มีภูมิความรู้ มีวินัยในการดำเนินชีวิต การทำมาหาเลี้ยงอาชีพ และสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างปกติสุข สะท้อนคุณธรรมเรื่องของ “ความพอเพียง การมีวินัย การดำเนินชีวิตด้วยสุจริต และมีจิตอาสา” เกิดผลกระทบในเชิงบวก เริ่มจากระดับปัจเจก คือ ประชาชนในชุมชนคิดบวกต่อการปฏิบัติตนบนพื้นฐานสิ่งที่ดีงาม ขยายไปสู่ผลกระทบระดับครอบครัว ระดับชุมชน ระดับสังคม กลายเป็นสังคมคุณธรรมที่มีรากฐานมาจากทรัพยากรมนุษย์ที่มีศักยภาพควบคู่คุณธรรมจริยธรรม
เป้าหมายที่จะเดินต่อ
๑. ให้คนในชุมชนยึดมั่นในหลักธรรมทางศาสนา เกิดความสงบสุขในชุมชน ปราศจากการทะเลาะวิวาท ลักขโมย และอบายมุข
๒. สิ่งดีงามเกิดขึ้นในชุมชน คนในชุมชนมีความอดทน อดออม ขยัน ไม่โลภ ไม่เบียดเบียนผู้อื่น มีเหตุมีผล มีความพอประมาณ
๓. ให้คนในชุมชนสืบสานและดำเนินชีวิตตามวิถีวัฒนธรรมที่ดีงาม เกิดกลุ่มจิตอาสาทำความดีด้วยหัวใจ ร่วมพัฒนาชุมชนในด้านต่างๆ
ผู้ติดต่อในพื้นที่
พระครูโฆสิตธรรมสุนทร ๐๘๙-๐๘๐-๓๔๓๔
แสดงความคิดเห็น