“น้ำ คือ ชีวิต”
โครงการ “น้ำ คือ ชีวิต” ซึ่งดำเนินการโดยองค์การบริหารส่วนตำบลควนขนุน จัดขึ้นเพื่อแก้ปัญหาจากข้อร้องเรียนของประชาชนในพื้นที่เกี่ยวกับคุณภาพน้ำปะปา เช่น น้ำไม่ใส มีตะกอน ทำให้เกิดการระคายเคืองเป็นผื่นแดง เป็นต้น โดยพบว่าสาเหตุหลักของปัญหามาจากปริมาณน้ำดิบที่ได้คุณภาพมีไม่เพียงพอต่อการผลิต เมื่อเข้าสู่ฤดูแล้ง ทั้งในหน่วยการผลิตที่อาศัยน้ำบาดาลซึ่งมีปริมาณสนิมเหล็กและหินปูนผสมอยู่ในอัตราส่วนที่สูงจนไม่สามารถกำจัดออกได้หมด และในหน่วยการผลิตที่ต้องอาศัยน้ำจากลำคลองซึ่งมีสารเคมีตกค้างจากภาคการเกษตร
เส้นทางสู่ความสำเร็จของการมาเป็นพื้นที่ต้นแบบ
โครงการนี้มีจุดเด่นของการดำเนินงาน ดังนี้
๑.กำหนดโครงสร้างการดำเนินงานที่ชัดเจนเป็นรูปธรรมเหมาะสมในการสั่งการ ติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงาน รวมทั้งเปิดช่องทางการสื่อสารตามโครงสร้างเป็น ๒ ช่องทาง ทั้งจากบนลงล่างและจากล่างขึ้นบน ส่งผลให้สามารถสื่อสารกันได้โดยตรงในทุกระดับ ทั้งปัญหาจากการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ หรืออุปสรรคต่างๆ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลควนขนุนก็สามารถรับทราบปัญหาได้ และร่วมกันแก้ปัญหาได้อย่างทันท่วงที
๒. รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานภาครัฐ เช่น ฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ ๓ (ควนกุฏ) กรมชลประทาน การประปาส่วนภูมิภาค สาขาเขาชัยสน สำนักงานสถานีพัฒนาที่ดินจังหวัดพัทลุง สำนักงานเครื่องมือวิทยาศาสตร์และการทดสอบ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ และภาคประชาชนเป็นอย่างดี ทั้งนี้เพราะก่อนการดำเนินงานได้มีการสอบถามความต้องการของประชาชนผ่านการประชุมหมู่บ้าน และการทำประชาคมหมู่บ้าน เช่น กลุ่มผู้ค้าในตลาดชุมชนได้จัดทำรางน้ำเพื่อถ่ายน้ำเสียจากตลาดไม่ให้ลงสู่แหล่งน้ำดิบ โดยจัดหาอุปกรณ์และงบประมาณในการดำเนินการเอง
๓.ขั้นตอนการจัดหาที่ดินเพื่อก่อตั้งหอถังสูงที่เหมาะสมเพื่อการจ่ายน้ำประปาที่มีประสิทธิภาพก็ได้รับความร่วมมือกับเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดิน โดยยินยอมขายให้ในราคายุติธรรม และยังอนุญาตให้เจ้าหน้าที่ผ่านทางเพื่อเข้าไปตรวจสอบดูแลระบบผลิตน้ำประปาเป็นเป็นประจำทุกวันอีกด้วย
ผลลัพธ์และความสำเร็จ
นอกจากจะสามารถแก้ปัญหาเรื่องคุณภาพน้ำประปาตามข้อร้องเรียนของประชาชนในพื้นที่ จนได้รับความสนใจจากหน่วยงานต่างๆ ติดต่อเพื่อจะเข้ามาศึกษาดูงาน และขอข้อมูลเพื่อเป็นแบบอย่างแล้ว ความสำเร็จอันเกิดจากความร่วมมือของทุกภาคส่วนดังที่กล่าวนี้ยังสะท้อนให้เห็นคุณธรรมต่างๆ ดังนี้
๑.พอเพียง การดำเนินงานได้ใช้ความรู้ความเข้าใจในหลักการบริหารจัดน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค มีความพอประมาณ พอดี ไม่เบียดเบียนตนเอง สังคม และสิ่งแวดล้อมให้เดือดร้อนเสียหาย
๒.วินัย ในทุกภาคส่วนที่เข้าร่วมโครงการล้วนมีวินัย ยึดมั่นและรับผิดชอบในหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติ มีวินัยต่อองค์กร สังคม และปฏิบัติตามจริยธรรม จรรยาบรรณ และกฎหมายบ้านเมือง
๓.สุจริต ในทุกภาคส่วนที่เข้าร่วมโครงการมีความซื่อตรง ซื่อสัตย์สุจริต ยึดมั่น หลักการรักษาความจริง ความถูกต้อง ความเป็นธรรมทั้งปวง และยังกล้าที่จะปฏิเสธการกระทำที่ไม่ซื่อตรง ไม่ซื่อสัตย์ของบุคคลอื่นที่ทำให้ส่วนรวมเกิดความเสียหาย
๔.จิตอาสา การดำเนินงานจำเป็นอย่างยิ่งที่หน่วยงานทุกคนจะต้องมีความเป็นจิตอาสา เป็นผู้ที่ใส่ใจต่อสังคมสาธารณะ และอาสาลงมือทำด้วยความรัก เอื้ออาทรต่อคนร่วมสังคม และทำอย่างสม่ำเสมอ
ก้าวต่ออย่างมีคุณธรรม
การปรับปรุงและพัฒนาระบบน้ำประปา ให้ครอบคลุมทั่วทุกพื้นที่ในความรับผิดชอบ โดยการขยายเขตระบบประปาให้ครอบคลุมถนนทุกสาย ทั้งสายหลักและสายรอง และพัฒนาระบบประปา ในทุกหน่วยการผลิตของทุกหมู่บ้านให้มีคุณภาพ สามารถตอบสนองต่อความต้องการให้ราษฎร ที่สำคัญในการบริหารจัดการบุคลากรมีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายแต่ละฝ่าย เตรียมความพร้อมในแก้ปัญหาเบื้องต้น เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดตกสู่ภาคประชาชน
ผู้ประสานงานติดต่อในพื้นที่ :
นายเศรษฐา ชูดำ
ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลควนขนุน
โทรศัพท์ ๐๘๗ ๒๙๕ ๘๙๔๙
แสดงความคิดเห็น