“คลองน้ำไหลต้นแบบตำบลน่าอยู่
เชิดชูเผ่าพันธุ์ หลอมรวมวัฒนธรรมหลากหลาย ปางควายสายธารเลี้ยงชีวิต
ผลผลิตชุมชนต้นแบบพลังงานยั่งยืน”
องค์การบริหารส่วนตำบลคลองน้ำไหล ร่วมกับศูนย์พัฒนาราษฎรบนพื้นที่สูงจังหวัดกำแพงเพชร ได้จัดการประชุมเชิงบูรณาการศูนย์ประสานงานการพัฒนาสังคมและสวัสดิการตำบลคลองน้ำไหล ขึ้นเมื่อวันที่ ๒๒ สิงหาคม ๒๕๔๙ วัตถุประสงค์เพื่อให้หน่วยงานที่มีภารกิจด้านพัฒนาสังคมและสวัสดิการภายในตำบลคลองน้ำไหล มีเครือข่ายเป็นศูนย์ประสานงานร่วมกัน ซึ่งที่ประชุมได้มีมติแต่งตั้งคณะทำงานขึ้นมา ๑ ชุด เพื่อบริหารกิจการของศูนย์ประสานงานให้สอดคล้องกับภารกิจ คณะกรรมการประกอบด้วยตัวแทนฝ่ายท้องที่ ท้องถิ่น จิตอาสา โดยมีพระสงฆ์เป็นที่ปรึกษา
เส้นทางสู่ความสำเร็จของการมาเป็นตำบลต้นแบบ
การทำงานได้เข้าร่วมขับเคลื่อนงานของผู้สูงอายุ ผู้พิการ สภาเด็กและเยาวชน อาสาสมัครพัฒนาสังคมน้อย จิตอาสา ลงพื้นที่เยี่ยมเยียนกลุ่มผู้พิการ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียงในชุมชน จากการทำงานทำให้เห็นปัญหาว่าในชุมชนมีกลุ่มผู้ด้อยโอกาส ผู้ป่วยติดเตียง ผู้พิการ ที่ต้องได้รับการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน หากรอการช่วยเหลือจากงบประมาณของราชการจะล่าช้าไม่ทันต่อการช่วยเหลือเฉพาะหน้า จึงได้ต่อยอดเป็นการจัดตั้ง กองทุนช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสตำบลคลองน้ำไหลขึ้น เมื่อวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๕๖ เพื่อจะได้ช่วยเหลือกลุ่มผู้ด้อยโอกาส ผู้สูงอายุและผู้พิการที่ต้องการขอความช่วยเหลือได้รวดเร็วขึ้น ซึ่งกองทุนช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส ไม่ได้ใช้งบประมาณจากทางราชการ ทุนมาจากจิตอาสาและเจ้าหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนตำบลคลองน้ำไหล ออมเงินวันละบาท มาสมทบและมีตู้บริจาคตั้งตามสถานที่ต่างๆ ต่อมาจึงได้จัดทำโครงการเครือข่ายสะพานบุญสู่ผู้ยากไร้ ช่วงเดือนมีนาคมของทุกปี จากชาวบ้านในตำบลคลองน้ำไหล ร่วมใส่บาตรข้าวสาร อาหารแห้ง เงิน เพื่อนำข้าวสารอาหารแห้งช่วยเหลือผู้ยากไร้ ผู้ด้อยโอกาสภายในตำบล และมอบทุนการศึกษานักเรียนอย่างต่อเนื่องทุกปีจวบจนปัจจุบัน
แนวทางการปฏิบัติขับเคลื่อนคุณธรรม
ปีงบประมาณ ๒๕๖๑ ใช้การสำรวจโดยคณะกรรมการและให้ผ่านการคัดกรองของที่ประชุมประชาคมหมู่บ้าน จัดทำฐานข้อมูลผู้ด้อยโอกาส จากผู้ที่มายื่นขอรับความช่วยเหลือด้วยตนเอง และจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เป็นกลุ่มที่มีความยากลำบากในดำรงชีพสมควรได้รับการช่วยเหลือดูแล และบางคนที่อยู่อาศัยไม่มั่นคงทำให้ขาดคุณภาพชีวิตที่ดี เกิดความเหลื่อมล้ำทางสังคม จึงได้จัดทำโครงการเพื่อจัดหาเครื่องอุปโภคบริโภค วัสดุสำหรับปรับปรุงและซ่อมแซมที่อยู่อาศัย รวมถึงทุนการศึกษานักเรียน
ในส่วนของปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้นนั้นพบว่า ผู้ยากไร้บางคนไม่สามารถเดินทางมารับสิ่งของที่องค์การบริหารส่วนตำบลคลองน้ำไหลได้ จึงให้คณะกรรมการลงไปมอบถึงที่อยู่อาศัย
ผลลัพธ์แห่งความสำเร็จ
การจัดทำโครงการเครือข่ายสะพานบุญสู่ผู้ยากไร้ เป็นโครงการที่ตรงกับความต้องการของชุมชนท้องถิ่น ประชาชนได้รับการตอบสนองตรงตามความต้องการ
แกนนำชุมชน กองทุนต่าง ๆ ในตำบล หน่วยงานราชการ กลุ่มประชาชน กลุ่มอาสาสมัครผู้มีจิตอาสาอยากเข้ามามีส่วนร่วมช่วยเหลือกันตามกำลังผ่านสะพานบุญคือพระสงฆ์ เพื่อนำปัจจัยที่พระสงฆ์อนุญาตแล้วไปช่วยเหลือผู้ยากไร้ในตำบลที่ขอรับความช่วยเหลือจำนวนมาก
การใช้ทฤษฎีการมีส่วนร่วมช่วยบริหารจัดการปัญหาในระดับตำบลได้เป็นอย่างดี
เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นมีความทุ่มเทเพื่อให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ร่วมของเครือข่ายและชุมชนตามโครงการที่กำหนดไว้
นอกจากนี้แล้วได้มีการน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเข้ามาใช้ในการปฏิบัติงานภายในองค์กร และการดำรงชีวิตประจำวัน ทำให้รู้จักความพอประมาณ เดินทางสายกลาง สร้างภูมิคุ้มกันที่ดี ไม่ประมาท โดยเริ่มจากคนภายในองค์กร ก่อนจะขยายออกไปสู่ชุมชน
ก้าวต่ออย่างมีคุณธรรม
วางแผนพัฒนาท้องถิ่นขององค์การบริหารส่วนตำบลคลองน้ำไหล ระยะ ๕ ปี (พ.ศ.๒๕๖๑-๒๕๖๕) โดยมีกรรมการ คณะทำงานดำเนินการอย่างต่อเนื่อง
ผู้ประสานงานในพื้นที่
องค์การบริหารส่วนตำบลคลองน้ำไหล
อำเภอคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร
ชื่อผู้ประสานงาน นางวรนุช พลศิลป์
ตำแหน่ง หัวหน้าฝ่ายสังคมสงเคราะห์
โทร ๐๘๙ ๙๕๓ ๑๐๗๗
แสดงความคิดเห็น