“ถิ่นวัฒนธรรมลุ่มน้ำหมัน วัดโพนชัยคู่เมือง
ลือเลื่องงานผีตาโขน”
กว่าจะมาเป็นวันนี้
ชุมชนวัดโพนชัย เป็นชุมชนเก่าแก่ของจังหวัดเลย มีวัดโพนชัยเป็นวัดสำคัญคู่บ้านคู่เมืองของอำเภอด่านซ้าย สร้างขึ้นพร้อมกับพระธาตุศรีสองรัก ชาวด่านซ้ายมีความรักสงบ ซื่อตรงด้วยสัจจะ สามัคคีสมานฉันท์และมีความเป็นมิตร ชุมชนมีความเข้มแข็งในการรักษาฮีตครองประเพณีที่เก่าแก่มาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็นวิถีชีวิต ที่ถูกปลูกฝังมาจากบรรพบุรุษ โดยตลอดระเวลา ๑๒ เดือน จะมีงานบุญ ประเพณี ที่คนในชุมชนถือปฏิบัติซึ่งจะแสดงถึงเรื่องความเชื่อความศรัทธา ความกตัญญูต่อพ่อแม่ ญาติพี่น้อง รวมถึงเจ้านายผู้คอยปกป้องคุ้มครองบ้านเมือง ลูกหลานให้แคล้วคลาดปลอดภัย มีความเป็นอยู่ที่สงบร่มเย็น
เส้นทางสู่ความสำเร็จของการมาเป็นชุมชนคุณธรรมต้นแบบ
๑.คนในชุมชนให้ความสำคัญกับการดำเนินชีวิตตามวิถีวัฒนธรรม ประเพณีท้องถิ่น โดยยังคงรักษา และปฏิบัติสืบต่อกันมาในโอกาสต่างๆ ทั้ง๑๒ เดือนของแต่ละปี เป็นการผสมผสานพิธีกรรมที่เกี่ยวกับเรื่องจิตวิญญาณ พิธีกรรมทางการเกษตร และพิธีกรรมทางพุทธศาสนา เช่นเดือนอ้าย บุญพระเข้ากรรม เดือนยี่ บุญคูณลาน เดือนสี่ งานเลี้ยงเฮือน (ตั้งไหเหล้า) เดือนเก้า บุญข้าวประดับดิน เดือนสิบ บุญข้าวสาก เป็นต้น
๒.มีคณะบุคคล ได้แก่ เจ้าพ่อกวน เจ้าแม่นางเทียม เป็นผู้นำจิตวิญญาณและความเชื่อ พร้อมคณะพ่อแสน นางแต่ง ซึ่งเป็นคณะบุคคลในการประกอบพิธีกรรมต่างๆ เป็นที่เคารพนับถือของคนในชุมชน เป็นที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจของประชาชนในชุมชน โดยเฉพาะเรื่องศักดิ์สิทธิ์ของเจ้านาย (ผีบรรพบุรุษ) ทำให้ชาวบ้านในชุมชนเข้าร่วมทำพิธีกรรม เป็นการเสริมสร้างความสามัคคี ระหว่างคนในชุมชนทุกเพศ ทุกวัย โดยปราศจากช่องว่างระหว่างคนจน คนรวย และพูดได้ว่าเจ้าพ่อกวน เจ้าแม่นางเทียมนั้น เป็นสื่อกลางระหว่างคนกับเจ้านาย (ผีบรรพบุรุษ) เป็นบุคคลที่เป็นแบบอย่างที่ดีให้คนในชุมชนได้ประพฤติอยู่ในจารีตประเพณีอันดีงาม โดยอาศัยความเชื่อของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่มองไม่เห็น ซึ่งส่งผลให้สังคมอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข และไม่ประพฤติผิดฮีตบ้านคองเมือง (จารีตประเพณี) อันจะนำมาซึ่งความสงบสุขของสังคมอย่างแท้จริง
๓.ศาสนสถาน ได้แก่ วัดโพนชัย พระธาตุศรีสองรัก ล้วนเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านให้ความเคารพนับถือ เป็นศูนย์รวมจิตใจของทุกคนในชุมชน ทุกคนในชุมชนจึงร่วมแรง ร่วมใจในการทำนุบำรุงทั้งเรื่องกำลังกาย กำลังใจ และทุนทรัพย์
ความท้าทาย
๑.ความไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้ต่อประเพณี พิธีกรรมของบุคคลภายนอก จึงได้มีการจัดสร้างศูนย์วัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่นบ้านเดิ่น พิพิธภัณฑ์เมืองด่านซ้าย และพิพิธภัณฑ์ผีตาโขน เพื่อให้บุคคลในชุมชนและบุคคลภายนอกได้ศึกษาเรียนรู้ประเพณี พิธีกรรมของท้องถิ่นที่ดีงาม
๒. การให้ความสำคัญ การเคารพนับถือแก่คณะบุคคล ได้แก่ เจ้าพ่อกวน เจ้าแม่นางเทียม พร้อมคณะพ่อแสน นางแต่ง ซึ่งเป็นคณะบุคคลทางจิตวิญญาณ และเป็นผู้นำประกอบพิธีกรรมต่างๆ ดังนั้นบุคคลเหล่านี้จะต้องมีระเบียบในการประพฤติที่ถือปฏิบัติเพื่อแบบอย่างที่ดีแก่ชุมชน
ผลลัพธ์และผลกระทบที่เกิดขึ้น
๑.ระดับชุมชน
คนในชุมชนท้องถิ่นร่วมกันอนุรักษ์ สืบสาน และดำเนินชีวิตตามวิถีวัฒนธรรม ประเพณีท้องถิ่น (ฮีต ๑๒) ทำให้ประเพณีท้องถิ่นไม่สูญหาย แต่ยังสร้างคุณค่าทางสังคม และมูลค่าทางเศรษฐกิจ เช่น ประเพณีบุญหลวงและการละเล่นผีตาโขน ที่ถูกยกระดับให้เป็นประเพณีที่สำคัญและยิ่งใหญ่ เป็นที่รู้จัก ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ สร้างรายได้จากการท่องเที่ยว และการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรม
นอกเหนือจากกฎหมายบ้านเมืองที่คอยกำกับดูแลความสงบสุขของชุมชนแล้ว ความเชื่อ ความศรัทธาต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ได้แก่ พระธาตุศรีสองรัก พระเจ้าใหญ่วัดโพนชัย จิตวิญญาณเจ้านายผู้คอยปกป้องคุ้มครองบ้านเมือง และลูกหลาน ทำให้ผู้คนในชุมชนเกรงกลัวต่อการประพฤติไม่ดี ทำแต่ในสิ่งที่ถูกที่ควร ทำให้คนในชุมชนอาศัยอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข
๒.ระดับจังหวัด
มีการส่งเสริม อนุรักษ์ และฟื้นฟูขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรมท้องถิ่นอันดีงาม ทำให้เป็นเมืองน่าอยู่ เมืองแห่งการท่องเที่ยว การค้าและการลงทุน ภายใต้การพัฒนาที่ยั่งยืน จังหวัดเลย
๓.ระดับประเทศ
ได้ดำเนินการขับเคลื่อนตามนโยบายหลัก ๑๒ ด้าน คือ ด้านทำนุบำรุงศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม ทำให้ประเทศมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
เป้าหมายที่จะเดินต่อ
เป็นชุมชนคุณธรรมต้นแบบและขยายชุมชน โดยมีแนวคิดในการพัฒนา คือ ร่วมกันอนุรักษ์ สืบสาน และดำเนินชีวิตตามวิถีวัฒนธรรม ประเพณีท้องถิ่นที่ดีงาม (ฮีต ๑๒) ทำให้ประเพณีท้องถิ่นที่ดีงามไม่สูญหาย ผ่านการอนุรักษ์ที่เข้มแข็งของคณะบุคคล ผู้นำทางจิตวิญญาณ และเป็นผู้นำประกอบประเพณี การส่งเสริมสนับสนุนของหน่วยงานภาครัฐ และเอกชนร่วมขับเคลื่อนและถ่ายทอดประเพณีของท้องถิ่นสู่ลูกหลาน คนในชุมชน และบุคคลผู้สนใจทั่วไป โดยมีการดำเนินงานร่วมกันอย่างต่อเนื่อง
ข้อมูลการติดต่อ
พระมหายุรนันท์ สุมฺงคโล ผู้อำนวยการโรงเรียนผู้สูงวัยใบบุญวัดโพนชัย ๐๙๗-๒๕๘-๕๓๖๕
แสดงความคิดเห็น