“ไหว้วัดบางพลับ กราบวัดแก่นจันทน์
แดนสวรรค์เกษตรพอเพียง เคียงพระยอดธง
คงโบสถ์เก่าพระเจ้าตากสิน ถิ่นน้ำตาลมะพร้าว ส้มโอขาวใหญ่ ขนมเรไร
ผลไม้กลับชาติ ศิลป์ศาสตร์พญาซอ
สุขหนอนอนโฮมสเตย์”
ชุมชนคุณธรรมวัดแก่นจันทน์เจริญ (บ้านบางพลับ) วิถีชีวิตของชุมชนแบบต่างคนต่างอยู่จนขาดการจัดการองค์ความรู้ในชุมชน เริ่มมีการพัฒนาโดยความคิดริเริ่มของครูสมทรง แสงตะวัน ปราชญ์ชาวบ้านได้แนะนำให้คนในชุมชนรวมกลุ่มมาแบ่งปันความรู้ด้านการเกษตร จนประสบความสำเร็จ เกิดประโยชน์กับคนในชุมชน และขยายออกไปยังภายนอก จนตั้งเป็นศูนย์การเรียนรู้มหาวิชชาลัยภูมิปัญญาท้องถิ่นสมุทรสงคราม และมีการเปิดชุมชนเป็นแหล่งเรียนรู้เพื่อถ่ายทอด แลกเปลี่ยนเรียนรู้ภูมิปัญญา กับหน่วยงานภายนอกและบุคคลที่สนใจ
เส้นทางสู่ความสำเร็จของการมาเป็นพื้นที่ต้นแบบ
การพัฒนาโดยความคิดริเริ่มของ ครูสมทรง แสงตะวัน ปราชญ์ชาวบ้าน เมื่อปี ๒๕๑๔ ครูสมทรง เรียนจบครูแล้วสอบบรรจุเข้ามารับราชการที่บ้านบางพลับและแนะนำให้คนในชุมชนรวมกลุ่มมาแบ่งปันความรู้ด้านการเกษตรระหว่างกัน เพราะมองเห็นประโยชน์ของการสร้างความเข้มแข็งในชุมชน องค์ความรู้ด้านการเกษตรของชุมชนบางพลับผ่านการลองผิดลองถูก จนประสบความสำเร็จ เกิดประโยชน์กับคนในชุมชน โดยจัดตั้งเป็นศูนย์เรียนรู้ทางวิถีชีวิตและภูมิปัญญาขึ้น และเป็นที่นิยมสำหรับหน่วยงานต่างๆ การศึกษาดูงาน เนื่องจากมีฐานเรียนรู้ที่มีความน่าสนใจ เป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น เช่น การแกะกะลาซอ การแปรรูปผลไม้กลับชาติ การปลูกส้มโอขาวใหญ่ อีกทั้งยังมีประเพณีโบราณที่เป็นหนึ่งเดียวในประเทศไทยได้แต่ ประเพณีตักบาตรขนมครก น้ำตาลทราย ณ วัดแก่นจันทร์เจริญ จัดขึ้นทุกปี ทุกวันขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๑๐ โดยเริ่มครั้งแรกเมื่อ ๒๔๗๓ สมัยที่หลวงพ่อโห้เป็นเจ้าอาวาส และมีโบราณสถานที่สำคัญในประวัติศาสตร์
ผลลัพธ์แห่งความสำเร็จ
คนในชุมชนบ้านบางพลับนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต เริ่มตั้งแต่การทำการเกษตรอินทรีย์ ผลผลิตที่ได้สามารถนำมารับประทานเองในชุมชน แจกจ่าย แบ่งปันกัน และสามารถนำออกจำหน่าย ถือเป็นการทำการเกษตรแบบยั่งยืน
คนในชุมชนมีวินัยต่อตนเองและส่วนร่วม เมื่อมีการติดต่อประสานงานจากหน่วยงานต่างๆ หรือกลุ่มนักท่องเที่ยวคนในชุมชนสามารถแบ่งหน้าที่ในการรับผิดชอบฐานเรียนรู้ของตนเองอย่างเต็มความสามารถ
คนในชุมชนที่รู้จักความเสียสละ ความร่วมมือ ร่วมใจ ในการทำประโยชน์เพื่อส่วนรวม ช่วยกันพัฒนาคุณภาพชีวิต เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต ช่วยแก้ปัญหาและสร้างสรรค์ให้เกิดประโยชน์สุขแก่สังคม
สืบสานและดำเนินชีวิตตามวิถีวัฒนธรรมที่ดีงาม ชุมชนบ้านบางพลับมีวัฒนธรรมการดำรงชีวิตแบบชาวสวนเนื่องจากส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรมาเป็นเวลานานสืบทอดมาจากบรรพบุรุษซึ่งปัจจุบันคนในชุมชนก็ยังคงรักษาวัฒนธรรมชาวสวนแบบดั้งเดิมเอาไว้ ส่วนกิจกรรม ประเพณีที่ปฏิบัติสืบทอดกันมาตลอด
ยึดมั่นปฏิบัติตามหลักธรรมทางศาสนาที่ตนนับถือ คือพุทธศาสนา มีการทำบุญตักบาตรทุกเช้า และไปร่วมกิจกรรมเนื่องในวันสำคัญทางศาสนาที่วัด
ก้าวต่ออย่างมีคุณธรรม
๑.น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มาใช้ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างต่อเนื่องตั้งแต่กระบวนการต้นน้ำจนถึงปลายน้ำที่ส่งต่อถึงผู้บริโภคที่มาท่องเที่ยวหรือซื้อผลิตภัณฑ์ในชุมชนทำให้สร้างความเชื่อมั่นและมั่นใจได้ว่าเป็นสินค้าที่มีคุณภาพปลอดภัย ไร้สารเคมี และยังส่งผลดีต่อคนในชุมชนที่จะมีสุขภาพที่ดี มีชีวิตที่ปลอดภัยจากสารเคมี
๒.ฟื้นฟูประเพณีตักบาตรขนมครก ที่จะจัดทุกวันขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๑๐ ที่วัดแก่นจันทน์เจริญ เป็นประจำทุกปีโดยจะอาศัยการบูรณาการจากพลังจากคนในชุมชน สร้างความเข้มแข็งที่เกิดขึ้นจากการระเบิดจากข้างใน ส่งเสริมให้มีการฟื้นฟูประเพณีตักบาตรขนมครกที่มีประเพณีดั่งเดิมเป็นแบบอย่าง มีการส่งต่อความรู้จากผู้สูงวัยในชุมชน และดึงศักยภาพจากเยาวชนคนรุ่นใหม่ในการพัฒนารูปแบบการจัดงานประเพณีให้มีความน่าสนใจ เหมาะกับยุคสมัย เข้าถึงคนทุกวัย แต่ยังคงวิถีชีวิตประเพณีดั่งเดิม
ข้อมูลติดต่อ
นายทรงยศ แสงตะวัน
ที่อยู่ ตำบลบางพรม อำเภอ บางคนที สมุทรสงคราม ๗๕๑๒๐
โทร. ๐๘๑-๒๗๔-๔๔๓๓
แสดงความคิดเห็น