community image

ชุมชนคุณธรรมวัดอัมพวัน

อ. จ.ลพบุรี
วันที่สร้างโพสต์ : 20 กันยายน 2567
วันที่อัปเดต : 20 กันยายน 2567
จำนวนผู้เข้าชม: 3 คน
cover

“อิฐมอญบางขันหมาก รกรากไทยรามัญ

ลือลั่นหลวงปู่ทอกรัก

เอกลักษณ์จุกโก๊ะแกละ”


ชุมชนวัดอัมพวันมีผู้อยู่อาศัยจำนวนมากที่เป็นชาวไทยเชื้อสายมอญ แต่เดิมนั้นคนในชุมชนต่างก็ใช้ชีวิตตามแบบวิถีเดิมของชาวมอญ แต่เมื่อยุคสมัยเริ่มเปลี่ยนแปลงไป เยาวชนรุ่นหลังก็เริ่มไม่ให้ความสนใจ และรู้สึกไม่มีความภาคภูมิใจในความเป็นชาติพันธุ์หรือการเป็นชาวมอญของตนเอง ทำให้วิถีชีวิตวัฒนธรรมต่าง ๆ ทั้งทางด้านภาษา การละเล่น ประเพณีวัฒนธรรมที่รู้จักกันในกลุ่มของคนรุ่นก่อนหรือกลุ่มของผู้สูงอายุนั้นได้เริ่มเลือนหายไป ทำให้ทางวัดอัมพวันได้เริ่มคิดหาแนวทางเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว เพื่อให้คนในชุมชนนั้นได้เห็นถึงความสำคัญและภาคภูมิใจในความเป็นชาติพันธุ์ของตนเอง เพื่อเป็นการส่งต่อหรือสืบทอดประเพณีวัฒนธรรมให้คงอยู่ต่อไป


เส้นทางสู่ความสำเร็จของการมาเป็นพื้นที่ต้นแบบ

         การเริ่มต้นของการอนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรมของชาวมอญในชุมชนวัดอัมพวัน เริ่มต้นขึ้นเมื่อปี ๒๕๔๕ โดยทางวัดได้เริ่มจัดตั้ง ‘กลุ่มยุวชนไทยรามัญ’ ขึ้นเพื่อเป็นศูนย์กลางในการเชิญชวนให้เยาวชนและคนในชุมชนได้มาเข้าร่วมเพื่อฟื้นฟูประเพณีวัฒนธรรม ในช่วงแรกที่เริ่มจัดตั้งกลุ่ม ได้มีการเริ่มฟื้นฟูวัฒนธรรมประเพณีให้กับกลุ่มเยาวชน อันดับแรกคือเรื่องของการแต่งกาย เนื่องจากต้องการที่จะสร้างความเป็นอัตลักษณ์ที่โดดเด่น และชัดเจนให้กับคนในพื้นที่ โดยเริ่มจากการรวบรวมเงินของคนในชุมชนเพื่อนำเงินจำนวนนั้นไปตัดชุดให้กับกลุ่มเยาวชนได้สวมใส่ อีกทั้งยังมีการจัดทำค่ายเพื่อให้เยาวชนได้เข้ามาเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องราวของประเพณีวัฒนธรรมในพื้นที่ และได้มีการติดต่อประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ในการเผยแพร่ประเพณีวัฒนธรรม เพื่อเป็นการเปิดทางให้กลุ่มของเยาวชนได้มีพื้นที่แสดงออกถึงความเป็นชาติพันธุ์ของตนเองมากขึ้น โดยรวมแล้วการอนุรักษ์และส่งต่อประเพณีวัฒนธรรมดังกล่าวนั้นจะเน้นกลุ่มเป้าหมายในการสืบทอดและส่งต่อไปที่เยาวชนโดยอาศัยกลุ่มผู้รู้หรือปราชญ์ชาวบ้านในชุมชนที่มีความรู้ในเรื่องนั้น ๆ ทั้งเรื่องของ ภาษา การละเล่น อาหาร เพลงพื้นบ้าน และประเพณีวัฒนธรรมต่างๆ และยังรวมไปถึงการติดต่อประสานงานกับทางโรงเรียนในพื้นที่เพื่อให้เด็กๆ ได้มาเรียนรู้เรื่องราวที่เกี่ยวกับประเพณีและวัฒนธรรมที่วัดสัปดาห์ละ ๑ ครั้ง เพื่อเป็นการปลูกฝังและสร้างการเรียนรู้อย่างทั่วถึงหรือเรียกว่า “การนำภูมิปัญญาสู่รั้วโรงเรียน”


ผลลัพธ์แห่งความสำเร็จ

สิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปคือคนในชุมชนเกิดความภาคภูมิใจในความเป็นชาวไทยเชื้อสายมอญมากยิ่งขึ้น โดยที่ไม่ได้มีแนวคิดว่าเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องของเด็กหรือผู้ใหญ่แต่มองว่าเป็นเรื่องที่ทุกคนควรช่วยกันในการที่จะอนุรักษ์และส่งต่อ ผู้ใหญ่ในชุมชนต่างให้ความร่วมมือในการที่จะจัดกิจกรรมประเพณีหรือการถ่ายทอดองค์ความรู้ที่เกี่ยวกับประเพณีวัฒนธรรมให้กับเด็กๆ และเยาวชนในชุมชนเองก็มีความภาคภูมิใจในความเป็นชาวมอญและอยากที่จะเรียนรู้และเผยแพร่สิ่งที่มีอยู่ภายในชุมชนให้ออกสู่ภายนอกชุมชน รวมถึงสะท้อนให้เห็นถึงความมีจิตอาสา คนในชุมชนต่างพากันร่วมมือร่วมใจในการที่จะอนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรมในพื้นที่ของตนเองไว้ โดยที่ทุกคนในชุมชนต่างพากันช่วยเหลือโดยไม่ได้หวังเงินเป็นค่าตอบแทน


ความท้าทาย/พลังแห่งการขับเคลื่อน

สิ่งที่เป็นความท้าทายและอุปสรรคในการอนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรมของชุมชนวัดอัมพวัน คือ ความแตกต่างของช่วงวัย และเรื่องของงบประมาณในการจัดทำกิจกรรมต่างๆ ซึ่งความแตกต่างระหว่างช่วงวัยนั้นเกิดจากความคิดของผู้ใหญ่ที่มองว่าการจัดการบางอย่างอาจจะยังไม่ใช่หน้าที่ของเด็กจึงทำให้ไม่ได้มีการปลูกฝังหรือส่งต่อความรู้ให้กับเด็กเยาวชนรุ่นหลัง อีกทั้งไม่ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการที่จะอนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรมดังกล่าวไว้ รวมถึงกลุ่มของเยาวชนเองก็มีความคิดที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยที่เกิดความรู้สึกแปลกแยกและไม่ภาคภูมิใจในความเป็นชาติพันธุ์ของตนเอง แนวทางในการก้าวข้ามอุปสรรคและปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นส่วนสำคัญในการก้าวข้าม คือการร่วมมือหรือความสามัคคีของคนในชุมชน ที่ทุกคนในชุมชนมีแนวคิดไปในทางเดียวกันคือต้องการอนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรมเอาไว้เพื่อให้คงอยู่ต่อไป


ก้าวต่ออย่างมีคุณธรรม

ต้องการขยายเส้นทางภูมิปัญญาให้พื้นที่ให้ชุมชนกลายเป็นแหล่งเรียนรู้ที่ยั่งยืน ซึ่งในปัจจุบันทางชุมชนได้มีการทำป้ายเพื่อบ่งบอกถึงตำแหน่งงานให้กับครอบครัวที่รับผิดชอบในการนำเสนอกิจกรรมต่าง ๆ ในพื้นที่ เพื่อเป็นการสร้างความภาคภูมิใจให้กับครอบครัวนั้น ซึ่งในปัจจุบันมีแหล่งให้ความรู้จำนวน ๑๒ แห่ง และมีเป้าหมายในการขยายขึ้นปีละ ๕ แห่ง โดยคัดเลือกจากความพร้อมของครอบครัวที่ต้องการทำหน้าที่ช่วยเหลือชุมชน


ข้อมูลติดต่อ

พระปัญญาวุฒิ วุฒิโก 

โทร. ๐๘๗ ๐๑๙ ๙๑๙๙

นางประทุม กรอบทอง          

โทร. ๐๘๔ ๑๒๘ ๘๖๖๕

ช่องทางติดต่อ
ติดต่อได้โดยตรง
พระปัญญาวุฒิ วุฒิโก ๐๘๔ ๑๒๘ ๘๖๖๕

แสดงความคิดเห็น

profile