“ประเพณีปักธง ชงชาเกสร
หลวงปู่แสงรวมใจ ชุมชนสามัคคี”
กว่าจะมาเป็นวันนี้
ชุมชนบ้านปรึกมะกรูดประชาชนส่วนใหญ่ทำการเกษตรเชิงเดี่ยว ในบางฤดูกาลพืชผลราคาตกต่ำ รายได้จากการจำหน่ายสินค้าไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ ทำให้ต้องออกไปทำงานต่างจังหวัด ผู้นำชุมชน ประชาชน ปราชญ์ชาวบ้านจึงร่วมกันวิเคราะห์ถึงปัญหา และเห็นว่าเป็นปัญหาที่ต้องได้รับการช่วยเหลือจากส่วนราชการหรือองค์กรที่เกี่ยวข้อง ประกอบกับสำนักงานเกษตรอำเภอคลองขลุง ได้เข้ามาส่งเสริมองค์ความรู้ทางวิชาการให้กับชาวบ้านในการทำเกษตรแบบผสมผสาน โดยปรับเปลี่ยนพื้นที่ในการทำนาหรือทำไร่เพียงอย่างเดียวมาเป็นปลูกสวนผลไม้ และการส่งเสริมการปลูกกล้วยไข่พันธุ์พื้นเมืองกำแพงเพชร
เส้นทางสู่ความสำเร็จของการมาเป็นชุมชนต้นแบบ
ชุมชนคุณธรรมบ้านปรึกมะกรูดมีการขับเคลื่อนกิจกรรมของชุมชน โดยใช้หลักการมีส่วนร่วมของประชาชนในชุมชน เริ่มตั้งแต่ร่วมคิด ร่วมวางแผน ร่วมทำ ร่วมรับผิดชอบ และร่วมรับผลประโยชน์ ผ่านกระบวนการประชุมประชาคม และใช้มติเสียงส่วนใหญ่ในการแก้ไขปัญหาของชุมชน ซึ่งมีกระบวนการ ดังนี้
๑.การส่งเสริมให้ทุกครัวเรือนเข้ามามีส่วนร่วมในการค้นหาสาเหตุของปัญหา และแนวทางในการแก้ไขปัญหาของชุมชน ผ่านกระบวนการประชาคม
๒. วิเคราะห์ปัญหาว่าชุมชนสามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวด้วยคนในชุมชน หรือเป็นปัญหาที่ต้องให้หน่วยงานราชการให้ความช่วยเหลือ กรณีที่สามารถแก้ไขเองได้ มอบหมายให้ตัวแทนเข้าไปจัดการ ในกรณีที่เกินศักยภาพของชุมชน ให้จัดทำแผนปฏิบัติการ เสนอส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ไขปัญหาของชุมชนต่อไป
๓. แต่งตั้งคณะกรรมการพร้อมกำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบ ร่วมแก้ไขปัญหาของประชาชนในชุมชน
๔. การบริหารงบประมาณ/แผนงาน/โครงการ คณะกรรมการฯ ต้องดำเนินการบริหารงานด้วยความโปร่งใส สามารถชี้แจงการใช้งบประมาณของชุมชนได้อย่างถูกต้องตามระเบียบ
๕.การขับเคลื่อนกิจกรรมของชุมชนบ้านปรึกมะกรูด ใช้หลักการ “บวร” และหลักการมีส่วนร่วมของประชาชนในชุมชน ทำให้เกิดการยอมรับทำให้การขับเคลื่อนกิจกรรมของชุมชนประสบความสำเร็จจนได้รับการยกย่องเป็น “ชุมชนคุณธรรมต้นแบบ”
ความท้าทาย
ความท้าทายที่สำคัญของชุมชนที่ผ่านมา คือ ชุมชนบ้านปรึกมะกรูดเป็นชุมชนที่ประกอบอาชีพทำการเกษตร ในอดีตยังไม่มีระบบน้ำชลประทานไหลผ่านชุมชน ประชาชนใช้น้ำบาดาลทำการเกษตรทำให้ต้นทุนการผลิตสูง เกิดปัญหาต่างๆ รวมถึงเกิดความขัดแย้งขึ้น ทำให้ผู้นำชุมชนและประชาชน ได้ตระหนักถึงปัญหาจึงได้จัดประชุมประชาคมซึ่งให้ตัวแทนจากทุกครัวเรือนเข้าร่วมประชุมในการเสนอปัญหาของชุมชนและแนวทางในการแก้ไขปัญหา จนนำไปสู่พบว่า การจัดตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำชลประทาน การกำหนดมาตรการปล่อยน้ำให้กับประชาชน/การจัดสรรน้ำชลประทาน และให้ส่วนราชการเข้ามาสร้างคลองชลประทาน (คลองไส้ไก่)
ผลลัพธ์และผลกระทบที่เกิดขึ้น
จากปัญหาการใช้น้ำเพื่อทำการเกษตร ซึ่งผู้นำชุมชนร่วมกับประชาชนได้ร่วมกันแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้อย่างถูกต้อง และตรงต่อความต้องการ ทำให้พฤติกรรมของคนในชุมชนเปลี่ยนแปลง คือ ความสามัคคีของคนในชุมชน ซึ่งการแก้ไขปัญหาดังกล่าวเกิดจากกระบวนการประชุมประชาคม และร่วมรับผลประโยชน์จากการเข้าร่วมประชุม หรือใช้หลักการมีส่วนร่วม รวมถึงการใช้หลักการบริหารจัดการชุมชนที่มีความโปร่งใส และมีการบูรณาการตามหลักการของ “บวร”
ปัจจุบันชุมชนบ้านปรึกมะกรูด ประชาชนสามารถทำการเกษตรได้ตลอดปี รวมถึงมีสวนผลไม้ที่ให้ผลผลิตได้ทั้งปี ทำให้มีงานมีรายได้ ลดการอพยพไปทำงานยังต่างจังหวัด และสามารถเปิดสวนผลไม้ของทุกครัวเรือนให้เป็นชุมชนท่องเที่ยวเชิงเกษตร ที่นักท่องเที่ยวเข้ามาซื้อผลไม้ตามฤดูกาล ทำให้ประชาชนมีรายได้อย่างยั่งยืน
เป้าหมายที่จะเดินต่อ
มชนคุณธรรมบ้านปรึกมะกรูด มีเป้าหมายในการขับเคลื่อนชุมชนคุณธรรม ให้เป็น “ชุมชนชุมชนท่องเที่ยวเชิงเกษตร” เนื่องจากเป็นชุมชนที่มีต้นทุนทางการเกษตรที่สำคัญ คือ แหล่งเรียนรู้เกษตรแปลงใหญ่กล้วยไข่ โซน ๒ ของจังหวัดกำแพงเพชร แหล่งเรียนรู้การทำชาปลีกล้วยไข่ ชาเกสรกล้วยไข่ และมีสวนผลไม้ที่มีความหลากหลาย รวมถึงปลูกผักสวนครัวปลอดสารพิษเพื่อจำหน่ายในชุมชนใกล้เคียง และมีต้นทุนทางวัฒนธรรมที่สำคัญ คือ การสืบทอดวิถีของชาวลาวครั่งในด้านต่างๆ ซึ่งเป็นเสน่ห์ของชุมชนบ้านปรึกมะกรูด เป้าหมายของการขับเคลื่อนชุมชน คือ การจัดเส้นทางท่องเที่ยวตามฤดูกาลของสวนผลไม้ โดยให้นักท่องเที่ยวได้เข้ากินผลไม้สดๆ จากสวนและสามารถซื้อผักปลอดสารพิษของชุมชน รวมถึงผลิตภัณฑ์ของชุมชน เช่น กระยาสารทข้าวพอง “พอดีคำ” ชาเกสรกล้วยไข่ ชาปลีกล้วยไข่ จากเป้าหมายในการเป็น “ชุมชนท่องเที่ยวเชิงเกษตร” จะทำให้ประชาชนในทุกครัวเรือนมีรายได้จากการจำหน่ายสินค้าทางการเกษตรและทางวัฒนธรรม เป็นการสร้างงานสร้างได้ให้กับประชาชนอย่างแท้จริง
ผู้ติดต่อในพื้นที่
ผู้ประสานงาน (สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด)
นายรุ่งวุฒิ กิตติพงษ์พันธ์ ๐๖๓-๖๗๔-๒๙๘๖
แสดงความคิดเห็น