“สมาคมประมงพื้นบ้านหัวไทร
ชุมชนแห่งการอนุรักษ์ทรัพยากรชายฝั่งทางทะเล”
ด้วยความอุดมสมบูรณ์ของทะเลอำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยเฉพาะบริเวณหน้าตำบลเกาะเพชร ทำให้ชาวประมง ทั้งในและนอกชุมชนเข้ามาจับสัตว์น้ำอยู่เป็นประจำ โดยวิธีถูกกฎหมายบ้าง ผิดกฎหมายบ้าง เป็นเหตุให้ทรัพยากรสัตว์น้ำบริเวณนี้มีจำนวนลดลงอย่างเห็นได้ชัด เทศบาลตำบลเกาะเพชรและสมาคมประมงพื้นบ้านหัวไทรจึงได้ร่วมมือกันจัดกิจกรรมเพื่อการอนุรักษ์ที่ยั่งยืนขึ้น โดยมีจุดเด่นอยู่ที่การวางเป้าหมายในการอนุรักษ์ไว้อย่างชัดเจนตั้งแต่เริ่มต้นว่า “การอนุรักษ์” คือ “อนุรักษ์เพิ่มปริมาณสัตว์น้ำ อนุรักษ์กินได้ อนุรักษ์มีรายได้”และยังมีวิธีการดำเนินการเพื่อไปสู่เป้าหมายดังกล่าวที่เป็นรูปธรรมในทุกๆ มิติ ดังนี้
๑.การจัดทำธนาคารปูและธนาคารปลาหมึก มีการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตลูกปู จนส่งผลให้ชาวประมงสามารถนำแม่ปูกลับไปขายได้ทันที และราคาแม่ปูไม่ลด ไม่เป็นการสร้างภาระให้กับชาวประมง อีกทั้งยังเพิ่มความมีส่วนร่วมของชาวประมงอีกด้วย
๒.การจัดทำแนวเขตอนุรักษ์ ครอบคลุมพื้นที่ชายฝั่ง ๖หมู่บ้าน โดยมีการจัดเวทีประชาคมเพื่อให้ทุกคนในชุมชนได้รับทราบและยึดหลักปฏิบัติร่วมกัน มีรายละเอียดของข้อกำหนดรวมทั้งบทลงโทษสำหรับผู้ฝ่าฝืนไว้ชัดเจน
๓.การจัดทำบ้านปลา เพื่อช่วยสร้างแหล่งอาศัยหลบภัยของสัตว์น้ำ และแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อน
๔.การดูแลรักษาชายฝั่งทะเล ซึ่ง ประกอบไปด้วยกิจกรรมต่างๆ ได้แก่ กิจกรรมหมู่บ้านประมงปลอดขยะ กิจกรรมจัดเก็บขยะทะเลที่ตกค้างในระบบนิเวศแบบมีส่วนร่วม การปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำลงสู่ทะเล
แก้ปัญหาด้วยต้นทุนที่มี
ปัญหาสำคัญในการทำงานอนุรักษ์ข้างต้นคือ ต้นทุนที่เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะค่าพลังงาน สมาคมฯ ชุมชนและเทศบาลจึงได้ร่วมมือกันหาแนวทางในการลดต้นทุนดังกล่าว โดยจัดทำพลังงานหมุนเวียนทดแทนด้วยระบบโซล่าร์เซลล์ และการใช้กังหันลม รวมทั้งการนำอุปกรณ์การตรวจวัดสภาพภูมิอากาศมาประยุกต์ใช้ควบคู่ไปกับภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อตรวจเช็คสภาพอากาศก่อนการออกทำการประมงอีกด้วย
ผลลัพธ์แห่งความสำเร็จ
จากการอนุรักษ์ ทำให้ชาวประมงในชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้น มีการต่อยอดด้านอาชีพไปสู่การแปรรูปอาหารทะเล มีการถ่ายทอดการอนุรักษ์และการแปรรูปอาหารสู่เด็กรุ่นหลังของชุมชน ซึ่งอยู่ในหลักสูตรการเรียนรู้วิถีชีวิตชาวประมงอย่างยั่งยืน รวมทั้งยังเกิดการสร้างเครือข่ายในการช่วยเหลือกลุ่มประมงในพื้นที่อื่นๆ ด้วย เช่น ร่วมจัดนิทรรศการธนาคารปูระบบน้ำหมุนเวียนในวันทะเลโลก ณ ท่าศาลา เข้าร่วมกิจกรรมเก็บขยะและสนับสนุนพันธ์สัตว์น้ำอำเภอหัวไทร โครงการแลกเปลี่ยนซูเอี้ยระหว่าง อ.ท่าศาลาและ อ.หัวไทร เป็นต้น
นอกจากความสำเร็จในเชิงรูปธรรม ดังกล่าวนี้แล้ว พฤติกรรมของคนในชุมชมยังแสดงถึงการมีคุณธรรมด้านต่าง ๆ
๑.ความพอเพียง สมาชิกในกลุ่มและคนในชุมชน มีวิถีการดำเนินชีวิตแบบพึงพาอาศัย ร่วมกันใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างรู้คุณค่า ประกอบอาชีพตามแนวทางการอนุรักษ์ ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมทางทะเล
๒.วินัย สมาชิกกลุ่มและชาวประมงในพื้นที่ มีความรับชอบ มีจรรยาบรรณในอาชีพของตน เคารพต่อกฎที่วางไว้ เช่น ไม่ทำการประมงในเขตที่หวงห้าม หรือในฤดูกาลที่กำหนดไว้
๓.สุจริต ผู้ประกอบอาชีพทุกคน จะมีความซื่อสัตย์ในอาชีพของตนเอง ทั้งต่อตนเองและเพื่อนร่วมอาชีพโดยการเคารพในกฎที่วางไว้ เช่นการไม่ใช้เครื่องมือประมงผิดกฎหมายในการทำประมงของตน
๔.จิตอาสา คนในชุมชนทุกคน เป็นผู้มีใจสาธารณะ มีความสามัคคี ร่วมกันดูแลสังคม สิ่งแวดล้อมและการอนุรักษ์ เช่น การรักษาสิ่งแวดล้อมชายฝั่ง การร่วมมือกันวางปะการังเทียมเพื่อให้เป็นที่อยู่ของสัตว์ทะเล
๕. กตัญญูรู้คุณ ได้มีการจัดกองทุนข้าวสาร เพื่อดูแลสมาชิกในกลุ่ม และคนในชุมชน โดยความร่วมมือของทุกภาคส่วน
เป้าหมายต่อไปในอนาคต
การดำเนินงานพัฒนาให้มีความต่อเนื่อง คือการสังเคราะห์องค์ความรู้ชุมชนปฏิบัติ พร้อมถ่ายทอดความรู้ของชุมชนผ่านสื่อ รายการต่างๆ ให้เกิดประโยชน์แพร่หลาย
ผู้ประสานงานติดต่อพื้นที่ :
นางอรนุช คงแก้ว
นักทรัพยากรบุคคลเทศบาลตำบลเกาะเพชร
โทรศัพท์ ๐๘๐ ๖๔๘ ๒๖๒๑
แสดงความคิดเห็น