บ้านหว้านลือเลื่อง นามกระเดื่องอุโบสถเรือสุพรรณหงส์ สูงส่งพระบรมสารีริกธาตุ
ธรรมชาติเกื้อกูล เทิดทูนประเพณี
สามัคคีปวงชน
กว่าจะมาเป็นวันนี้
ชุมชนวัดพระธาตุสุพรรณหงส์ ด้วยบริเวณที่ตั้งบ้านหว้าน มีหนองน้ำเก่าแก่เรียกว่า “หนองผือ” ชาวบ้านมีความเชื่อว่าเป็นที่อยู่อาศัยของพญานาคจึงมีแนวคิดในการสร้างวัดบริเวณดังกล่าว โดยร่วมกันคิดและก่อสร้างเป็นอุโบสถกลางน้ำเป็นรูป เรือสุพรรณหงส์ และสร้างบันไดทางลงเรือเป็นรูปพญานาค ด้วยความงดงามของอุโบสถเรือสุพรรณหงส์ ความสงบเรียบง่าย และวิถีวัฒนธรรมที่ดีงามของชุมชนทำให้ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยว ตลอดทั้งคณะครูอาจารย์นำนักเรียนมาทัศนศึกษาอยู่เป็นประจำ
เส้นทางสู่ความสำเร็จของการมาเป็นชุมชนต้นแบบ
ชุมชนคุณธรรมวัดพระธาตุสุพรรณหงส์ ดำเนินกิจกรรมโดยอาศัยเครือข่ายพลังบวร คนในชุมชนมีความสามัคคีให้ความร่วมมือกับผู้นำชุมชนเป็นอย่างดี โดยเน้นการสร้างจิตสำนึก และกระตุ้นให้เกิดเป็นพลังของคนในชุมชน ดังนี้
๑.คนในชุมชนร่วมกันค้นหาอัตลักษณ์ที่โดดเด่นของชุมชนหรือความต้องการพัฒนาชุมชน โดยทำประชาคมร่วมคิดวิเคราะห์ ปัญหาที่อยากแก้ความดีที่อยากทำ มีส่วนร่วมในการแสดงออกถึงความมุ่งมั่น ตั้งใจดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ของชุมชนให้สำเร็จ
๒.นำหลักการทรงงาน “ระเบิดจากข้างใน” “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” เป็นหลักการดำเนินงานขับเคลื่อนชุมชนคุณธรรม
๓.ใช้กระบวนการความร่วมมือของพลังบวร เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการดำเนินงานของชุมชน
๔.ในการพัฒนาชุมชน จะมุ่งเน้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม คุณภาพชีวิตคนในชุมชนซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของความเข้มแข็งของชุมชน โดยยึดมั่นในหลักคุณธรรม พอเพียง วินัย สุจริต จิตอาสา และกตัญญู
๕.สถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ศาสตร์พระราชาเป็นแกนกลางพัฒนาคน เสริมสร้างให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็งและยั่งยืน
๖.เชื่อมโยงการขับเคลื่อนชุมชนคุณธรรม โดยเน้นการมีส่วนร่วมของชุมชน “ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมรับประโยชน์”
๗.ส่งเสริมให้คนในชุมชนพึ่งพาตนเอง พึ่งพากันเอง รวมพลังพัฒนาต่อยอดทุนทางวัฒนธรรม ความหลากหลายทางทรัพยากร สิ่งแวดล้อม สร้างความเข้มแข็งแก่ชุมชน
๘.บูรณาการความร่วมมือกับทุกภาคส่วนอย่างเป็นระบบและเป็นรูปธรรม
๙.ส่งเสริมคุณธรรมและขยายผลกิจกรรมเพิ่มเติมใน ๓ มิติ ทั้งด้านศาสนา ด้านหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และด้านวิถีวัฒนธรรมที่ดีงาม
ความท้าทาย
แกนนำพลังบวร และคนในชุมชน มีส่วนร่วมในการค้นหาหรือกำหนดเป้าหมายร่วมกัน “ปัญหาที่อยากแก้” เช่น ปัญหาทางเศรษฐกิจ ปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาความยากจน มีหนี้สิน รายได้ไม่เพียงพอ และร่วมกัน “ความดีที่อยากทำ” เช่น ปฏิบัติตามหลักธรรมทางศาสนา ดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง สืบสานประเพณีวัฒนธรรม รณรงค์ให้คนชุมชนรู้จักการออม โดยการยึดมั่นในหลักคุณธรรม พอเพียง วินัย สุจริต จิตอาสา และกตัญญู
ผลลัพธ์และผลกระทบที่เกิดขึ้น
คนในชุมชนยึดมั่นในหลักธรรมทางศาสนา มีการรณรงค์ให้นุ่งผ้าไทย ผ้าพื้นเมือง และใช้ตะกร้าแทนถุงพลาสติก เพื่อเป็นการรักษาสิ่งแวดล้อม เกิดวินัยในการรักษาความสะอาด ลดปัญหาขยะในชุมชน คนในชุมชนมีความรักความสามัคคี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
ดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เกิดตลาดโบราณ ตลาดวัฒนธรรมชุมชน เกิดการรวมกลุ่ม มีผลิตภัณฑ์ชุมชนที่สร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน ปัญหาหนี้สินลดลง ทำให้คนในชุมชนอยู่ดีมีสุข รู้จักอดออม มีสัมมาอาชีพ มีเหตุมีผล มีภูมิคุ้มกันที่ดีสามารถพึ่งพาตนเองได้
ดำเนินชีวิตตามวิถีวัฒนธรรมที่ดีงาม และร่วมกันรักษา สืบสานประเพณีวัฒนธรรมภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปวัฒนธรรมอันดีงามของชุมชนให้คงอยู่ คนในชุมชนมีความรัก ความภาคภูมิใจในอัตลักษณ์ของท้องถิ่น มีจิตอาสา ใช้ชีวิตเรียบง่าย เป็นเจ้าบ้านที่ดีและมีน้ำใจเอื้ออาทรต่อกัน
เป็นชุมชนท่องเที่ยวที่มีเสน่ห์ คนในชุมชนมีส่วนร่วมและเป็นเจ้าบ้านที่ดีในการต้อนรับแขกผู้มาเยือน โดยมีวัดเป็นศูนย์กลางในการจัดกิจกรรม ซึ่งภายในวัดและชุมชน มีจุดท่องเที่ยวที่น่าสนใจ อาทิ อุโบสถรูปเรือสุพรรณหงส์ ตลาดโบราณตลาดวัฒนธรรมชุมชน
เป้าหมายที่จะเดินต่อ
๑.ส่งเสริมให้แกนนำพลังบวรระดับชุมชนมีบทบาทในการพัฒนาตนเอง เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืน เกิดผลการพัฒนาด้านคุณธรรมจริยธรรมในการดำรงชีวิต ยึดมั่นในหลักธรรมทางศาสนา เข้าใจและปฏิบัติตนตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มีภูมิคุ้มกันที่เข้มแข็ง สามารถปรับตัวและพึ่งพาตนเองได้ มีความตระหนักต่อการอนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรม ภูมิปัญญา และศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น ตลอดทั้งอนุรักษ์กิจกรรมตลาดโบราณตลาดวัฒนธรรมชุมชนให้คงอยู่สืบไป
๒.มีกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวที่แสดงถึงวิถีชีวิตของชุมชนอย่างเป็นระบบ มีมาตรฐาน และสร้างตราสัญลักษณ์ที่สื่อถึงความโดดเด่นและอัตลักษณ์ของชุมชน
๓.ส่งเสริมให้มีการพัฒนาและรักษามาตรฐานของโฮมสเตย์ให้สะอาด ปลอดภัย
๔.ส่งเสริมสนับสนุนให้มีการพัฒนาบรรจุภัณฑ์สินค้าชุมชนที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง พัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนให้มีความแตกต่างจากเดิม มีความหลากหลาย โดยใช้วัสดุจากธรรมชาติที่มีในชุมชน เพื่อเพิ่มมูลค่า เช่น การทำสบู่สมุนไพร ใช้เป็นของที่ระลึกได้
๕.ส่งเสริมอนุรักษ์ภูมิปัญญาด้านการนวดแผนไทย เพื่อสร้างรายได้ให้คนในชุมชน
ข้อมูลติดต่อ
นายวิมล ทองสาย ๐๙๕-๖๐๙๕๘๙๒
แสดงความคิดเห็น