“ศรีวิไลเมืองน่าอยู่ เชิดชูคุณธรรมนำการบริหาร สืบสานวัฒนธรรม สร้างสังคมแข็งแรง”
กว่าจะมาเป็นวันนี้
ชุมชนวัดอรัญญวิเวก บ้านศรีวิไลพัฒนา มีปริมาณขยะมูลฝอยจำนวนมากเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากร และการเติบโตทางเศรษฐกิจ เกิดปัญหาการทิ้งขยะ การกำจัดขยะ ทำให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม พระมหาธีระ มหาวิโร เจ้าคณะอำเภอศรีวิไลและเจ้าอาวาสวัดอรัญญวิเวก เล็งเห็นถึงปัญหาได้ริเริ่มนำคนในชุมชนทำผ้าป่าขยะขึ้นโดยมีแนวคิดว่า ขยะคือทุน บุญคือกำไร เป็นแรงจูงใจให้ชุมชนคัดแยกขยะและรวบรวม ขยะรีไซเคิลนำมาเป็นปัจจัยในการทอดถวายผ้าป่าแทนการใช้เงิน ซึ่งมีโรงเรียนวิถีพุทธ และหน่วยงานภาครัฐให้การสนับสนุน แต่ชาวบ้านบางส่วนมีความเห็นว่ายังมีบางคนที่คัดแยกขยะไม่ถูกวิธีและการนำขยะไปไว้ที่วัดนั้นไม่เหมาะสม จึงเปลี่ยนมารวมกันและให้ร้านมารับซื้อขยะที่ศาลาประชาคมของหมู่บ้านแทน จากนั้นประสานกับร้านรับซื้อเพื่อคำนวณเป็นมูลค่า เมื่อได้เงินมาแล้วจึงนำมาทำบุญถวายวัดและใช้ในกิจกรรมทางศาสนาต่อไป
เส้นทางสู่ความสำเร็จของการมาเป็นชุมชนต้นแบบ
การเป็นชุมชนต้นแบบในการจัดการขยะนั้น เกิดจากความมีส่วนร่วมของสมาชิกในชุมชนและหน่วยงานภาครัฐในพื้นที่ ขับเคลื่อนการดำเนินงานด้วยพลังบวร ที่ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมตัดสินใจ แก้ปัญหา มีความสามัคคี และมีจิตสำนึกในการที่จะพัฒนาชุมชนให้มีสภาพแวดล้อมที่ดี เป็นชุมชนที่มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อประโยชน์ของชุมชนอย่างแท้จริง โดยใช้หลักการ ๔ ข้อ คือ
๑.ใช้วิธีการคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทางในระดับครัวเรือนเพื่อให้ง่ายต่อการนำไปใช้ประโยชน์และจัดการตามประเภทขยะ
๒.ออกกฎระเบียบของชุมชนเพื่อบังคับใช้และสนับสนุนการคัดแยกขยะ ให้ประชาชนมีส่วนร่วม ในการลดปริมาณขยะ
๓.ให้สมาชิกในชุมชนมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้การจัดการขยะอย่างถูกวิธี ถูกสุขลักษณะ และสร้างจิตสำนึกที่ดีในการจัดการขยะ
๔.มีการควบคุม ตรวจสอบอย่างจริงจัง และขอความร่วมมือในระดับครัวเรือนทิ้งขยะให้เป็นระเบียบ เพื่อใช้ประโยชน์จากขยะให้ได้มากที่สุดก่อนนำไปฝังกลบซึ่งมีจุดเน้นที่ขยะรีไซเคิล เนื่องจากสามารถนำไปใช้ประโยชน์ มีมูลค่าสร้างรายได้ให้ชุมชน จนสามารถจัดตั้งกองทุนฌาปนกิจสงเคราะห์ได้ เป็นแรงจูงใจหลักให้ชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วมและใช้กระบวนการ มีส่วนร่วมขยายผลต่อไปในเรื่องการจัดการขยะอินทรีย์ ขยะทั่วไป ขยะอันตราย โดยมีรูปแบบการทำงาน ในลักษณะคณะกรรมการและสมาชิกธนาคารขยะ และมีเทศบาลตำบลศรีวิไลเป็นพี่เลี้ยงในการสร้างความรู้ความเข้าใจในการดำเนินงานจัดการขยะต่าง ๆ
ความท้าทาย
ในช่วงเริ่มแรกของการดำเนินงานขาดการมีส่วนร่วมและความรับผิดชอบของคนในชุมชน บางคนไม่ให้ความร่วมมือ ไม่มีการคัดแยกขยะก่อนนำไปทิ้ง หรือการสื่อสารที่ผิดพลาดทำให้สมาชิกในชุมชนเกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อน ทำให้ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการ จึงได้สร้างการรับรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องในการจัดการขยะ มีกฎระเบียบกติกาของชุมชนขึ้นมาเป็นพื้นฐานในการจัดการขยะให้สมาชิกในชุมชนรับรู้โดยทั่วกัน และยึดถือปฏิบัติเพื่อสร้างความสามัคคี ความมีระเบียบวินัย และการมีสภาพแวดล้อมที่ดี
ผลลัพธ์และผลกระทบที่เกิดขึ้น
ผลจากการดำเนินงานขับเคลื่อน ทำให้เกิดผลลัพธ์และความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมและเป็นต้นแบบให้แก่ชุมชนอื่น ๆ ได้ ดังนี้
๑.การดำเนินโครงการดังกล่าวเป็นการกระตุ้นสร้างจิตสำนึกในการร่วมมือกันดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมและสร้างความสามัคคีภายในชุมชน สมาชิกในชุมชนรู้จักวิธีการและเห็นความสำคัญของการคัดแยกขยะออกเป็นประเภทต่างๆ มีการจัดการขยะจากต้นทาง ช่วยลดภาระในการกำจัดขยะของเทศบาลและสามารถ ลดปริมาณขยะมูลฝอยในชุมชน ลดปัญหาสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน
๒.พฤติกรรมของคนในชุมชนเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น มีความสามัคคี มีระเบียบวินัย มีความรับผิดชอบในหน้าที่ของตนเองและต่อส่วนรวม เคารพในกฎของชุมชน และดำเนินชีวิตตามหลักธรรมทางศาสนา
๓.ผลจากการจัดการขยะที่ถูกต้องและการจัดโครงการขยะแลกบุญ ธนาคารขยะ ทำให้สมาชิกในชุมชน มีรายได้เพิ่มมากขึ้น ครัวเรือนที่เดือดร้อนได้รับการช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ และเป็นการสนับสนุนให้สมาชิกในชุมชนหันมาเข้าวัดทำบุญอย่างสม่ำเสมอ
เป้าหมายที่จะเดินต่อ
ชุมชนมีความมุ่งหวังที่จะพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมและคุณภาพชีวิตของชุมชนอย่างต่อเนื่อง โดยการต่อยอดและฟื้นฟูโครงการต่าง ๆ ของชุมชนทั้งที่มีการดำเนินการอยู่แล้วและที่ได้เคยล้มเลิกไป ให้มีแผนการดำเนินงานที่เป็นระบบและให้ทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ ดังนี้
๑.จัดให้มีเวทีแสดงความคิดเห็น หารือ และถอดบทเรียนการดำเนินงานโครงการที่ผ่านมา เพื่อพัฒนาและแก้ไขปัญหาของชุมชนต่อไป
๒.จัดระเบียบชุมชนและสร้างความรับรู้ความเข้าใจให้แก่สมาชิกในชุมชนอย่างทั่วถึง โดยผู้นำชุมชนและสถานศึกษาในพื้นที่ช่วยกันเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ และมุ่งเน้นการลงมือปฏิบัติจริงอย่างต่อเนื่อง
๓.รายได้ที่เกิดขึ้นจากโครงการจะนำไปช่วยเหลือผู้อื่นที่เดือดร้อนในสังคม
๔.การรักษามาตรฐานของการเป็นชุมชนต้นแบบด้านคุณธรรม และเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับชุมชนอื่น
ข้อมูลติดต่อ
นายศรีพัย วรรณดร ๐๘๐-๔๖๒-๐๗๐๔
แสดงความคิดเห็น