“ชุมชนคุณธรรม น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ขับเคลื่อนด้วยพลังบวร
เชิดชูประเพณี วิถีวัฒนธรรม ภาพจิตรกรรมล้ำค่า เทิดทูนสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ อย่างมั่นคง”
กว่าจะมาเป็นวันนี้
ชุมชนนี้เคยประสบปัญหาในหลายด้าน วัดไชยศรีอันเคยเป็นแหล่งศูนย์กลางศาสนาประเพณี และมีอิทธิพลต่อสำนึกและจิตใจของคนในชุมชนก็อ่อนแอ ต่อมาจึงเกิดแนวคิดการพัฒนาชุมชนด้วยมิติทางวัฒนธรรมขึ้น เนื่องจากเห็นว่าเป็นแนวทางที่ชุมชนมีต้นทุนมาก่อน แล้วยังเป็นที่ยอมรับของคนส่วนใหญ่ อีกทั้งทำให้วัดไชยศรีสามารถกลับมาเป็นศูนย์รวมใจและศูนย์กลางการพัฒนาได้อย่างมีพลังและมีประสิทธิภาพ ทำให้การพัฒนามีทิศทางด้านคุณธรรมเป็นองค์ประกอบสำคัญ ด้วยการใช้แนวทางของประเพณีวัฒนธรรมอันมาจากพระพุทธศาสนา และเป็นต้นทุนที่สำคัญของชุมชน สร้างกระบวนการพัฒนาจากวัดเข้าสู่บ้าน และเข้าสู่โรงเรียนทำให้กลายเป็นชุมชนที่มีองค์ประกอบของคุณธรรมแบบบวรมาถึงปัจจุบัน
เส้นทางสู่ความสำเร็จของการมาเป็นชุมชนคุณธรรมต้นแบบ
เส้นทางสู่ความสำเร็จมีองค์ประกอบสำคัญอยู่ ๓ ขั้นตอนคือ
๑.จุดประกายสร้างแนวคิดร่วมอย่างมีเป้าหมายและขยายเครือข่ายในชุมชน จากแนวคิดการพัฒนาวัดและชุมชนไปพร้อมกันเพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างแท้จริง จากนั้นจึงนำแนวคิดไปสู่ผู้นำชุมชนและกลุ่มแกนนำ เมื่อได้รับการยอมรับและปรับทิศทางจนชัดเจนแล้วก็ขยายเข้าสู่คนในชุมชนทั้งหมด จนสามารถขยายความร่วมมือในกิจกรรมต่างๆ เข้าสู่โรงเรียนของชุมชน
๒.สร้างแรงจูงใจด้วยจิตสำนึกรักและภูมิใจในชุมชนตนเองเพื่อให้เกิดพลังร่วม เห็นได้จากการที่ชุมชนสร้างกระบวนการศึกษาค้นคว้าถอดองค์ความรู้อุโบสถและภาพจิตรกรรมฝาผนังวัดไชยศรี จนสามารถนำมาสู่การเรียนรู้และถ่ายทอด เมื่อนำสิ่งเหล่านี้มาเป็นเชิงสัญลักษณ์ของกิจกรรมต่างๆ ก็ทำให้เกิดความร่วมมือรวมใจกันของคนในชุมชน
๓.สร้างความยั่งยืนด้วยพลังบวร สิ่งสำคัญซึ่งเป็นสิ่งชี้วัดความสำเร็จของชุมชนคุณธรรมอย่างแท้จริงคือ ความยั่งยืน ถ้าขาดการวางแนวทางเพื่อให้เกิดความยั่งยืนต่อยอดในอนาคต ก็เป็นความสำเร็จเพียงครึ่งทาง ดังนั้นจึงมีการวางแนวทางให้ทุกภาคส่วนได้มีบทบาทช่วยกันในการขับเคลื่อนชุมชนคุณธรรม โดยมีการสร้างทุกกิจกรรมของชุมชนให้เปิดพื้นที่การมีส่วนร่วมของกันและกันระหว่างบวร เพื่อให้เกิดเป็นวิถีชุมชนคุณธรรมนำมาซึ่งความยั่งยืนต่อไป
ความท้าทาย
เนื่องจากก่อนนี้ชุมชนมีความแตกแยก ไม่มีกิจกรรมที่เป็นรูปธรรมและมีพลังที่จะขับเคลื่อนคุณธรรมในชุมชนได้ จึงแก้ไขด้วยการสร้างจุดรวมใจ พื้นที่สาธารณะในการร่วมคิดร่วมทำคือวัดไชยศรี เนื่องจากเป็นวัดเก่าแก่ที่คนในชุมชนให้ความเลื่อมใสศรัทธามานาน จึงยิ่งทำให้เกิดการยอมรับและร่วมมือคนในชุมชน
นอกจากนั้นความเปลี่ยนแปลงทางสังคม ทั้งภายใน และนอกชุมชน ซึ่งส่งผลกระทบต่องาน หรือกิจกรรมตลอดเวลานั้น แก้ไขด้วยการกระจายกิจกรรมที่ขับเคลื่อน และเปิดพื้นที่สร้างสรรค์ในเชิงคุณธรรม ให้เข้าถึงและครอบคลุมกลุ่มต่างๆ ทุกเพศทุกวัยให้มากที่สุด สร้างความร่วมมือและทำกิจกรรมกับหน่วยงานต่างๆ ที่มีบทบาทและแนวทางสอดคล้องกัน เพื่อให้คนในชุมชนได้รับข่าวสารข้อมูลและแนวทางปฏิบัติที่เท่าทันและถูกต้อง อีกทั้งเกิดทักษะองค์ความรู้ใหม่ ที่จะนำมาแก้ไขและสนับสนุนการขับเคลื่อนชุมชนคุณธรรม
ผลลัพธ์และผลกระทบที่เกิดขึ้น
ผลที่เกิดขึ้นจากการขับเคลื่อนชุมชนคุณธรรมจนประสบผลสำเร็จ มี ๕ ด้าน คือ
๑.คนในชุมชนเกิดความภูมิใจในชุมชนตนเองมากขึ้น ทำให้เกิดการร่วมมือกัน สามัคคีที่จะทำให้ชุมชนดีขึ้น
๒.คนในชุมชนให้ความสำคัญปฏิบัติตามจารีตประเพณีหรือศีลธรรมทางศาสนาที่ยึดถือ สืบทอดกันมา แล้วยังมีการสร้างระเบียบกติกาในการการอยู่ร่วมกันขึ้นหลายอย่าง
๓.คนในชุมชนมีความเสียสละต่อส่วนรวมหรือในกิจกรรมทางสังคม มีการตั้งกลุ่มจิตอาสาขึ้นหลายกลุ่ม
๔. มีการรวมกลุ่มสร้างผลิตภัณฑ์ชุมชนเพื่อจำหน่ายสร้างรายได้เสริมและการนำต้นทุนทางวัฒนธรรมมาพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวสร้างรายได้ เพื่อให้เกิดการพึ่งพาตนเองมากขึ้น
๕.เมื่อคนในชุมชนมีคุณธรรมด้านต่างๆ ทำให้ปัญหาด้านทุจริตในชุมชนลดลงแทบจะหมดไป อันเนื่องมาจากความโปร่งใสในการทำงาน
เป้าหมายที่จะเดิน
เป้าหมายที่ชุมชนจะดำเนินการต่อในอนาคต เพื่อเป็นหลักประกันถึงความยั่งยืนของความเป็นชุมชนคุณธรรมและยังมีเป้าหมายที่จะต่อยอดความสำเร็จให้ดียิ่งขึ้น ดังนี้
๑.ดำเนินการพัฒนาต่อยอดกิจกรรมต่างๆที่ชุมชนได้ดำเนินการจนประสบความสำเร็จมาแล้ว ให้ได้รับการสานต่อและพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น
๒.ทำให้พลังบวรดำเนินกิจกรรมขับเคลื่อนส่งเสริมคุณธรรมในรูปแบบที่สอดรับกันในทุกกิจกรรม ต้องเปิดพื้นที่ให้แต่ละส่วนสามารถมีส่วนร่วม มีพื้นที่สร้างเสริมกิจกรรมซึ่งกันและกันอยู่เสมอ เป็นการบูรณาการที่จะทำให้พลังบวรเข้มแข็งมั่นคงและยั่งยืน
ข้อมูลการติดต่อ
พระครูบุญชยากร เจ้าอาวาสวัดไชยศรี
๐๘๙-๒๗๖-๔๒๐๔
แสดงความคิดเห็น