community image

ชุมชนคุณธรรมวัดบ้านแขว

อ.ขุขันธ์ ต.ห้วยใต้ จ.ศรีสะเกษ
วันที่สร้างโพสต์ : 20 กันยายน 2567
วันที่อัปเดต : 2 ตุลาคม 2567
จำนวนผู้เข้าชม: 3 คน
cover

“หลวงตาก๊จคู่บ้าน จักสานกระบุงเด่น

ประเพณีแซนโฎนตา ธรรมชาติป่าสวย 

 มีห้วยไหลผ่าน สระบัวบานประเนิ้ดปู 

มีปู่ย่าสวายเจกยักษ์ ถิ่นอนุรักษ์วัฒนธรรม”


กว่าจะมาเป็นวันนี้

          ชุมชนคุณธรรมวัดบ้านแขว เป็นการรวมตัวกันของ ๔ คนในชุมชนส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนไทยชาติพันธุ์เขมร ภาษาที่พูดในท้องถิ่นเป็นภาษาเขมร ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนา ทำสวน ทำไร่ และรับจ้าง ด้วยการที่มีการรวมตัวกันหลายหมู่บ้านทำให้ต่างคนไม่เข้าใจ ในกระบวนการ วิธีการทำงาน เกิดความแตกแยกทางความคิดของคนในชุมชน บางกลุ่มยังไม่เข้าใจ มองไม่เห็นประโยชน์และไม่ให้ความร่วมมือ ในการดำเนินงานขับเคลื่อนชุมชนให้บรรลุวัตถุประสงค์


เส้นทางสู่ความสำเร็จของการมาเป็นชุมชนต้นแบบ   

พลังบวรของชุมชนวัดบ้านแขวนั้นมีวัดเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนในชุมชน การดำเนินกิจกรรมต่างๆ อาศัยความร่วมมือของเครือข่ายพลังบวร โดยการนำของพระครูประโชติสุนทรธรรม เจ้าอาวาสวัดบ้านแขว เป็นที่เคารพนับถือ มุ่งเน้นพัฒนาคนในชุมชนให้ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับธรรมชาติ ใช้ธรรมชาติเป็นสื่อกลางสอดแทรกคติธรรม ส่งเสริมให้มีความรักความสามัคคี โดยการเน้น สร้างจิตสำนึกและกระตุ้นให้เกิดพลังของคนในชุมชนดังนี้

๑.การยึดมั่นในหลักธรรมทางศาสนา โดยส่งเสริมให้คนในชุมชนปฏิบัติตามหลักธรรม      คำสอนของพระพุทธศาสนา มีการดำเนินกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง ส่งเสริมให้มีการรักษาศีล ๕ เพื่อนำมาปรับเปลี่ยนแนวคิดและพฤติกรรมให้สามารถอยู่ร่วมกันได้ด้วยความสงบสุข

         ๒. การนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มาปฏิบัติ ส่งเสริมให้คนในชุมชนดำเนินชีวิตตามรอยศาสตร์พระราชา สามารถพึ่งพาตนเองได้ ตลอดจนมุ่งเน้นให้ยึดมั่นในหลักคุณธรรม พอเพียง วินัย สุจริต จิตอาสา และกตัญญู การมีจิตสำนึกในคุณของทรัพยากรธรรมชาติ รู้จักอนุรักษ์ธรรมชาติ ผืนป่าในชุมชนให้คงอยู่ มีการปลูกผักสวนครัว สวนสมุนไพรในวัด สวนเกษตรผสมผสานเศรษฐกิจพอเพียงโรงเรียนบ้านแขว สวนเกษตรริมน้ำ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่สร้างรายได้ของชุมชน

         ๓. ดำเนินชีวิตตามวิถีวัฒนธรรมที่ดีงาม โดยมุ่งเน้นให้คนในชุมชนมีความรักความผูกพันและ มีความภาคภูมิใจในประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่น การมีน้ำใจ เอื้ออาทร การเป็นเจ้าบ้านที่ดี โดยให้เด็กและเยาวชนได้มีโอกาสเข้ามามีส่วนร่วมในการเป็นมัคคุเทศก์ ต้อนรับแขกผู้มาเยือนและร่วมสืบทอดศิลปวัฒนธรรมของท้องถิ่น ตลอดทั้งมีการส่งเสริมกิจกรรมการเทิดทูนสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์อย่างต่อเนื่อง


ความท้าทาย

         การพัฒนาช่วงแรกมีปัญหาอุปสรรคจาก ความแตกแยกทางความคิดของคนในชุมชน รวมถึงปัญหาต่างๆในชุมชน โดยสามารถก้าวข้ามความท้าทายเหล่านั้นด้วยการร่วมปรึกษาหารือ เปิดเวทีชุมชนเพื่อกำหนดเป้าหมายการพัฒนาร่วมกัน ปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมให้กับคนในชุมชน ใช้ทุนทางวัฒนธรรมที่มีในชุมชน มาสร้างมูลค่าเพิ่ม และสร้างรายได้ สร้างความภาคภูมิใจความรักในวิถีวัฒนธรรมประเพณีของท้องถิ่น เพื่อสืบทอดให้ คงอยู่คู่กับชุมชน ตลอดจนส่งเสริมให้ยึดมั่นในหลักคุณธรรม พอเพียง วินัย สุจริต จิอาสา และกตัญญู 


ผลลัพธ์และผลกระทบที่เกิดขึ้น  

         ๑. คนในชุมชนปฏิบัติตามหลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนา ผ่านกิจกรรมต่างๆ ทำให้คนในชุมชนเกิดความรัก ความศรัทธา ความสามัคคี และความเอื้ออาทรต่อกัน

         ๒.ชุมชนดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มีการรวมกลุ่มอาชีพภูมิปัญญาด้านต่างๆ ในชุมชน

         ๓.ชุมชนมีความรัก ความภาคภูมิใจและร่วมกันสืบสานประเพณีวัฒนธรรมที่ดีงามของท้องถิ่นให้คงอยู่

๔.นำทรัพยากรธรรมชาติซึ่งเป็นทุนที่มีอยู่ในชุมชน มาเป็นจุดดึงดูดให้ผู้ที่สนใจเข้ามาศึกษาเรียนรู้ชุมชน จนเกิดแหล่งเรียนรู้ภายในชุมชน เช่นมีลำห้วยที่ไหลผ่านใจกลางชุมชน นักท่องเที่ยวสามารถลงเรือชมธรรมชาติ ศึกษาวิถีเกษตรริมน้ำ ลอดผ่านอุโมงค์ต้นไม้ สัมผัสบรรยากาศที่ร่มรื่นสองฝั่งลำน้ำ มีพิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน ศึกษาประวัติศาสตร์วิถีชีวิตของคนไทยชาติพันธุ์เขมร สิ่งของเครื่องใช้เก่าแก่โบราณในพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านในวัดบ้านแขว

๕.ชุมชนมีความรัก ความหวงแหนและสำนึกในทรัพยากรป่าชุมชนที่ได้พึ่งพามายาวนาน           และอนุรักษ์ให้ยังคงมีความอุดมสมบูรณ์ ตลอดทั้งส่งเสริมให้เป็นแหล่งเรียนรู้พืชพันธุ์ สมุนไพร

เป้าหมายที่จะเดินต่อ

๑.ส่งเสริมให้แกนนำพลัง “บวร” ตลอดทั้งเด็กและเยาวชนในชุมชนมีบทบาทในการพัฒนาตนเอง เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน เพื่อให้เกิดผลการพัฒนาด้านคุณธรรมจริยธรรมต่อประชาชนในการดำรงชีวิต ยึดมั่นในหลักธรรมทางศาสนา ดำเนินชีวิตอยู่อย่างเรียบง่ายตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง สามารถปรับตัวและพึ่งพาตนเองได้ และมีความตระหนักต่อการอนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรม ภูมิปัญญา และศิลปวัฒนธรรมของท้องถิ่นให้คงอยู่

๒.ส่งเสริมให้มีกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวที่แสดงถึงวิถีชีวิตของชุมชนอย่างเป็นระบบ มีมาตรฐาน และสร้างตราสัญลักษณ์ที่สื่อถึงความโดดเด่นและอัตลักษณ์ของชุมชน ๓.ส่งเสริมให้มีการจัดทำเส้นทางท่องเที่ยวในชุมชนและประชาสัมพันธ์ชุมชนให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายมากขึ้น


ข้อมูลติดต่อ

พระครูประโชติสุนทรธรรม ๐๘๙-๙๑๗-๕๘๗๑


ช่องทางติดต่อ
ติดต่อได้โดยตรง
พระครูประโชติสุนทรธรรม ๐๘๙-๙๑๗-๕๘๗๑

แสดงความคิดเห็น

profile