community image

ชุมชนคุณธรรมวัดบึงศรีเทพรัตนาราม

อ.ศรีเทพ ต.ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์
วันที่สร้างโพสต์ : 20 กันยายน 2567
วันที่อัปเดต : 27 กันยายน 2567
จำนวนผู้เข้าชม: 4 คน
cover

หลักเมืองศรีเทพทวารวดี

วิถีพอเพียงบึงนาจาน

สืบสานวัฒนธรรมสองเผ่าไท


กว่าจะมาเป็นวันนี้

         พื้นที่ของชุมชนตั้งอยู่บนแหล่งอารยธรรมทวารวดี มีอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ ทุกตารางนิ้วเต็มไปด้วยแหล่งโบราณคดี โบราณสถานกระจัดกระจายเต็มพื้นที่ของชุมชน ซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดเพชรบูรณ์ มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเยี่ยมชม ศึกษาอารยธรรมทวารวดีอยู่เสมอ กอปรกับวิถีชีวิตของคนที่นี่เป็นสังคมเกษตรกรรม มีวิถีชีวิตแบบชาวนา คือมีความเรียบง่าย ใช้ชีวิตอย่างพอเพียง มีความสามัคคีเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ นำหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาเป็นหลักในการดำเนินชีวิตและประกอบอาชีพ ยึดมั่นในขนบธรรมเนียมประเพณีอย่างเคร่งครัด โดยมีวัดบึงศรีเทพรัตนาราม เป็นศูนย์กลางทางศาสนา ทำให้ชุมชนคุณธรรมวัดบึงศรีเทพรัตนารามมีเสน่ห์สำหรับการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม


เส้นทางสู่ความสำเร็จของการมาเป็นชุมชนต้นแบบ

         การพัฒนาชุมชนให้เป็นชุมชนต้นแบบ ได้รับการสนับสนุนจากพลังบวรที่เข้มแข็งของทุกคนในชุมชน การดำเนินงานต่างๆ อาศัยหลักคุณธรรม กติกา ข้อตกลงที่ร่วมกันกำหนด จึงพัฒนาชุมชนให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว (บวร On Tour) ในทุกๆด้าน เช่น แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ ณ อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ณ คูน้ำอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร ชมผลิตภัณฑ์จากต้นกก จักสานตะกร้าไม้ไผ่ และอาหารท้องถิ่นให้ชิมหลากหลาย ซึ่งในชุมชนมีบริการที่พักโฮมสเตย์พร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวได้ตลอด นอกจากนี้คนในชุมชนยังให้ความสำคัญในการอนุรักษ์ สืบสานประเพณีวัฒนธรรม โดยการจัดแสดงในงานเทศกาลประเพณีต่างๆ เช่น ประเพณีบวงสรวงเจ้าพ่อศรีเทพจะต้องจัดเป็นประจำทุกปีขาดไม่ได้ เมื่อถึงวันขึ้น ๒ ค่ำ คนในชุมชนและละแวกใกล้เคียงจะนำอาหารเครื่องบวงสรวงมาถวายแบบพื้นบ้าน พร้อมทั้งร่วมกันทำข้าวต้มมัด ถวายพระ และจะนำไปทำทานในงานบวงสรวงเจ้าพ่อศรีเทพ ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ คนในชุมชนจะจัดกิจกรรมทำบุญตักบาตร ฟังเทศน์ ปฏิบัติธรรม และมีการเวียนเทียนในบรรยากาศย้อนยุคถึงสมัยทวารวดี


ความท้าทาย

การดำเนินงานอาจมีอุปสรรคต่างๆ เกิดขึ้น ชุมชนก็สามารถข้ามผ่านอุปสรรคเหล่านั้นได้ โดยผู้นำและคณะกรรมการในชุมชน จะต้องมาประชุมและแสดงความคิดเห็นร่วมกัน และนำมติที่ได้จากการประชุมมาดำเนินการเพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาต่าง ๆ เหล่านั้นที่เกิดขึ้นให้ลุล่วงไปด้วยดี


ผลลัพธ์และผลกระทบที่เกิดขึ้น

         การขับเคลื่อนการพัฒนาชุมชนด้วยพลังบวรที่ประสบความสำเร็จได้รับการยอมรับจากสังคม เนื่องจากคนในชุมชน มีข้อปฏิบัติหลัก ๓ ประการ คือ ยึดมั่นในหลักศาสนา หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และวิถีวัฒนธรรมไทยที่ดีงาม โดยมีหลักคุณธรรมร่วมกัน ประกอบด้วย

๑.พอเพียง - คนในชุมชนสามารถพึ่งตนเองได้ โดยใช้สิ่งของที่มีอยู่ในชุมชนมาต่อยอดผลิตภัณฑ์ การจัดทำ “ครัวพอเพียง” จากวัตถุดิบภายในชุมชนมาประกอบอาหาร และยังเพิ่มรายได้ให้แก่ชุมชนอีกทางหนึ่งด้วย

๒.วินัย - ชุมชนมีความสามัคคีและมีการกำหนดความต้องการร่วมกัน ร่วมมือจัดกิจกรรม และเข้าร่วมกิจกรรมทางศาสนาและสังคม รวมทั้งได้มีการออกกฎระเบียบร่วมกัน และมีการบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร ถึงจารีต วัฒนธรรม ประเพณีที่ถ่ายทอดสืบต่อกันมา

๓.สุจริต - ชุมชนมีการตื่นตัว รู้จักรักษาสิทธิ์หน้าที่ ยึดมั่นในคุณธรรม จริยธรรมอันดีงาม มีการปฏิบัติศาสนกิจร่วมกันทั้งหมู่บ้าน ปฏิบัติตามวัฒนธรรมประเพณีและมารยาทชาวพุทธ

๔.จิตอาสา - คนในชุมชนมีความเอื้ออาทร ใส่ใจต่อสังคม มีจิตสาธารณะ ร่วมมือร่วมใจ ลงมือทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวม โดยไม่หวังผลตอบแทน เห็นได้จากการจัดกิจกรรมของส่วนรวมในชุมชน คนในชุมชนมีจิตอาสา ทำให้ภายในชุมชนมีความสะอาด เป็นระเบียบแบบแผน

๕.กตัญญูรู้คุณ - ชุมชนมีการส่งเสริมการจัดงานประเพณีที่แสดงออกถึงความกตัญญูรู้คุณ โดยมีการสร้างเครือข่ายความร่วมมือในระดับต่างๆ


เป้าหมายที่จะเดินต่อ

         ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์และวิถีชีวิตชุมชนทวารวดีศรีเทพ โดยมีรายละเอียดโครงการย่อย ดังนี้

ฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการการพัฒนาต่อยอดมรดกภูมิปัญญาท้องถิ่น “สกุลช่างศรีเทพ”

ส่งเสริมการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าวัฒนธรรมด้วยฐานภูมิปัญญาศิลปะ วัฒนธรรม เชื่อมโยงเมืองโบราณศรีเทพ โดยจัดจำหน่าย/จัดแสดง ผลผลิตจากการกิจกรรมอบรมพัฒนา ต่อยอด สร้างกลุ่มอาชีพ ผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมและผลงานภาพวาดเชื่อมโยงเมืองโบราณศรีเทพ

จัดมหกรรมตลาดสินค้าศิลปวัฒนธรรม เชื่อมโยงแหล่งมรดกวัฒนธรรม โบราณสถานเขาคลังนอก เมืองโบราณศรีเทพ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและเยียวยาผลกระทบจาก โควิด-๑๙ โดยจัดจำหน่ายสินค้าวัฒนธรรม สาธิตภูมิปัญญาพื้นบ้าน จำหน่ายและสาธิตผลิตภัณฑ์ ทางวัฒนธรรม การแสดงศิลปะ และวัฒนธรรมพื้นบ้าน

         ชุมชนมีส่วนร่วมในการผลักดันให้อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพเป็นมรดกโลก โดยอาศัยความร่วมมือพลังบวร ภาครัฐ ภาคเอกชน ประชาชน และวัด


ผู้ติดต่อในพื้นที่

พระครูสีลพัชโรภาส ๐๖๒-๙๕๓-๗๕๕๘

ช่องทางติดต่อ
ติดต่อได้โดยตรง
พระครูสีลพัชโรภาส ๐๖๒-๙๕๓-๗๕๕๘

แสดงความคิดเห็น

profile